ไทยเจ้าภาพประชุม RCEP

คอลัมน์ DATA

ในโอกาสที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพเปิดรับคณะกรรมการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership : RCEP) ระหว่างวันที่ 17-27 กรกฎาคม 2561 เพื่อผนึกกำลังระหว่าง 16 ประเทศ ให้สำเร็จสร้างความแข็งแกร่งให้ตลาดการค้าและการลงทุนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ครอบคลุม 1 ใน 3 ของเศรษฐกิจโลก และมีประชากรรวมกันกว่า 3.5 ล้านคน

รายงานจากกระทรวงพาณิชย์ระบุว่า การค้าไทยกับประเทศสมาชิก RCEP ในปี 2560 ประมาณ 269,000 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วน 58.66% ของการค้ารวมทั้งหมดของไทย เพิ่มขึ้น 10.85% จากปี 2559

สำหรับความคืบหน้าการเจรจา RCEP รอบที่ผ่านมา ฝ่ายไทยมีนางสาวชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรี RCEP สมัยพิเศษ ครั้งที่ 5 ระหว่างวันที่ 30 มิถุนายน-1 กรกฎาคม 2561 ณ กรุงโตเกียว เพื่อผลักดันระดับนโยบายให้การเจรจาอาร์เซ็ปมีความคืบหน้าอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะความพยายามของสมาชิกที่จะสรุป 3 เรื่อง คือ พิธีการศุลกากร มาตรฐานสุขอนามัยพืช และกฎระเบียบทางเทคนิค ให้ได้ในการประชุม RCEP ที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพครั้งนี้

สาระสำคัญการเจรจาเรื่องพิธีการศุลกากร RCEP เห็นพ้องกันว่าต้องให้เกิดความร่วมมือ เพื่ออำนวยความสะดวกด้านการค้าและการลงทุนระหว่างกัน ขณะที่เรื่องมาตรฐานสินค้าเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายพยายามผลักดันการพัฒนามาตรฐานสินค้าที่เป็นที่ยอมรับร่วมกัน โดยอิงมาตรฐานขององค์การการค้าโลก (WTO) เป็นหลัก แต่อาจจะมีความพิเศษมากขึ้นสำหรับกลุ่ม RCEP หรือที่เรียกว่า “WTO plus” และสุดท้ายจะต้องความสำคัญในการพัฒนาสุขอนามัยร่วมกันด้วย

แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า การเจรจา RCEP ยังไม่ได้ข้อสรุป “รูปแบบการลดภาษีสินค้า” เนื่องจากสมาชิก 16 ประเทศมีทั้งประเทศที่เคยทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) มาก่อนและที่ยังไม่เคยทำ FTA กันเลย จึงเกิดท่าทีที่แตกต่าง กล่าวคือ ท่าทีของอาเซียนเสนอให้ยกเลิกภาษีสินค้า 92% ของรายการสินค้าทั้งหมดให้เป็น 0 ภายในระยะเวลา 15 ปี สำหรับสินค้าที่ส่วนอีก 8% แบ่งเป็นสินค้าอ่อนไหวและสินค้าอ่อนไหวสูงรวม 7% กำหนดให้ลดภาษีเป็น 5-10% ภายใน 20-30 ปี และเหลือเป็นสินค้าอ่อนไหวอีก 1% ให้คงภาษีไว้เหมือนเดิมได้ เพื่อให้การเปิดเสรี RCEP เทียบเท่าหรือใกล้เคียงกับความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP) ซึ่งเป็นความตกลงฉบับคู่แข่ง


อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าจับตามองว่า RCEP ครั้งนี้ จะสามารถปลดล็อกอุปสรรคเรื่องนี้ได้หรือไม่