แจ้งเกิดปตท.ค้าปลีกน้ำมัน เปลี่ยนคู่สัญญาเป็น PTTOR ดีลเลอร์ป่วนกลัวตั้งปั๊มแข่ง!

แฟ้มภาพ

ปตท.ร่อนสัญญาซื้อขายน้ำมันใหม่ ถามความเห็นดีลเลอร์ เปลี่ยนคู่สัญญาเป็น PTTOR เพิ่มการตรวจสอบซื้อ-ขายน้ำมัน หวังสกัดจ็อบเบอร์ โยกน้ำมันในบัญชีค้าส่งขายทำกำไรหน้าปั๊ม ด้านดีลเลอร์จี้สางปัญหาค้างเก่า เปิดปั๊มซ้ำซ้อน ส่งผลยอดขายหดเกินครึ่ง หวั่นพอเป็น PTTOR ปัญหายิ่งหนักข้อ 

การปรับโครงสร้างธุรกิจของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ด้วยการนำส่วนของธุรกิจค้าปลีกน้ำมันและธุรกิจเสริม (nonoil) เข้ามาอยู่ภายใต้บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด หรือ PTTOR (PTT Oil and Retail Busi-ness Company Limited) ถือเป็นการเปลี่ยนสถานะจาก “รัฐวิสาหกิจ” มาเป็น “เอกชน” เต็มตัว เพื่อให้ธุรกิจมีความคล่องตัวและสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการเปิดเสรีธุรกิจพลังงานและเกิดการแข่งขันอย่างเป็นธรรม

ล่าสุด บริษัท ปตท.ได้เริ่มทยอยโอนสินทรัพย์ที่มีอยู่กว่า 100,000 ล้านบาทมายังบริษัทใหม่ PTTOR แล้ว และคาดว่าจะสามารถนำบริษัท PTTOR เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้ภายในช่วงต้นปี 2562 การปรับโครงสร้างครั้งนี้จึงได้กลายเป็นเรื่องที่ต้องจับตามอง เนื่องจากเป็นธุรกิจที่มีผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (stakeholders) เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะผู้แทนจำหน่ายหรือดีลเลอร์ ปตท.ที่มีสถานีบริการน้ำมันรวมกันมากกว่า 1,780 แห่งทั่วประเทศ โดยเป็นการลงทุนของดีลเลอร์ถึงร้อยละ 90 ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 10 เป็นการลงทุนของ ปตท.

แหล่งข่าวจากผู้แทนจำหน่ายน้ำมัน ปตท. (ดีลเลอร์) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ ปตท.ได้มีหนังสือถึงดีลเลอร์ทั่วประเทศ เพื่อถามความเห็นและให้เซ็นลงนามเรื่องการเปลี่ยนแปลงคู่สัญญา จากเดิมที่คู่สัญญาคือ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) มาเป็นบริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด หรือ PTTOR แทน ในส่วนของการซื้อขายน้ำมันนั้น สัญญาระบุว่า ดีลเลอร์ต้องซื้อน้ำมันจาก ปตท. หรือจากแหล่งที่ปตท.กำหนดไว้เท่านั้น

นอกจากนี้ ปตท.ได้เพิ่มการตรวจสอบการซื้อขายน้ำมันเพื่อให้ยอดซื้อและยอดขายมีความสัมพันธ์กัน เพื่อป้องกันไม่ให้ดีลเลอร์ ปตท.บางรายที่จดทะเบียนเป็นผู้ค้ามาตรา 10 หรือผู้ค้าส่งน้ำมัน (จ็อบเบอร์) “ลอบนำ” น้ำมันในบัญชีค้าส่งมาจำหน่ายหน้าสถานีบริการ เนื่องจากสามารถทำ “กำไร” ได้มากกว่าการซื้อจากบัญชีค้าปลีกกับ ปตท.ตามปกติ นอกจากนี้ในสัญญาฉบับใหม่ระบุถึงยอดรับรองขั้นต่ำสำหรับผู้แทนจำหน่ายรายเดิมอยู่ที่ 300,000 ลิตร ขณะที่ผู้แทนจำหน่ายรายใหม่ยอดรับรองจะปรับเพิ่มขึ้นมาก-น้อยตามขนาดของสถานีบริการและทำเลที่ตั้ง ขณะที่รายละเอียดอื่น ๆ ยังคงยึดตามสัญญาเดิมเป็นหลักอยู่

ทว่าสิ่งที่ดีลเลอร์ ปตท.ยังคงกังวลมากที่สุดก็คือ 1) การเปิดสถานีบริการน้ำมัน ปตท. หรือแบรนด์ในเครือ ปตท. (Jiffy) ที่ซ้ำซ้อนในพื้นที่ใกล้เคียงกันในลักษณะติดกันเป็นพรืดบนถนนสายเดียวกันทั้งไป-กลับ ส่งผลให้ยอดขายน้ำมันของสถานี ปตท.บริการเดิมที่มีอยู่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ในประเด็นนี้ดีลเลอร์รายเก่าเห็นว่า ปตท.ควรกำหนดหลักเกณฑ์เงื่อนไข “ระยะห่าง” ของสถานีบริการน้ำมัน ปตท.ให้ชัดเจนมากขึ้น และในกรณีที่มีความจำเป็นต้องขยายในพื้นที่ใกล้เคียงกัน ปตท.ก็ควรมีมาตรการเยียวยาความเดือดร้อนให้กับผู้ค้ารายเดิม เช่น การให้ “ส่วนลด” ราคาน้ำมันหรือมาตรการอื่น ๆ ร่วมด้วย

และ 2) ขอให้มีการตรวจสอบการอนุมัติให้สร้างสถานีบริการน้ำมัน เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมา มีการใช้ “วิธีพิเศษ” โดยเรียกเก็บเงินจากผู้สนใจลงทุนเพื่อให้มีการพิจารณาอนุมัติเร็วขึ้นด้วย

“เดิมสถานีบริการน้ำมัน ปตท.ที่อยู่ในทำเลที่ดีมียอดขายสูงถึง 500,000 ลิตร/เดือน แต่เมื่อบริษัทแม่เข้ามาเปิดปั๊มน้ำมันใหม่ ๆ บริเวณใกล้เคียงกันห่างกันแค่ 5-10 กม. ส่งผลให้ยอดขายลดลงเหลือแค่ 200,000-300,000 ลิตร/เดือนเท่านั้น และสถานีบริการใหม่ที่เพิ่มขึ้นใคร ๆ ก็รู้ว่าคือ ส่วนขยายของสถานีบริการในส่วนของ ปตท.เอง และส่วนที่เป็นของบริษัท ปตท.บริหารธุรกิจค้าปลีก (PTTRM) ที่ซื้อกิจการสถานีบริการน้ำมันเจ็ท (JET) จากบริษัทโคโนโค่ ฟิลลิปส์ เข้ามาแย่งส่วนแบ่งการตลาด (market share) กันเอง” แหล่งข่าวกล่าว

อย่างไรก็ตาม ดีลเลอร์รายเก่าของ ปตท.เชื่อว่า PTTOR มีเป้าหมายชัดเจนที่จะขยายจำนวนสถานีบริการน้ำมัน ปตท.บนถนนสายหลักและถนนสายรองแน่นอน เพื่อเพิ่ม network ครอบคลุมความต้องการของลูกค้าและรักษา market share ที่ปัจจุบันสูงที่สุดในธุรกิจค้าปลีกน้ำมัน (ร้อยละ 39) ดังนั้นจึงหลีกเลี่ยงปัญหาเรื่องการเปิดปั๊มน้ำมัน ปตท.ซ้ำซ้อนได้ยากมาก เพราะถ้า ปตท.ไม่ขยายแบรนด์อื่น ๆ ก็จะขยายเข้ามาในพื้นที่แทนอยู่แล้ว

“เราอยากให้ ปตท.เข้าใจว่า ดีลเลอร์แต่ละรายต้องกู้เงินมาเพื่อลงทุนสร้างปั๊มหลายสิบล้านบาท เมื่อยอดขายตกก็ส่งผลต่อการเงินที่จะต้องจ่ายแบงก์ในแต่ละเดือน ดังนั้นผู้บริหารใหญ่ ๆ ใน ปตท.ต้องเข้าใจการทำธุรกิจของดีลเลอร์น้ำมันที่ร่วมหัวจมท้ายมากับ ปตท.ตั้งแต่ต้น จึงควรมีมาตรการรองรับและแก้ไขปัญหาเหล่านี้ด้วย” แหล่งข่าวกล่าว

ล่าสุดมีรายงานข่าวเพิ่มเติมเข้ามาว่า คณะกรรมการบริหาร ปตท.ได้มีมติแต่งตั้งให้ น.ส.จิราพร ขาวสวัสดิ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ หน่วยธุรกิจน้ำมัน ปตท. ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ หรือ CEO ของ PTTOR แล้ว จากการสอบถามความเห็นไปยังดีลเลอร์ ปตท.หลายรายค่อนข้างเชื่อมั่นว่า น.ส.จิราพรจะเข้ามาแก้ไขปัญหาข้างต้นได้ เนื่องจากเป็นผู้บริหารที่มีความรู้ ความเข้าใจในธุรกิจค้าปลีกน้ำมัน รวมถึงเข้าใจปัญหาและอุปสรรคในการทำธุรกิจของดีลเลอร์เป็นอย่างดี


มีรายงานข่าวเพิ่มเติมเข้ามาว่า ก่อนหน้านี้ดีลเลอร์ของ ปตท.ได้ขอปรับขึ้น “ค่าการตลาด (marketing margin)” เพิ่มอีก 40 สตางค์/ลิตร จากเดิมที่ได้อยู่ประมาณ 90 สตางค์/ลิตร เพื่อให้ครอบคลุมต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากการปรับขึ้นค่าแรงและอื่น ๆ โดยในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา บริษัท ปตท.ได้พิจารณาปรับเพิ่มค่าการตลาดให้แค่ 15 สตางค์/ลิตรเท่านั้น โดย ปตท.ให้เหตุผลว่า เป็นระดับที่มีความเหมาะสมและใกล้เคียงกับผู้ค้าน้ำมันแบรนด์อื่น ๆ แล้ว รวมถึงรายได้ของดีลเลอร์ไม่ได้มีเพียงแค่การจำหน่ายน้ำมัน แต่ยังมีธุรกิจเสริมหรือ nonoil อย่างร้านกาแฟคาเฟ่ อเมซอน และร้านสะดวกซื้อเซเว่นอีเลฟเว่นอีกด้วย