1569 ร้องค้าภายในสายไหม้ ก๊าซ LPG แพงหูฉี่-กองทุนชดเชยถังแตก

1569 สายไหม้ ร้องเรียนก๊าซหุงต้มพุ่ง 100 สาย หลัง กบง.ตรึงราคา 1 เดือน ประชาชนโอดค้าปลีกขายเกินถังละ 363 บาท ด้านเอกชนชี้ค่าขนส่ง-โสหุ้ยขึ้นกับต้นทุน แนะออกราคาแนะนำ ลุ้นรัฐยืดตรึงราคาต่อ หลังกองทุนน้ำมันฯ บัญชีแอลพีจีเริ่มวิกฤตเหลือเงินแค่ 10 ล้านบาท

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า หลังจากที่ คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) มีมติให้นำเงินกองทุนน้ำมันฯในส่วนของก๊าซ LPG 591 ล้านบาท มาใช้ในการตรึงราคาขายปลีกก๊าซหุงต้ม (LPG) ภาคครัวเรือน ให้คงราคาจำหน่ายที่ 363 บาทต่อถัง ขนาดบรรจุ 15 กก. นับจากวันที่ 28 พฤษภาคม 2561 จนถึงปัจจุบัน ผ่านมา 1 เดือน พบว่าประชาชนร้องเรียนปัญหาการจำหน่ายก๊าซหุงต้มผ่านสายด่วนกรมการค้าภายใน 1569 มากถึง 130 คำร้อง โดยเป็นการร้องเรียนในพื้นที่กรุงเทพฯ 90 คำร้อง และในภูมิภาคอีก 40 คำร้อง ซึ่งกรมการค้าภายในได้ดำเนินการตรวจสอบแล้วเสร็จไปแล้ว 98 คำร้อง พบการกระทำผิดในกรุงเทพฯ 63 คำร้อง และในภูมิภาค 35 คำร้อง ซึ่งมีการดำเนินคดีและเปรียบเทียบปรับตามกฎหมายแล้ว

สาเหตุหลักที่มีการร้องเรียนมาจากพฤติกรรมการขายในราคาแพง 94 คำร้อง และการปรับขึ้นราคา 2 คำร้อง ส่วนสาเหตุอื่น เช่น การจำหน่ายไม่ปิดป้ายแสดงราคา 28 คำร้อง ความผิดตาม พ.ร.บ.ชั่งตวงวัด 3 คำร้อง การแสดงราคาขายปลีกไม่ตรงกับราคาจำหน่าย 1 คำร้อง ปฏิเสธการจำหน่ายโดยไม่มีเหตุผล 1 คำร้อง และการร้องว่าร้านค้าธงฟ้าประชารัฐนำก๊าซหุงต้มมาจำหน่าย (ผิดหลักเกณฑ์) อีก 1 คำร้อง

แหล่งข่าวกล่าวว่า ผู้ค้าปลีกแต่ละพื้นที่จะมีการบวกค่าบริการ ค่าโสหุ้ย และการขนส่งจนราคาขายจริงสูงถึงถังละ 375-390 บาทจากราคาที่รัฐบาลตรึงไว้ถังละ 363 บาท ประเด็นนี้จึงทำให้หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่าควรจะมีการกำหนดราคาแนะนำก๊าซหุงต้มหรือไม่ หรือควรมีแนวทางกำกับดูแลการจำหน่ายอย่างไร

นายสุรพล รักษาธรรมเจริญ นายกสมาคมการค้าผู้ประกอบการโรงบรรจุก๊าซหุงต้ม เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า แนวทางในการดูแลราคาจำหน่ายหากภาครัฐ ทางกรมการค้าภายใน สามารถประกาศราคาแนะนำได้ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันต้นทุนและการจำหน่ายปลีกของร้านค้าปลีกแต่ละร้านอาจจะแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับต้นทุนของผู้ประกอบการแต่ละราย ซึ่งอาจจะมีการบวกค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ ค่าขนส่ง และค่าแรงงานที่ปรับสูงขึ้นในปัจจุบัน

“การตรึงราคาที่ถังละ 363 บาท เป็นราคาที่สมเหตุสมผล เพราะคณะกรรมการ กบง.ได้พิจารณาโดยประเมินจากราคาในตลาดโลก และต้นทุนการผลิตก๊าซหุงต้มในแต่ละทอดจากผู้ค้ามาตรา 7 มาถึงโรงงานบรรจุใส่ถัง และร้านค้าที่จะกระจายถึงผู้ใช้ปลายทาง ซึ่งมีหลายปัจจัยเกี่ยวข้องทำให้ราคาอาจจะแตกต่างกัน เช่น ค่าโสหุ้ยค่าขนส่ง ซึ่งก็แล้วแต่ว่าใครจะคิดอย่างไร เป็นไปตามพื้นที่”

สำหรับทิศทางราคาก๊าซหุงต้มในครึ่งปีหลังมีแนวโน้มจะปรับสูงขึ้นตามราคาน้ำมัน และตามปัจจัยอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และความต้องการใช้ก๊าซหุงต้มปริมาณที่สูงขึ้น โดยปัจจุบันความต้องการใช้ก๊าซหุ้งต้มเฉพาะภาคครัวเรือนเฉลี่ยอยู่ที่เดือนละ 200,000 ตัน ไม่นับรวมความต้องการใช้ในสถานีบริการ ภาคอุตสาหกรรม และปิโตรเคมี ส่วนการพิจารณาว่าจะตรึงราคาต่อไปอีกหรือไม่ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของ กบง.ว่าจะหาเม็ดเงินจากไหนมาดูแล และความจำเป็นในการดูแลค่าครองชีพ

แหล่งข่าวจากวงการพลังงานกล่าวว่า หลังจากที่ประกาศตรึงราคาก๊าซหุงต้มสถานะเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงภาพรวมลดลง 1,120 ล้านบาท จากก่อนประกาศตรึงราคา (27 พฤษภาคม 2561) โดยเฉพาะในส่วนบัญชี LPG ลดลงถึง 581 ล้านบาท จากที่เคยมี 591 ล้านบาท เหลือเพียง 10 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่าคาดการณ์ในตอนแรกที่ประเมินว่าการตรึงราคาก๊าซหุงต้มจะทำเพียงช่วงระยะเวลาสั้น ๆ เพราะระดับราคาก๊าซในตลาดโลกน่าจะปรับตัวลดลงหลังจากเดือนมิถุนายน และน่าจะใช้เม็ดเงินเพียง 500 ล้านบาท นำไปสู่คำถามว่ากระทรวงพลังงานใช้มาตรการตรึงราคาก๊าซหุงต้มต่อไปหรือไม่ หากจะตรึงราคาต่อไป จะใช้แนวทางอย่างไร ซึ่งวงการพลังงานมองว่าอาจจะมีการพิจารณาใช้มาตรการอื่นนอกจากการใช้เงินกองทุน เช่น การลดภาษีสรรพสามิต ก๊าซหุงต้มที่เก็บอยู่ กก.ละ 2.17 บาทในปัจจุบัน หรือการลดค่าการกลั่นหรือไม่


ทั้งนี้ หากเปรียบเทียบโครงสร้างราคา LPG ระหว่างราคาปัจจุบันและราคาก่อนตรึง อยู่ที่ กก.ละ 21.87 บาทเท่ากันก็จริง แต่ต้นทุนเนื้อก๊าซ (Ex-Refin) ปัจจุบัน กก.ละ 21.0264 บาท เพิ่มขึ้นจากก่อนตรึง กก.ละ 19.45 บาท, ภาษีสรรพสามิต 2.17 บาทต่อลิตร ภาษี M.TAX 0.21 บาทต่อลิตร และการหักลดกองทุน ปัจจุบันลบ 6.233 บาท จากก่อนตรึงราคาลบ 4.65 บาท ราคาขายส่งปัจจุบัน กก.ละ 17.17 บาท ซึ่งก็เท่ากับก่อนตรึงราคา ภาษีมูลค่าเพิ่ม 1.20 บาท รวมเป็นราคา 18.38 บาท ค่าการตลาด (marketing margin) 3.25 บาท และภาษีมูลค่าเพิ่ม 0.22 บาท