จับตาการพบกันครั้งแรก”ทรัมป์-ปูติน”จาก”ปฏิปักษ์”สู่”พันธมิตร”? ในการประชุมสุดยอดผู้นำสหรัฐ-รัสเซีย

แฟ้มภาพ

การประชุมสุดยอดผู้นำสหรัฐฯ-รัสเซีย ที่กำลังจะเกิดขึ้นที่กรุงเฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์ ในวันจันทร์ที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2561 นับเป็นการประชุมอย่างเป็นทางการครั้งแรกระหว่างประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กับ ประธานาธิบดีวลาดีมีร์ ปูติน แม้ว่าก่อนหน้านี้ผู้นำทั้งสองจะเคยพบปะกันในการประชุมระหว่างประเทศอย่างน้อยสองครั้งแล้วก็ดี การจัดการประชุมสุดยอดผู้นำฯ ครั้งนี้เกิดขึ้นภายหลังจากการเดินทางเยือนรัสเซียของนายจอห์น โบลตัน ที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติ ซึ่งได้เข้าพบหารือกับประธานาธิบดีปูตินที่กรุงมอสโกเมื่อปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา

“ผ.ศ.จิตติภัทร พูนขำ” อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การปรับความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับรัสเซียรอบใหม่นี้ เกิดขึ้นภายใต้บริบทที่เป็นปฏิปักษ์ อย่างน้อยสามประการ นั่นคือ

ประการแรก สหรัฐฯ และรัสเซียดำเนินความสัมพันธ์ทวิภาคีที่ไม่เป็นมิตรต่อกันมาช่วงระยะหนึ่งแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งตั้งแต่การหวนคืนสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยที่สามของปูตินในปี ค.ศ. 2012 และวิกฤตการณ์ยูเครน/ไครเมียในปี ค.ศ.2014 ซึ่งนำมาสู่การที่สหรัฐฯ คว่ำบาตรทางเศรษฐกิจรัสเซีย

ถัดมาประการที่สอง คือ บริบททางการเมืองภายในของสหรัฐฯ ที่หลายฝ่ายตั้งคำถามหรือวิพากษ์วิจารณ์บทบาทของรัสเซีย โดยเฉพาะข้อกล่าวหาเรื่องการแทรกแซงระบบการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในปี ค.ศ. 2016 ที่ปัจจุบันความเกี่ยวพันระหว่างรัสเซียและคณะหาเสียงของทรัมป์ยังอยู่ในกระบวนการสืบสวนสอบสวนโดยคณะกรรมการสอบสวนพิเศษภายใต้การนำของนายโรเบิร์ต มูลเลอร์ อัยการพิเศษ

และประการสุดท้าย การประชุมสุดยอดผู้นำฯ ครั้งนี้เกิดขึ้นท่ามกลางบริบทการเมืองระหว่างประเทศที่ระเบียบโลกแบบเสรีนิยมกำลังถูกท้าทายสั่นคลอน ไม่ว่าจะเป็นกระแสประชานิยมฝ่ายขวา สงครามการค้าหรือลัทธิปกป้องการค้า (Protectionism) รวมทั้งรอยร้าวในความสัมพันธ์ข้ามแอตแลนติก(Transatlantic relations) โดยเฉพาะความไม่เห็นพ้องต้องกันระหว่างทรัมป์ กับผู้นำโลกตะวันตก ได้แก่ เยอรมนี ฝรั่งเศส และแคนาดา

สำหรับท่าทีของทรัมป์ที่สนับสนุนรัสเซียและกังขาต่อระบบพันธมิตรดั้งเดิมกลายเป็นประเด็นถกเถียงโต้แย้งสำคัญในการประชุมระหว่างผู้นำโลกตะวันตกในช่วงที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นการประชุม G-7 ที่แคนาดา หรือการประชุม NATO ที่กรุงบรัสเซลส์ เบลเยียม การปรับความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ – รัสเซียได้สร้างความวิตกกังวลอย่างมากต่อพันธมิตรในโลกตะวันตกของสหรัฐฯ ซึ่งมองว่า การหันไปหารัสเซียของสหรัฐฯ อาจจะกระทบต่อระบบพันธมิตรข้ามแอตแลนติกอย่างมีนัยสำคัญ จนอาจจะนำไปสู่แนวโน้มของการเปลี่ยนขั้วระบบพันธมิตร (Alliance shifting) ได้

แม้ว่าปัจจัยผู้นำจะมีบทบาทสำคัญ กล่าวคือ ทั้งทรัมป์และปูตินต่างแสดงท่าทีที่เป็นมิตรต่อกันและกัน แต่กระนั้น การปรับความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับรัสเซียก็ไม่ใช่ภารกิจที่ง่ายดาย ทั้งนี้เพราะทั้งสองมหาอำนาจต่างมีความขัดแย้งร้าวลึกมาอย่างยาวนานจนกลายเป็นความไม่ไว้วางใจระหว่างประเทศ

หากมองในประวัติศาสตร์ช่วงยาว จะเห็นความพยายามในการปรับความสัมพันธ์ใหม่ หรือที่เราอาจจะเรียกว่า “รีเซ็ต” (Reset) ในทุกรัฐบาลของทั้งสองประเทศตั้งแต่ช่วงหลังสงครามเย็นเป็นต้นมา เช่น สมัยประธานาธิบดีบารัก โอบามาและ ดเมทรี เมดเวเดฟ ในช่วงระหว่างปี ค.ศ. 2008-2012 เป็นต้น แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร ทั้งนี้เนื่องมาจากความแตกต่างพื้นฐานทางด้านอัตลักษณ์ ผลประโยชน์ และคุณค่าปทัสถาน การปรับความสัมพันธ์ใหม่ หรือ “รีเซ็ต” รอบนี้จึงเป็นโจทย์ที่ยากและท้าทายอย่างยิ่งต่อทั้งรัฐบาลทรัมป์และปูติน ผศ.จิตติภัทร กล่าวเพิ่มเติม

ความท้าทายของการปรับความสัมพันธ์ฯ อาจจะไม่ใช่เรื่องเชิงสัญลักษณ์ เช่น การจับมือระหว่างผู้นำหรือการออกแถลงการณ์ร่วมเท่านั้น แต่คือการตอบโจทย์เชิงยุทธศาสตร์ใหญ่ที่ว่าทำไมความขัดแย้งร้าวลึกนี้ยังคงดำรงอยู่อย่างถาวร ทั้งๆ ที่ทั้งสองฝ่ายต่างพยายามที่จะปรับความสัมพันธ์กันมาโดยตลอด การทำความเข้าใจสาเหตุเบื้องลึกของวิกฤตการณ์ในความสัมพันธ์สหรัฐฯ – รัสเซียอาจจะเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของความสัมพันธ์ทวิภาคีนี้