ศึกชิงกก.แข่งขันการค้าเดือด อดีตขรก.-กสทช.-นักวิชาการ โผล่แจม!

เปิดรายชื่อ 26 ผู้ลงสมัคร กก.แข่งขันฯชุดใหม่ ภายใต้ พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้าฉบับใหม่ ปี”60 ปรากฏชื่ออดีต ขรก.พาณิชย์ นักวิชาการนักวิชาชีพ ส.อ.ท.  แห่สมัคร พาณิชย์เปิดคัดค้านผู้สมัครถึง 18 ก.ค. ลุ้นฟังวิสัยทัศน์รอบต่อไป

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า หลังจาก พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 มีผลบังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 5 ตุลาคม 2560 ที่ผ่านมา ส่งผลให้มีการแยกสำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าออกมาเป็นหน่วยงานอิสระเป็นครั้งแรก จากเดิม พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2542 กำหนดให้สำนักงานการแข่งขันฯเป็นหน่วยงานในสังกัดกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ขณะเดียวกันคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าก็จะมาจากการสรรหาอย่างอิสระด้วย จากเดิมที่ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน และแต่งตั้งกรรมการขึ้นมา

ล่าสุด นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการสรรหา ได้ลงนามประกาศเปิดรับสมัครบุคคลเข้ารับการคัดเลือกเพื่อเป็นกรรมการการแข่งขันทางการค้า เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน-2 กรกฎาคม 2561 เป็นระยะเวลา 1 เดือน ปรากฏว่ามีผู้ลงสมัครรับคัดเลือกเป็นกรรมการทั้งหมด 26 คน

ทั้งนี้จากการตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้น พบว่าในจำนวน 26 รายนี้สามารถจัดกลุ่มได้ เป็น 6 กลุ่ม คือ 1) กลุ่มอดีตข้าราชการ มี 7 คน ได้แก่ นายภาษิต พุ่มชูศรี อดีตทูตพาณิชย์, กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ, กรมการค้าต่างประเทศ นางอร่ามศรี รุพันธ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านแข่งขันทางการค้า สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า กรมการค้าภายใน นายสันติชัย สารถวัลย์แพศย์ อดีตรองอธิบดีกรมการค้าภายใน นายกฤษฎา เปี่ยมพงศ์สานต์ อดีตอัครราชทูตฝ่ายการพาณิชย์ ประจำดับบลิวทีโอ,ที่ปรึกษาสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย นายสมชาติ สร้อยทอง อดีตอธิบดีกรมการค้าภายใน นายจุมพล เด่นเมฆา รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัย และพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ และ พ.ต.ท.พงศ์อินทร์ อินทรขาว อดีตรองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI)

กลุ่มที่ 2 เป็นกลุ่มนักวิชาการ มี4 คน ได้แก่ นายศุภวัชร์ มาลานนท์ จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, นายวิษณุ วงศ์สินศิริกุล มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์, นางลาวัณย์ ถนัดศิลปกุล มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, นายวิทยา จารุพงศ์โสภณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กลุ่มที่ 3 เป็นกลุ่มนักวิชาชีพ เช่น นักบัญชี นักกฎหมาย และผู้เชี่ยวชาญจากสมาคมการค้า มี 5 คน คือ นายสมเกียรติ ตันกิตติวัฒน์ นางสาวนพมาศ ธรรมธีรเดโช นายปราโมทย์ ตาฬวัฒน์ อดีตนายกสมาคมสัตวแพทย์ควบคุมฟาร์มสุกร นายอนุพร อรุณรัตน์ (วิชาชีพกฎหมาย) และนายวิกรม วัชระคุปต์ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กลุ่มที่ 4 เป็นกลุ่มที่เป็นอดีตกรรมการหน่วยงาน/องค์กรอิสระ มี 4 คน ได้แก่ นายสุธรรม อยู่ในธรรม อดีตคณะกรรมการ กสทช. นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา อดีตคณะกรรมการ กสทช. พ.ท.กรทิพย์ ดาโรจน์ อดีตกรรมการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) และนายยุทธ ชัยประวิตร อดีตกรรมการ กสทช. กลุ่มที่ 5 เป็นกลุ่มนักธุรกิจ/อดีตพนักงานบริษัทเอกชน 3 คน มี ปรัชญา ไอศูรย์ธนเศรษฐ์ (กรรมการผู้จัดการ บริษัทผลิตภัณฑ์และวัสดุก่อสร้าง (ซีแพค) นางสาวนุสรา เถื่อนถาด สื่อสารองค์กร บมจ.ไทยคม และนายเกรียงศักดิ์ สวัสดิพานิชย์ (กรรมการอิสระ บมจ.แอลวี เทคโนโลยี) กลุ่มที่ 6 กลุ่มอดีตตัวแทนการเมือง ได้แก่ นายประพันธุ์ คูณมี ทนายความ และศรีวรรณา เจียรวัฒน์ชัย อดีตที่ปรึกษาคณะอนุกรรมาธิการเศรษฐกิจและการเงิน การคลัง (สภานิติบัญญัติแห่งชาติ) และอื่น ๆ กฤษณะ เทศประสิทธิ์

โดยหลังจากนี้ คณะกรรมการสรรหา ลงประกาศเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2561 ตามมาตรา 4 พ.ร.บ.การแข่งขันฯ เปิดให้ยื่นคำคัดค้านผู้สมัครตั้งแต่วันที่ 3-18 กรกฎาคม 2561

โดยผู้คัดค้านต้องหนังสือพร้อมแนบสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้คัดค้าน ระบุข้อมูล อาทิ วันเดือนปีที่คัดค้าน, ชื่อและที่อยู่ของผู้คัดค้าน เหตุผลพร้อมข้อเท็จจริง ข้อโต้แย้ง หรือข้อกฎหมายที่ยกขึ้นอ้างอิงในคำคัดค้าน พร้อมทั้งลงลายมือชื่อของผู้คัดค้าน ซึ่งหลังจากดำเนินการคัดค้านเสร็จสิ้นคณะกรรมการสรรหาจะเปิดให้ผู้สมัครเข้ารับการคัดเลือกรอบต่อไป

โดยเกณฑ์การให้คะแนน 100 คะแนน แบ่ง เป็นคะแนนด้านผลงาน ซึ่งพิจารณาจากความเชี่ยวชาญ/ประสบการณ์ในสาขา 20% และคะแนนด้านความรู้ และวิสัยทัศน์ที่แสดงต่อหน้าคณะกรรมการสรรหา อีก 80% จากนั้นจะนำคะแนนมาบวกรวมกัน แล้วเรียงลำดับจากคะแนนสูงสุดไปจนครบจำนวน 7 คน หากคะแนนรวมเท่ากันจนทำให้เกิน 7 คน ให้คณะกรรมการพิจารณาเลือก

อย่างไรก็ตาม คะแนนเท่ากันอีกให้คณะกรรมการลงคะแนนลับจนครบตามจำนวน 7 คน จะเลือกตัวประธานกรรมการและรองประธาน ก่อนเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้ความเห็นชอบ และเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ โดยกรรมการชุดนี้จะมีวาระคราวละ 4 ปี ต่อได้ 2 วาระ

แหล่งข่าวกล่าวว่า ที่น่าสนใจคือ ตามกฎหมายใหม่กำหนดให้มีคุณสมบัติต้องห้ามพิเศษ ที่เรียกว่า ลักษณะต้องห้ามประเภทที่ 2 เป็นครั้งแรก โดยกรรมการจะต้องดไม่ดำรงตำแหน่งใด ๆ ในองค์กรธุรกิจ หรือเป็นหุ้นส่วนที่มีอำนาจจัดการใน หจก. หรือผู้ถือหุ้นเกินกว่าร้อยละ 5 ของทุนทั้งหมดในบริษัทใดไม่เป็นข้าราชการประจำ/พนักงาน/ลูกจ้างของหน่วยงานรัฐ/ราชการส่วนท้องถิ่น หรือไม่เป็นกรรมการหรือที่ปรึกษาของหน่วยงานของรัฐที่ดำเนินธุรกิจ หรือไม่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งใด ๆ ในสถาบันหรือสมาคมธุรกิจ ซึ่งต้องลาออกใน30 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับเลือก เพื่อป้องกันนอมินีภาคธุรกิจเข้าร่วม