น้ำท่วมอีสาน-เหนือ ฉุดดัชนีเชื่อมั่นก.ค.ดิ่งอีก-หอการค้าเผยเสียหายแล้วเกือบหมื่นล้าน

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือนกรกฎาคม 2560 ปรับลดลงทุกตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 โดยดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ลดลงอยู่ที่ 73.9 จากเดือนมิถุนายน 2560 ซึ่งอยู่ที่74.9 ซึ่งลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 และต่ำสุดในรอบ 7 เดือน นับตั้งแต่เดือนมกราคม 2560 ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในปัจจุบัน ลดลงอยู่ที่ 51.7 จาก 52.9 และดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในอนาคต ลดลงอยู่ที่ 83.1 จาก 84.1 ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม ลดลงอยู่ที่ 62.2 จากเดือนมิถุนายน 2560 ซึ่งอยู่ที่ 63.3 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสในการหางาน ลดลงอยู่ที่ 69.1 จาก 70.0 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต ลดลงอยู่ที่ 90.4 จาก 91.5

นายธนวรรธน์กล่าวว่า ดัชนีที่ลดลงเนื่องจากผู้บริโภคกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือที่ส่งผลเชิงลบต่อเศรษฐกิจในพื้นที่ และราคาพืชผลทางการเกษตรยังอยู่ในระดับต่ำ และปรับลดลงในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา เช่น ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปาล์มน้ำมัน และสับปะรดโรงงาน เป็นต้น ทำให้กำลังซื้อทั่วไปในต่างจังหวัดไม่คล่องและขยายตัวต่ำ ประกอบกับผู้บริโภคกังวลว่าแนวโน้มเศรษฐกิจไทยอาจจะยังไม่ฟื้นตัวดีขึ้นมากอย่างที่คาดการณ์ไว้ และยังกังวลถึงปัญหาค่าครองชีพและราคาสินค้าที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง รายได้ไม่สอดคล้องค่าใช้จ่าย บวกกับราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น

“การลดลงของดัชนี 3 เดือนติด เป็นการลดลงจากปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจ แต่น้ำท่วมเกิดผลระยะสั้น เกิดในวงจำกัดไม่บานปลาย ไม่น่าจะมีผลต่อดัชนีฯในเดือนสิงหาคมนี้ แม้ภาพเศรษฐกิจมหภาคหลายฝ่ายปรับเพิ่มตัวเลข แต่มุมมองและความรู้สึกของผู้บริโภคโดยเฉพาะชนชั้นกลางและฐานรากยังไม่รับรู้ว่าเศรษฐกิจดีขึ้น ราคาสินค้าเกษตรยังอยู่ระดับต่ำส่งผลกำลังซื้อฐานรากซึมตัว ยอดขายธุรกิจหายไปซึ่งน่ากังวล ประกอบกับภาคธุรกิจมีความกังวลการจ้างแรงงานต่างด้าว ว่าจะส่งผลกับธุรกิจและการส่งออกอย่างไร อีกทั้งมียอดการว่างงานที่ 1.2% ซึ่งเกินค่าเฉลี่ย ส่งผลให้ผู้บริโภคมองเศรษฐกิจฟื้นตัวไม่โดดเด่นและไม่เร็ว เพราะไม่มีปัจจัยขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจขยายตัว ภาครัฐควรเร่งกระตุ้นการใช้จ่ายและเร่งรัดการลงทุน และกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากเพื่อเพิ่มกำลังซื้อให้กับประชาชน” นายธนวรรธน์กล่าว

นายธนวรรธน์กล่าวถึงผลกระทบจากน้ำท่วมว่า ได้รวบรวมข้อมูลและประเมินผลกระทบความเสียหายจากเหตุการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ เบื้องต้นมีความเสียหายรวม 9,574 ล้านบาท ซึ่งมีผลกระทบต่อการขยายตัวจีดีพีเพียง 0.064% ทำให้ศูนย์ฯยังคาดการณ์จีดีพีปีนี้ขยายตัว 3.6% มูลค่าความเสียหายดังกล่าวแยกเป็นความเสียหายของภาคการเกษตร 4,774 ล้านบาท ความเสียหายของภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม 3,434 ล้านบาท และความเสียหายต่อโครงสร้างพื้นฐาน และทรัพย์สินต่างๆ เช่น บ้านเรือน ถนน สะพาน ยานพาหนะ รวม 1,366 ล้านบาท ขณะเดียวกันสถานการณ์น้ำท่วมได้คลี่คลายจึงมองว่ายังไม่มีผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในช่ววงครึ่งหลังปีนี้ อย่างไรก็ตามหากมีน้ำท่วมเพิ่มและบานปลาย คาดว่ามูลค่าความเสียหายคงไม่เกิน 15,000 ล้านบาท

 

ที่มา : มติชนออนไลน์