เปิด FTA ออสซี่ไม่กระทบ “ชาไทย” เกษตรกรร้องหนุนนวัตกรรมดันส่งออก

กรมเจรจาฯเผยเอฟทีเอไทย-ออสเตรเลีย ลดภาษีสินค้าชา 0% ปี”63 ไม่กระทบไทย มั่นใจเป็นโอกาสส่งออกชาไทยสดใส หวังภาครัฐช่วยหนุนนวัตกรรมแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่ม

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ตามที่ความตกลงทางการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย (เอฟทีเอ) กำหนดว่าจะทยอยลดภาษีนำเข้าชาจากปัจจุบันอัตราภาษี 4% ทยอยลดเหลือ 2% ในปี 2562 และเป็น 0% ในปี 2563 นั้น จะไม่ส่งผลกระทบกับผู้ผลิตชาในประเทศอย่างแน่นอน เนื่องจากออสเตรเลียไม่ใช่ประเทศผู้ผลิตและส่งออกชา ส่วนผู้ส่งออกสำคัญของตลาดโลก คือ แคนาดา สหรัฐ และจีน

ขณะที่การเปิดเสรีนี้น่าจะเป็นโอกาสในการขยายตลาดส่งออกชาและผลิตภัณฑ์ชาของไทยมากขึ้น เพราะปัจจุบันที่ไทยส่งออกชาคิดเป็นสัดส่วนถึง 70% บริโภคภายใน 30% โดยส่งออกไปยังตลาดหลักที่ประเทศอินโดนีเซีย กัมพูชา และจีน เป็นต้น แต่หากเปรียบเทียบแล้วไทยเป็นผู้ส่งออกรายเล็กมีส่วนแบ่งตลาดเพียง 8% ของตลาดใบชาโลก จึงมีโอกาสที่จะส่งออกเพิ่มขึ้นได้อีกมาก

“ในการลงพื้นที่จังหวัดเชียงรายเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เพื่อทำความเข้าใจกับเกษตรกรผู้ปลูกชาในพื้นที่ และติดตามปัญหา อุปสรรค ข้อกังวลที่เกี่ยวข้องเมื่อเปิดการค้าเสรีเมื่อใด ซึ่งเป็นนโยบายหนึ่งของกรมที่ต้องการทำความเข้าใจกับเกษตรกรที่ปลูกสินค้าเกษตร 23 รายการที่เกี่ยวข้องกับความตกลงทางการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ที่ประเทศไทยได้ไปดำเนินการเอาไว้ และจะเริ่มมีผลบังคับใช้ต่อไป เช่น เอฟทีเอไทย-ออสเตรเลีย ในสินค้าชา ที่ภาษีจะเป็น 0% ในปี 2563 เชื่อว่าผลิตภัณฑ์ชาและชาของประเทศไทยนั้น ยังมีโอกาสทางตลาดอีกมาก”

อย่างไรก็ตาม ในการลงพื้นที่ครั้งนี้ ทางกรมส่งเสริมเกษตรกรทำความเข้าใจ และให้ความสำคัญในเรื่องการจดเครื่องหมายการค้าสินค้าชา โดยเฉพาะผู้ส่งออกที่ต้องการทำตลาดในต่างประเทศ เช่น จีน ซึ่งถือว่าเป็นตลาดที่ใหญ่ในการบริโภคชา และมักจะมีปัญหาด้านการละเมิดเครื่องหมายการค้า นอกจากนี้ ผู้ผลิตชาควรให้ความสำคัญเรื่องมาตรฐานจากประเทศผู้นำเข้า โดยเฉพาะมาตรฐานกระทรวงเกษตรสหรัฐ USDA ซึ่งเป็นมาตรฐานออร์แกนิกสากล USDA organic ในตลาดยุโรปและสหรัฐก็จะยิ่งเป็นสิ่งที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคได้อีกมาก

“การผลิตชาให้ได้มาตรฐานนั้นเป็นสิ่งสำคัญ เกษตรกรจะต้องรักษามาตรฐานและคุณภาพ ปลอดภัยจากสารเคมี เชื่อว่าจะทำให้ตลาดชาของไทยขยายและเติบโตไปได้อีกมาก”

นางอรมนกล่าวว่า หลังจากนี้กรมมีแนวคิดที่จะร่วมกับกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.) ในการส่งเสริมการส่งออกผลิตภัณฑ์ชาไทยออกไปสู่ตลาดต่างประเทศมากขึ้น นอกจากนี้กรมมีแผนจะขยายผลไปยังสินค้าเกษตรชนิดอื่น ๆ เช่น ลำไย โดยเร็ว ๆ นี้จะลงพื้นที่ติดตามและทำความเข้าใจกับเกษตรกรผู้ปลูกลำไยต่อไป

นายชินาธิป กิตติยาภิวัฒอมร ประธานกลุ่มผู้ปลูกชา บ้านแม่หม้อ อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย กล่าวว่า การลงพื้นที่ของกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศเป็นสิ่งที่ดีทำให้เกษตรกรได้รับรู้ทิศทางในตลาด แต่สำหรับสิ่งที่เกษตรกรต้องการจากหน่วยงานภาครัฐคือการเข้ามาส่งเสริมและสนับสนุนในการผลิตชา โดยเฉพาะเรื่องของการนำนวัตกรรมเข้าช่วยเหลือด้านผลิตสินค้าชาและผลิตภัณฑ์ชา เพื่อการแข่งขันในตลาด เพราะต้องยอมรับว่าปัจจุบันเกษตรกรผู้ปลูกชายังไม่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านนี้ ส่วนใหญ่จะผลิตเป็นชาแห้งและส่งให้กับผู้ประกอบการที่เข้ามารับซื้อ แต่กลุ่มเกษตรกรต้องการพัฒนาสินค้าเพื่อการค้าที่ดีขึ้น เช่นเดียวกับเวียดนามที่มีผลิตภัณฑ์จากชาหลากหลายรูปแบบและสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้

อย่างไรก็ตาม ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาช่วยเหลือพัฒนาสินค้า เพราะชาไทยยังช้ากว่าเวียดนามมาก นอกจากนี้ยังต้องการให้ดูแลเรื่องของการนำเข้าชาจากต่างประเทศด้วย เพราะกระทบต่อราคาชาไทยในประเทศ ทั้งนี้ ปัจจุบันราคาใบชาสดเฉลี่ยที่ กก.ละ 12-13 บาท

ทั้งนี้ กลุ่มสมาชิกในสหกรณ์มี 67 ราย มีพื้นที่ปลูกชา 2,000 ไร่ สามารถผลิตชาได้ประมาณ 3 แสนตันต่อปี ส่วนใหญ่จะส่งออกให้กับลูกค้าในประเทศเพื่อผลิตชาขายในประเทศ โดยใบชาที่ผลิตได้รับรองมาตรฐาน USDA ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับ