เอสซีจี จัดงาน “SD Symposium 2018” ดึงทุกภาคส่วนร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน

เอสซีจี จัดงาน “SD Symposium 2018” ดึงทุกภาคส่วนร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน เสนอต้นแบบความสำเร็จจากองค์กรชั้นนำ จุดประกายความยั่งยืนทรัพยากรโลก

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ”รายงานว่า เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2561 เอสซีจี จัดงานสัมมนา “SD Symposium 2018” ซึ่งเป็นงานสัมมนาทางวิชาการว่าด้วยการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่เอสซีจีจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 5 เพื่อให้สาธารณชนตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาอย่างยั่งยืนในประเด็นต่างๆ ซึ่งปีนี้ได้ชูแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy

ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนสอดคล้องกับแนวทาง การขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะการผลิตสินค้าและบริการที่ต้องมุ่งสร้างคุณค่ามากกว่าปริมาณ (Value Driven) โดย ที่ผ่านมา รัฐบาลได้ดำเนินการตาม Roadmap การพัฒนาประเทศเพื่อสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนท่ามกลางความท้าทายของทรัพยากรโลกที่ลดลง ด้วยการกำหนดเป็นยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งมุ่งเน้นการพัฒนาที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและการอนุรักษ์ฟื้นฟูที่สมดุลกับการใช้ประโยชน์ โดยมีมาตรการสนับสนุน เช่น นโยบายส่งเสริมการสร้างสรรค์นวัตกรรมและเศรษฐกิจดิจิทัล เพื่อช่วยให้เกิดการแบ่งปันและการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า นโยบายส่งเสริมการจัดการขยะและของเสียอย่างเหมาะสม โดยการนำกลับมาใช้ประโยชน์ รวมทั้งนโยบายส่งเสริมการลงทุนด้วยหลัก ธรรมาภิบาล รับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม

อย่างไรก็ตาม การสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนให้เกิดขึ้นได้จริงนั้น สิ่งสำคัญไม่ใช่เพียงการขับเคลื่อนของรัฐบาล แต่ภาคเอกชนและภาคประชาชนต้องมีส่วนร่วมด้วย โดยภาคเอกชนควรนำแนวคิดนี้ไปปรับใช้ในการดำเนินธุรกิจ เพื่อสร้างการเติบโตของธุรกิจในระยะยาว ส่วนภาคประชาชนควรตระหนักถึงความสำคัญ และร่วมกันปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อให้ขยะชนิดต่างๆ และสิ่งที่เป็นผลพวงจากการอุปโภคบริโภคได้หมุนเวียนกลับมาใช้เป็นทรัพยากร เพื่อช่วยสร้างประเทศให้มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืนอย่างแท้จริง

ด้าน นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี กล่าวว่า แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน สามารถแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นกับทรัพยากรของโลกในปัจจุบันได้เป็นอย่างดี เพราะเป็นการปรับรูปแบบการดำเนินธุรกิจแบบดั้งเดิมที่เป็นเพียงการนำทรัพยากรมาผลิต และจบที่ใช้แล้วทิ้ง (Take-Make-Dispose) ให้เป็นการรักษาคุณค่าของทรัพยากรให้มากที่สุด ด้วยการสร้างระบบที่เอื้อให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด และนำสินค้าที่ใช้แล้วกลับเข้าสู่กระบวนการผลิตได้อีก เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับสิ่งแวดล้อม สังคม และชุมชน
เอสซีจี

สำหรับการนำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนมาประยุกต์ใช้ในเอสซีจีนั้น มีการขับเคลื่อนผ่าน 3 กลยุทธ์หลัก คือ
1) Reduced material use และ Durability คือ การลดใช้ทรัพยากรในกระบวนการผลิต เช่น กระดาษลูกฟูก Green Carton ที่ใช้วัตถุดิบลดลงร้อยละ 25 แต่คงความแข็งแรงเท่าเดิม ทั้งยังทำให้ลูกค้าประหยัดต้นทุนในการขนส่งมากขึ้น และการลดการผลิตและการขาย single-use plastic ของเอสซีจี จากร้อยละ 46 เหลือร้อยละ 23 ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา รวมทั้งการช่วยให้ลูกค้าลดการใช้พลังงาน เช่น Active AIRflowTM System ระบบระบายอากาศที่ทำให้บ้านเย็นสบาย ไม่ร้อนอบอ้าว ประหยัดค่าไฟจากการใช้เครื่องปรับอากาศ และการเพิ่มความแข็งแรงทนทานของสินค้า เช่น ปูนโครงสร้างทนน้ำทะเล ที่มีอายุการใช้งานเพิ่มขึ้น 2 เท่า

2) Upgrade และ Replace คือ การพัฒนานวัตกรรมเพื่อทดแทนสินค้าหรือวัตถุดิบชนิดเดิม ด้วยสินค้าหรือวัตถุดิบชนิดใหม่ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้ใช้ทรัพยากรน้อยลงหรือนำไปรีไซเคิลได้มากขึ้น เช่น เม็ดพลาสติกพอลิเอทิลีนจากเทคโนโลยีใหม่ของเอสซีจีที่สามารถนำพลาสติกรีไซเคิลมาผสมได้เพิ่มขึ้นถึง 2 เท่า และปูนโครงสร้างเอสซีจีสูตร Hybrid ที่ใช้ทดแทนปูนโครงสร้างสูตรเดิม ทำให้ใช้วัตถุดิบหินปูนที่ต้องเผาน้อยลง

และ3) Reuse และ Recycle คือ การเพิ่มความสามารถในการหมุนเวียนสินค้าที่ใช้งานแล้วกลับมาใช้ใหม่ เช่น โรงอัดกระดาษ (Paper Bailing Station) เพื่อรวบรวมเศษกระดาษกลับมารีไซเคิล การนำขวดแก้วใช้แล้วมาทดแทนทรายธรรมชาติในการผลิตฉนวนกันความร้อน การพัฒนา CIERRATM ซึ่งเป็น Functional Material ที่ช่วยปรับคุณสมบัติพลาสติก ให้สามารถใช้พลาสติกเพียงชนิดเดียว (Single Material) แต่ให้คุณสมบัติที่หลากหลายกับบรรจุภัณฑ์ แทนการใช้วัสดุ หลายชนิด (Multi Material) ซึ่งยากต่อการนำไปรีไซเคิล และการนำขยะพลาสติกในทะเลและชุมชนมาเป็นส่วนประกอบสำหรับทำบ้านปลาเพื่ออนุรักษ์ระบบนิเวศทางทะเล

นอกจากนี้ เอสซีจียังสนับสนุนการสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับทุกภาคส่วนทั้งในและต่างประเทศเพื่อสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนที่สมบูรณ์ โดยล่าสุดได้ร่วมมือทางด้านเทคโนโลยีกับกลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย ในการนำพลาสติก รีไซเคิลมาเป็นส่วนผสมในการทำถนนยางมะตอย เพื่อช่วยลดปัญหาขยะพลาสติกในทะเลและชุมชน ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของถนนจากคุณสมบัติของพลาสติก และช่วยลดการเกิดก๊าซเรือนกระจกจากการทำถนนได้

ทั้งนี้ เอสซีจีมีเป้าหมายว่า SD Symposium 2018 ในครั้งนี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน รวมถึงส่งเสริมให้เกิดการขับเคลื่อนนวัตกรรม และกระบวนการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อเป็นรากฐานสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ที่ตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0 ได้ต่อไป

ด้าน Mr. Peter Bakker, President and CEO of World Business Council for Sustainable Development (WBCSD) กล่าวเสริมว่า แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนถือเป็นนวัตกรรม (Circular Innovation) ที่ปฏิวัติรูปแบบการผลิตและบริโภคครั้งใหญ่ของโลก ทำให้ระบบเศรษฐกิจของโลกมีการใช้ทรัพยากรหมุนเวียนและเกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งการทำให้แนวคิดนี้แพร่หลายในวงการธุรกิจได้ จะต้องเริ่มจากจิตสำนึกของผู้บริหารและคนในองค์กรที่ต้องการขับเคลื่อน ขณะเดียวกันทุกภาคส่วนก็ต้องตระหนักถึงปัญหาและร่วมกันสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับโลก

อาเซียนเป็นภูมิภาคที่มีความท้าทายอย่างยิ่ง เพราะมีทั้งความต้องการพัฒนาประเทศ การยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน อีกทั้งเป็นแหล่งผลิตที่รองรับความต้องการของประชากรโลกที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ทรัพยากรที่มีอยู่ไม่เพียงพอ ดังนั้น หากมีการนำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้ก็จะช่วยให้เกิดการผลิตสินค้าและบริการด้วยนวัตกรรมที่สามารถใช้ทรัพยากรได้เกิดประโยชน์สูงสุด ทำให้องค์กรลดต้นทุนจากการใช้ทรัพยากรและมีศักยภาพในการแข่งขันเพิ่มขึ้น ซึ่งจะเป็นแรงสนับสนุนให้ภาคธุรกิจทั่วโลกเติบโตได้ถึง 4.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี ค.ศ. 2030 (จาก CEO Guide to the Circular Economy, WBCSD) นอกจากนี้ ยังช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งมีผลทำให้ความตกลงปารีส (Paris Agreement) รวมทั้งเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals, SDGs) บรรลุตามเป้าหมายที่วางไว้

อนึ่ง เอสซีจี มุ่งเน้นให้การสัมมนา “SD Symposium 2018” ครั้งนี้ มีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมตามแนวคิด Green Event ด้วยการใช้วัสดุในการจัดงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และสามารถนำกลับไปรีไซเคิลได้ พร้อมปรับอุณหภูมิห้องจัดงานให้อยู่ที่ 25 องศาเซลเซียส นอกจากนี้ ยังเชิญชวนผู้ร่วมงานให้มีส่วนร่วมลดภาวะโลกร้อน ด้วยการเดินทางโดยระบบขนส่งมวลชนสาธารณะและแต่งกายโดยไม่ใส่สูท จากนั้นจะเอสซีจีปลูกต้นไม้ควบคู่กับการใช้ Carbon Credit ของโครงการผลิตไฟฟ้าจากลมร้อนเหลือทิ้งในโรงงานผลิตปูนซีเมนต์ เพื่อชดเชยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดขึ้นจากการจัดงานครั้งนี้ให้เป็นศูนย์ (Carbon Neutral)