ก.อุตสาหกรรม เร่งแก้กฎหมายรับอุตสาหกรรมชีวภาพ

ก.อุตสาหกรรม เร่งแก้กฎหมายรับอุตสาหกรรมชีวภาพ หลังผ่าน ครม. ตั้งโรงงานได้ในพื้นที่ 50 กม. หากโรงงานเดิมยินยอม

ผ่าน ครม. เรียบร้อยสำหรับอุตสาหกรรมชีวภาพ ดันไทยเป็น Bio Hub of ASEAN ภายในปี 2570 กระทรวงอุตสาหกรรม มั่นใจเกิดการลงทุน สร้างมูลค่าพืชเศรษฐกิจอ้อย มัน ปาล์ม นำร่อง 3 พื้นที่ ทั้ง EEC ขอนแก่น นครสวรรค์/กำแพงเพชร

ดร.ณัฐพล รังสิตพล เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม รักษาราชการแทน ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า หลังจาก ครม. ได้มีมติเห็นชอบมาตรการพัฒนาอุสาหกรรมชีวภาพของไทย ปี พ.ศ. ‪‭2561-2570‬ ‬โดยมีเป้าประสงค์ที่จะผลักดันให้ประเทศไทยเป็น Bio Hub of ASEAN ภายในปี พ.ศ. 2570 ไปแล้ววันนี้ (17 ก.ค. 2561) ภายใต้มาตรการดังกล่าวจะเน้น
ภาคเอกชนเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการลงทุน และขณะนี้ได้เกิดโครงการลงทุนในผลิตภัณฑ์เป้าหมาย ได้แก่ พลาสติกชีวภาพ (Bioplastic) เคมีชีวภาพ (Biochemicals) และชีวเภสัชภัณฑ์ (Biopharmaceuticals) ตามแนวทางพัฒนาเศรษฐกิจกระแสใหม่ หรือเศรษฐกิจชีวภาพแล้วในหลายพื้นที่

ซึ่งมีการลงทุนไปแล้วคิดเป็นมูลค่า 12,360 ล้านบาท แบ่งเป็น Biochemicals 5,000 ล้านบาท Food ingredient 120 ล้านบาท Feed ingredient 300 ล้านบาท และ Biopharma 6,940 ล้านบาท และจะมีการลงทุนเพิ่มขึ้นในอนาคตอีก 187,205 ล้านบาท ซึ่งจะสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับพืชเศรษฐกิจของไทย ได้แก่ อ้อย มันสำปะหลัง และปาล์มน้ำมัน และเกิดผลิตภัณฑ์ฐานชีวภาพที่หลากหลายในกลุ่ม Bioplastics Biochemicals และ Biopharmaceutical

จากนี้ได้เร่งให้เกิดการดำเนินงานภายใต้มาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพของไทย ปี พ.ศ. ‪‭2561-2570‬‬ เพื่อให้เกิดการทำงานเชิงบูรณาการจากการมีส่วนร่วมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยผ่าน คณะกรรมการพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งชาติ (กอช.) ในการกำกับการดำเนินการตามมาตรการต่างๆ รวมถึงการติดตามผลการปฏิบัติงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยจะเร่งดำเนินการในส่วนมาตรการเร่งด่วน เพื่อขจัดอุปสรรคการลงทุน และสร้างปัจจัยสนับสนุน

1. สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย และกรมโรงงานอุตสาหกรรม ดำเนินการปรับปรุง พ.ร.บ. อ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 ให้สามารถนำน้ำอ้อยไปผลิตสินค้าชนิดอื่นที่ไม่ใช่น้ำตาลทรายได้ และจัดสรรวัตถุดิบ (น้ำอ้อย) ที่เพียงพอและเหมาะสมกับอุตสาหกรรมชีวภาพ รวมทั้งสามารถตั้งโรงงานชีวภาพได้ในพื้นที่ 50 กม. หากโรงงานเดิมให้ความยินยอม

2.กรมโรงงานอุตสาหกรรม จะเพิ่มบัญชีประเภทกิจการอุตสาหกรรมเคมีชีวภาพ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายตามนโยบายรัฐบาล (S-Curve) ในบัญชีประเภทโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อแยกอุตสาหกรรมเคมีชีวภาพออกจากอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์
3.กระทรวงมหาดไทย โดยกรมโยธาธิการและผังเมือง จะมีการปรับปรุงแก้ไขกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวม เพื่อสนับสนุนการประกอบกิจการอุตสาหกรรมเคมีชีวภาพ ในพื้นที่ที่มีความเหมาะสมหรือพื้นที่ที่มีศักยภาพด้านการผังเมือง โดยในหลักการพื้นที่ทางการเกษตร ซึ่งเป็นแหล่งวัตถุดิบ ควรอยู่ใกล้กับโรงงานแปรรูป หากแยกกันอยู่จะส่งผลกระทบด้าน Logistic ถนนชำรุด สูญเสียพลังงาน และเกิดการเคลื่อนย้ายแรงงานออกจากพื้นที่ เป็นต้น
อุตสาหกรรมชีวภาพ ได้ถูกเริ่มในพื้นที่นำร่อง 3 เขต ได้แก่ เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) มีมูลค่าการลงทุน 9,740 ล้านบาท เขตพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง (นครสวรรค์และกำแพงเพชร) มีมูลค่าการลงทุน 51,000 ล้านบาท และเขตพื้นที่ภาคอีสานตอนกลาง (ขอนแก่น)มีมูลค่าการลงทุน 35,030 ล้านบาท

ซึ่งจะส่งผลให้ภาคเกษตรไทยเกิดการปรับตัวด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม เช่น Smart Farming เพิ่มผลผลิตทางการเกษตร ลดต้นทุนการผลิต และสามารถควบคุมปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ให้กับพืชเศรษฐกิจในแต่ละพื้นที่ ตลอดจนให้สามารถสนับสนุนอุตสาหกรรมแปรรูปทางการเกษตรด้วยเทคโนโลยีชีวภาพที่หลากหลาย


จะส่งผลให้เกษตรกร มีรายได้เพิ่มขึ้นจากเดิม 48,000 บาทต่อคนต่อปี เป็นระหว่าง 65,000 ถึง 85,000 บาทต่อคนต่อปี ในปี 2570 สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับเกษตรกรมากกว่า 80,000 ครัวเรือน เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมชีวภาพภายในประเทศ 200,000 ล้านบาท และเกิด High-tech labor / knowledge workers เพิ่มขึ้นมากกว่า 20,000 คน