เตรียม 13 ทุ่งรับน้ำหลาก เร่งชาวนาเกี่ยวข้าว 1.08 ล้านไร่

ถอดบทเรียนการบริหารจัดการน้ำทุกปีที่ผ่านมาเมื่อเข้าสู่สภาพอากาศที่แปรปรวน เริ่มส่งสัญญาณเตือนว่าปีนี้ไทยต้องเจอกับสภาวะน้ำหลาก และอาจเกิดภาวะฝนทิ้งช่วง ทุกหน่วยงานน้ำจึงได้เร่งเตรียมความพร้อมรองรับ โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มต่ำเจ้าพระยาซึ่งเป็นพื้นที่ปลูกข้าวนาปี ที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า 2 หมื่นล้านบาท

ในปีนี้ “นายวันชัย ศักดิ์อุดมไชย” อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ประเมินสถานการณ์ว่าช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน ประเทศไทยจะได้รับอิทธิพลพายุส่งผลให้ภาคเหนืออาจประสบภัยพิบัติน้ำหลาก ดินโคลนถล่มบริเวณชายแดนไทย-เมียนมา จึงต้องเฝ้าระวังน้ำป่าไหลหลากลงมายังภาคกลาง

ตั้งทีมเฝ้าระวังน้ำหลาก

นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวว่า สทนช.กำหนดจุดติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำ น้ำหลาก พร้อมจัดตั้งเกณฑ์การเฝ้าระวัง ประกอบด้วย 1.จุดเฝ้าระวังน้ำท่า โดยคัดเลือกสถานีตรวจวัดระดับน้ำ ตามสถิติการเกิดน้ำท่วมรายจังหวัด 96 แห่ง รวมถึงติดตามเฝ้าระวังสถานีตรวจวัดระดับน้ำที่มีการใช้แบบจำลองพยากรณ์ระดับน้ำ จำนวน 44 แห่ง 2.จุดเฝ้าระวังคุณภาพน้ำใน 4 ลุ่มน้ำ ได้แก่ เจ้าพระยา ท่าจีน ปราจีน-บางปะกง แม่กลอง 3.การเฝ้าระวังดินโคลนถล่ม ถ้ามีปริมาณฝนตกมากกว่า 180 มิลลิเมตร ภายใน 12 ชั่วโมง ให้เฝ้าระวังจุดดังกล่าว จุดสำคัญคือกำชับขอความร่วมมือพื้นที่เพาะปลูกข้าว 13 ลุ่มน้ำให้เสร็จสิ้นก่อนเข้าสู่ฤดูน้ำหลากในเดือนนี้

โดยให้กรมชลประทานเตรียมพร้อมกักเก็บน้ำเขื่อนขนาดกลางและขนาดใหญ่ให้เพียงพอ เเม้ว่าปีนี้แนวโน้มปริมาณฝนภาพรวมถือว่าไม่น่าห่วง ทางสทนช. มั่นใจว่าแผนเตรียมรับมือน้ำหลากพร้อม แต่น่าห่วงว่าอ่างเก็บน้ำบางแห่งเหลือความจุ 30% ซึ่งมีสัญญาณว่าขณะนี้ฝนจะตกแทบทุกพื้นที่โดยเฉพาะภาคเหนือ ภาคตะวันตก

อย่างไรก็ตาม หลังจากนั้นอาจเกิดภาวะฝนทิ้งช่วง ภาคอีสานเสี่ยงเเล้ง ฉะนั้น ทุกหน่วยงานอาจต้องปรับแผนกักเก็บน้ำเพื่อรองรับสถานการณนี้ด้วย

ชป.คุมปริมาณน้ำเจ้าพระยา

ทางด้าน ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ได้เร่งรัดพื้นที่ลุ่มต่ำ 13 ทุ่งลุ่มน้ำเจ้าพระยา ทำนาปีตามแผน แม้สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำทั่วประเทศอยู่ในเกณฑ์ดี แต่สิ่งสำคัญที่สุดย้ำว่าให้เกษตรกรในพื้นที่ลุ่มดังกล่าวปลูกข้าวนาปีตามแผนที่วางไว้เท่านั้นเพื่อเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ทันก่อนฤดูน้ำหลากจะมาถึง

ขณะนี้มีการเพาะปลูกไปแล้ว 6.17 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 80 ของแผน (แผน 7.66 ล้านไร่) เฉพาะพื้นที่ลุ่มต่ำลุ่มน้ำเจ้าพระยาทั้ง 13 ทุ่ง มีการเพาะปลูกไปแล้ว รวมทั้งสิ้น 1.47 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 96 ของแผน (แผน 1.53 ล้านไร่) แยกเป็นพื้นที่เพาะปลูก 13 ทุ่งลุ่มต่ำเจ้าพระยา มีการเพาะปลูกไปแล้ว 1.08 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 94 ของแผน (แผน 1.15 ล้านไร่)

ขณะที่น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ ปริมาณน้ำรวมกัน 46,020 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 61 ของความจุอ่างรวมกันทั้งหมด ปริมาณน้ำมากกว่าปี 2560 รวม 4,224 ล้าน ลบ.ม. แบ่งเป็นน้ำใช้การได้ 22,101 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 42 สามารถรองรับน้ำได้อีก 29,987 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวม 12,876 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 52 ของความจุอ่างรวมกัน มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน 6,180 ล้าน ลบ.ม. สามารถรองรับน้ำได้อีก 11,995 ล้าน ลบ.ม. แม้ว่าจะอยู่ในเกณฑ์ดี แต่ต้องรองรับน้ำไว้ในฤดูถัดไป