ผันเงินกองทุนไฟฟ้าช่วยชุมชน

2.3พันล้าน-กกพ.เร่งยกร่างคุมIPS กกพ.เร่งจัดทำแผนอนุมัติงบฯกองทุนพัฒนาฯปี”62 ก่อนกระจายงบฯลงพื้นที่ส่วน กม.จัดระเบียบผู้ผลิตไฟฟ้ารายย่อย ทำหนังสือส่งให้กับรัฐมนตรีพลังงานพิจารณา ก่อนเสนอเข้าสู่คณะกรรมการ กพช.พิจารณาเห็นชอบบังคับใช้ต่อไป

นางปัจฉิมา ธนสันติ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กล่าวระหว่างลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโครงการชุมชนรอบโรงไฟฟ้าขนอมจังหวัดนครศรีธรรมราช ระหว่างวันที่ 6-7 กรกฎาคม 2561 ที่ผ่านมาว่าขณะนี้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ. อยู่ระหว่างการพิจารณาอนุมัติวงเงินกองทุนพัฒนาไฟฟ้าเพื่อการพัฒนา หรือฟื้นฟูท้องถิ่นที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินงานของโรงไฟฟ้า กระจายเข้าสู่ชุมชนเพื่อพัฒนาให้เกิดความยั่งยืน และเป็นแหล่งท่องเที่ยวสร้างรายได้ให้กับชุมชนต่อไป

ล่าสุดคณะกรรมการ กกพ.ได้กรอบวงเงินงบประมาณเบื้องต้น2,300 ล้านบาทในปี 2562 โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำแผนในภาพรวมให้แล้วเสร็จ ก่อนที่จะอนุมัติงบฯลงพื้นที่ต่อไป คาดว่าภายในวันที่ 30 กันยายน 2561นี้จะสรุปได้ ส่วนงบประมาณปี 2561 ได้กรอบงบประมาณ 2,600 ล้านบาทโดยแบ่งกระจายให้กับชุมชนรอบโรงไฟฟ้าทั่วประเทศและดำเนินการตามภารกิจของ กกพ. และปัจจุบันโรงไฟฟ้าที่ต้องส่งเงินเข้ากองทุนมีอยู่ทั้งสิ้น 356 แห่ง สำหรับพื้นที่ที่จะเข้าข่ายในการรับเงินกองทุนพัฒนาไฟฟ้า ได้แบ่งกองทุนออกเป็น 3 ประเภท คือ

1.กองทุนประเภท ก.มีปริมาณการผลิตไฟฟ้ามากกว่า5,000 ล้านหน่วยต่อปี ปริมาณเงินที่ได้รับมากกว่า 50 ล้านบาทต่อปี และมีรัศมีของพื้นที่ประกาศ (เฉพาะโรงไฟฟ้าใหม่)5 กิโลเมตร มีคณะกรรมการพัฒนาชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้าจำนวนไม่ต่ำกว่า 15 คน และไม่เกินกว่า 35 คน และมีคณะกรรมการพัฒนาชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้าตำบล จำนวน17 คนขึ้นไป ปัจจุบันมี 13 กองทุน

2.กองทุนประเภท ข. มีปริมาณการผลิตไฟฟ้าไม่เกิน 5,000 ล้านหน่วยต่อปี ปริมาณเงินที่ได้รับประมาณ1-50 ล้านบาทต่อปี และมีรัศมีของพื้นที่ประกาศ 3 กิโลเมตร มีคณะกรรมการพัฒนาชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้าจำนวนไม่ต่ำกว่า 15 คน และไม่เกินกว่า 35 คน ปัจจุบันมี 55 กองทุน และ 3.กองทุนประเภท ค. มีปริมาณการผลิตพลังงานไฟฟ้าไม่เกิน 100 ล้านหน่วยต่อปี ปริมาณเงินที่ได้รับไม่เกิน 1 ล้านบาทต่อปี และมีรัศมีของพื้นที่ประกาศ 1 กิโลเมตร มีตัวแทน องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) และเทศบาลจำนวน 3 คน ปัจจุบันมี 288 กองทุน

อย่างไรก็ดี การดำเนินงานของ กกพ.เริ่มจัดงบประมาณเพื่อพัฒนาชุมชนตั้งปี 2555 จนถึงปัจจุบัน มีโครงการที่ได้รับการพัฒนาไปแล้ว 40,822 โครงการ มูลค่างบประมาณที่ใช้ 15,303.35 ล้านบาทแบ่งเป็นงบประมาณบริหารจัดการ 1,521.45 ล้านบาท และงบประมาณโครงการชุมชน 13,781.90 ล้านบาท ภายใต้การดำเนินงานโครงการชุมชน ซึ่งโครงการที่เสนอนั้นริเริ่มจากชุมชนคิดขึ้นมาและเสนอตามขั้นตอนก่อนมีการอนุมัติงบฯลงพื้นที่

นางปัจฉิมากล่าวอีกว่า กกพ.ได้ส่งหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเพื่อขอให้ออกร่างพระราชกฤษฎีกา “กำหนดประเภทขนาดและลักษณะของกิจการพลังงานที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องขอรับใบอนุญาตการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. …” และจะเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.)ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานพิจารณาต่อไป โดยร่างกฎหมายใหม่นี้จะกำหนดให้ขยายกรอบหลักเกณฑ์การขอใบอนุญาตผลิตไฟฟ้าให้ครอบคลุม


กลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้ารายย่อยที่มีขนาดตั้งแต่200 กิโลวัตต์ แต่ไม่เกิน 1 เมกะวัตต์ที่ต้องขอใบอนุญาตประกอบกิจการไฟฟ้าด้วย จากเดิมผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กตั้งแต่ 200 กิโลวัตต์ แต่ไม่เกิน 1 เมกะวัตต์ไม่ต้องขอใบอนุญาตผลิตไฟฟ้าเพียงแค่มาจดแจ้งกับ กกพ.เท่านั้น โดยกฎหมายดังกล่าวจะทำให้ภาครัฐสามารถจัดเก็บข้อมูลผู้ผลิตไฟฟ้ารายย่อยได้ทั้งหมด เพื่อที่จะสามารถบริหารจัดการดูแลความมั่นคงไฟฟ้าทั้งประเทศได้ โดยเมื่อผู้ผลิตไฟฟ้ารายย่อยต้องขอใบอนุญาตประกอบกิจการไฟฟ้า จะส่งผลให้ต้องจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (IEE) และในอนาคตอาจต้องส่งเงินเข้ากองทุนพัฒนาไฟฟ้าด้วยซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการนำเงินไปพัฒนาชุมชนต่อไป ปัจจุบันมีผู้ผลิตไฟฟ้าที่ต่ำกว่า 1 เมกะวัตต์มากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เอง (IPS) ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (โซลาร์รูฟท็อป) และกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้าต่ำกว่า 200 กิโลวัตต์ที่มีประมาณ 300 ราย ซึ่ง กกพ.จะพยายามจัดเก็บข้อมูลกลุ่มดังกล่าวให้อยู่ในระบบต่อไป