ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ ถอดรหัสการค้า “ยุคโลกไร้ระเบียบ”

ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตผู้อำนวยการองค์การการค้าโลก (WTO) และอดีตเลขาธิการการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (UNCTAD) กล่าวปาฐกถาพิเศษ บนเวทีการประชุมระดับภูมิภาคว่าด้วยการค้าและการพัฒนา ประจำปี 2561 ในหัวข้อ”ภาวะการสูญเสียดุลยภาพของระเบียบโลก และผลกระทบต่อระบอบการค้า” โดยฉายภาพปัญหาปัจจุบันที่การค้าโลกไร้ระเบียบส่งผลต่อระบบการค้าของโลกเปลี่ยนแปลงไปในวงกว้าง

การค้าโลก “ไร้ระเบียบ” 

ดร.ศุภชัยกล่าวว่า ปัจจุบันการค้าพหุภาคีเริ่มมีปัญหาเห็นได้จากหลายเวทีโลกที่ผ่านมา กรอบการเจรจาของหลายประเทศสมาชิกไม่ลงรอยกัน ต่างคนต่างไม่สามารถยอมรับเงื่อนไขหรือกฎเกณฑ์ของประเทศสมาชิกได้อีกต่อไป อย่างในกรณีของ “เบร็กซิต” ที่สะท้อนได้ว่าบางประเทศสมาชิกมีเงื่อนไขของตัวเองชัดเจนขึ้น

“การค้ายุคโลกาภิวัตน์ในรูปแบบการเจรจาพหุภาคี บางทีอาจไม่ได้ส่งเสริมให้เศรษฐกิจของแต่ละประเทศขับเคลื่อนได้อย่างคล่องตัวเช่นเคย”

ขณะที่การบริหารจัดการของโลก (global governance) ก็ยังไม่มีผู้นำที่ชัดเจน แม้ว่าโลกจะมี G7 หรือ G20 แต่ก็ไม่ได้สร้างกฎระเบียบที่แท้จริง ที่มีผลกระทบต่อการดำเนินนโยบายของโลกได้

โลกมุ่งหน้าสู่การค้าทวิภาคี

ทั้งนี้เนื่องจากการเจรจาทางการค้าแบบพหุภาคีที่ไม่เวิร์ก ทำให้โลกหันหน้าสู่ “การค้าทวิภาคี” มากขึ้น ซึ่งกรณีความขัดแย้งที่ลุกลามจนเป็นปัญหาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกา กับอีกหลาย ๆ ประเทศ โดยเฉพาะกับ “จีน” ทำให้ระบอบการค้าโลกต้องเปลี่ยนแปลงเพื่อให้เกิดความคล่องตัวทางเศรษฐกิจ

โดยหนึ่งในเหตุผลที่สหรัฐออกมาประกาศสงครามการค้าครั้งนี้ เชื่อว่าก็เพื่อให้เกิดการเจรจาการค้าแบบทวิภาคีโดยตรงกับคู่กรณีในท้ายที่สุด และนำไปสู่การเจรจา FTA หรือการค้าเสรี รวมไปถึงการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) เพื่อให้เกิดการพัฒนาในประเทศ

ยุคโลกาภิวัตน์ “กลับหัว”

ดร.ศุภชัยกล่าวว่า ปัจจุบันเปรียบง่าย ๆ คือ เป็นช่วงน้ำขึ้นของหลาย ๆ ประเทศขนาดเล็กที่คนร่ำรวยเพิ่มขึ้น แม้ว่าช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนยังสูง เพราะเกิดจากความไม่สมดุลของการกระจายรายได้ แต่ในภาพรวมสามารถพูดได้ว่าเป็นยุคของประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเอเชีย ซึ่งถือว่าเป็น “เครื่องจักรแห่งการเติบโตในยุคนี้”

ด้วยความที่เป็นชาติกำลังพัฒนา การเปิดรับทุนจากต่างชาติจึงง่ายกว่าและคล่องตัวกว่าประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ การปรับตัวในยุคโลกาภิวัตน์แบบใหม่นี้ ประเทศเอเชียควรเพิ่มอำนาจต่อรองการค้าโลกให้มากขึ้น เช่น การร่วมกันบูรณาการทางเศรษฐกิจ หรือความร่วมมืออื่น ๆ ในภูมิภาค เพื่อเพิ่มความเข้มแข็ง และลดการพึ่งพาขั้วอำนาจโลกเก่า ๆ ด้วยการสร้างอำนาจแหล่งใหม่ในภูมิภาคเดียวกัน หรือภูมิภาคอื่นที่กำลังฟื้นตัวขึ้นเรื่อย ๆ เช่น แอฟริกา

ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นทั้งหมด หากกล่าวสรุปก็คือ โลกในยุคโลกาภิวัตน์กำลังกลับหัว ประเทศที่เคยไร้อำนาจจะเริ่มฟื้นตัวและกลายเป็นผู้กำหนดทิศทางระเบียบการค้าโลก

ส่วนขั้วอำนาจเก่าอย่างตะวันตก จะให้ความสำคัญกับการค้าเพื่อเกิดการพัฒนาในประเทศมากขึ้น นำไปสู่การค้าแบบทวิภาคี โดยกำหนดมาตรการและเงื่อนไขต่าง ๆ เพื่อรักษาตำแหน่ง ประเทศมหาอำนาจของโลกไว้