มะกันซุ่มยกร่างกม.FARTAct ให้อำนาจ “ทรัมป์” สั่งขึ้นภาษีนำเข้าเอาดื้อๆ

รมช.พาณิชย์เตรียมเยือนสหรัฐปลาย ก.ค. พบ USTR ถกปมค้างขึ้นภาษีเหล็ก เปิดตลาดหมู-เอกชนชี้การเจรจาไร้ผล เตือนจับตากฎหมายใหม่ FART Act เปิดช่องประธานาธิบดีขึ้นภาษีไร้กรอบ WTO คุม ด้านเบทาโกรหวั่นหมูสหรัฐถล่มไทย แนะรัฐคำนึงถึง food safety

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ยังคงยืนยันเก็บภาษีนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียมจากไทยในอัตรา 25% และ 10% ภายใต้มาตรา 232 กฎหมาย Trade Expansion Act 1962 แม้ว่ากระทรวงพาณิชย์จะทำหนังสือถึงสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐ (USTR) เพื่อขอให้พิจารณายกเว้นเก็บภาษีสินค้าดังกล่าวจากไทย อย่างไรก็ตามหลังจากนี้กระทรวงพาณิชย์จะต้องเจรจาเรื่องนี้ต่อ เพื่อผลประโยชน์ของประเทศ รวมถึงประเด็นที่ผู้ผลิตสุกรสหรัฐยื่นขอให้ USTR พิจารณาตัดสิทธิพิเศษทางการค้า (GSP) สินค้าไทย เนื่องจากไทยไม่เปิดตลาดสินค้าสหรัฐอย่างเป็นธรรมและสมเหตุสมผล

โดยล่าสุดในช่วงปลายเดือนกรกฎาคมนี้ นางสาวชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ จะเดินทางเยือนสหรัฐ เพื่อเปิดตลาดสินค้าข้าว พร้อมกันนี้มีกำหนดจะขอหารือ USTR เรื่องภาษีเหล็ก และประเด็นปัญหาการค้าอื่น ๆ ที่ยังเป็นอุปสรรคระหว่างกัน โดยเฉพาะกรณีที่สหรัฐจะกดดันให้ไทยเปิดตลาดนำเข้าเนื้อหมูและเครื่องในที่มีสารเร่งเนื้อแดงตกค้าง

นายบัณฑูร วงศ์สีลโชติ รองประธานกรรมการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เป้าหมายที่ไทยจะไปเจรจาเพื่อขอให้ยกเว้นภาษีเหล็ก เป็นไปได้ยาก เพราะไทยทำให้สหรัฐขาดดุลการค้าปีละ 20,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งสหรัฐไม่มีเหตุผลอะไรที่จะต้องเว้นภาษีให้กับไทย สองไทยไม่ใช่ผู้ผลิตเหล็กที่สำคัญเหากทียบกับพันธมิตรอย่างญี่ปุ่นในแง่ยุทธศาสตร์การเมืองเกี่ยวข้องกัน แต่สหรัฐก็ยังไม่เว้นภาษีให้เลย และไทยยังเสี่ยงเป็นฐานการผลิตเหล็กจากจีนสวมสิทธิส่งไปสหรัฐอีก นอกจากนี้มีความเป็นไปได้ว่าการเดินทางไปครั้งนี้สหรัฐจะขอให้ไทยเปิดตลาดนำเข้าหมู เพื่อแก้ไขปัญหาที่สหรัฐขาดดุลการค้ากับไทย

ประเด็นที่ต้องจับตามองขณะนี้คือ สหรัฐกำลังยกร่างกฎหมายใหม่ “United States Fair and Reciprocal Tariff Act” หรือ FART Act ซึ่งเป็นกฎหมายที่อนุญาตให้ประธานาธิบดีสหรัฐสามารถออกประกาศคำสั่งปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้ารายการใดก็ได้ โดยไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงอัตราภาษีปกติ (MFN) และเพดานภาษีที่ผูกพันไว้กับองค์การการค้าโลก (WTO) เช่น ประธานาธิบดีสหรัฐสามารถขึ้นภาษีนำเข้ารถยนต์ 2.5% เป็น 25% โดยไม่ต้องคำนึงว่าจะผิด WTO หรือไม่ ซึ่งเปรียบเสมือนว่ากฎหมายนี้ เป็นกฎหมายที่สหรัฐดึงตัวเองออกจากความเป็นสมาชิก WTO แบบกลาย ๆ

“ในทางการเมืองสหรัฐ แม้ว่าจะมีความอ่อนไหวที่หลายคนตั้งข้อสังเกตว่าประธานาธิบดีทรัมป์อาจถูกถอดถอน แต่ในความเป็นจริงขณะนี้ประธานาธิบดีทรัมป์ได้รับเสียงสนับสนุนอย่างมากในการยกร่างกฎหมายนี้ เนื่องจากสหรัฐประสบปัญหาขาดดุลการค้ามาเป็นเวลานาน ไม่มีประธานาธิบดีคนใดแก้ไข ส่งผลให้สหรัฐสูญเสียความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศต่าง ๆ หลังจากเข้าร่วม WTO เปิดตลาดเสรี ยิ่งทำให้บริษัทสหรัฐยากจนลง และที่สำคัญจีนยังออกนโยบายเมดอินไชน่า 2025 มุ่งเน้นผลิตสินค้ากลุ่มเทคโนโลยีสูงออกมาอีก ซึ่งจะทำให้สหรัฐได้รับผลกระทบมากในอนาคต”

ด้านนายวสิษฐ แต้ไพสิฐพงษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ เครือเบทาโกร บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ประเด็นเรื่องเปิดตลาดหมูเป็นเรื่องที่ต้องใช้ระยะเวลาในการเจรจา โดยรัฐบาลจะต้องคำนึงถึงเรื่องมาตรฐานอาหารปลอดภัย (food safety) ของประชาชนเป็นหลัก ถึงแม้ว่าที่ผ่านมาจะมีการหารือถึงเรื่องการติดฉลากผลิตภัณฑ์หมูนำเข้าว่ามีการใช้สารเร่งเนื้อแดงหรือไม่ เพื่อให้ผู้บริโภคเป็นผู้ตัดสินใจนั้น ต้องพิจารณาว่าไทยมีความสามารถหรือมีกลไกการกำกับดูแลเรื่องนี้เพียงใด เพราะการดูแลมาตรฐานการนำเข้าจะต้องดูแลหลายขั้นตอน เพราะหากมีการส่งสินค้าชิ้นส่วนหมูที่เป็นชิ้นส่วนที่สหรัฐไม่บริโภคเข้ามาในประเทศไทย อาจจะส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตภายในประเทศ

“ถ้าเกิดคนไทยซื้อนิดเดียว หรือสหรัฐส่งออกมาได้ก็จะกระทบการค้าในประเทศ ยกตัวอย่าง เช่น อดีตเบทาโกรมีกำลังเชือด เริ่ม 100 ตัวต่อวัน ผ่านมา 10 ปี ถึงปัจจุบัน กำลังเชือด 3,700 ตัวต่อวัน ที่โรงเชือดลพบุรี โตขึ้นมาเป็น 10 เท่า แต่โรงเชือดหมูสหรัฐโรงหนึ่ง 20,000 ตัวต่อวัน ขนาดใหญ่มาก และมีความได้เปรียบ ส่วนประเด็นเรื่องต้นทุนเทียบสหรัฐและไทยว่ามีความแตกต่างกันมากเพียงใดนั้น มองว่าต้นทุนสหรัฐไม่สูงกว่าไทย เพราะเขาบริโภคส่วนที่แพงไปแล้ว เขาเหลือของถูกเยอะ และส่งของที่ไม่กินมาขายเรา ไม่มีต้นทุน ซึ่งเกิดขึ้นตลอดเวลา เช่น สหรัฐบริโภคไก่เนื้อเฉพาะอก ส่วนน่อง สะโพกไม่บริโภค ก็ส่งออกไปรัสเซีย ชิ้นส่วนเหล่านี้ไม่มีมูลค่าเลย ส่วนแฮม สะโพก สหรัฐกินน้อย และส่งออกไปญี่ปุ่น ขายไปถูก ไปใช้อุตสาหกรรมไส้กรอกในญี่ปุ่น เป็นต้น”

ต่อประเด็นสงครามการค้าระหว่างสหรัฐ-จีนจะมีผลต่อการส่งออกหมูไม่มาก เพราะเชื่อว่าถึงอย่างไรการค้าหมูยังขึ้นอยู่กับกลไกตลาดทั้งปริมาณความต้องการซื้อ (ดีมานด์) และปริมาณผลผลิต (ซัพพลาย) เพราะสินค้าเกษตรและอาหารจะแตกต่างจากสินค้าอุตสาหกรรม ทำให้ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นมีความแตกต่างจากสินค้าอุตสาหกรรม และสินค้าเกษตรมีกลไกซื้อขายล่วงหน้าอยู่แล้ว