นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมระดับสูงไทย – ญี่ปุ่น ครั้งที่ 4 เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2461 ณ กรุงโตเกียว โดยมีนายโยชิฮิเดะ สึกะ เลขาธิการคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่น เป็นประธานร่วม การหารือครอบคลุมความร่วมมือยุทธศาสตร์เศรษฐกิจรอบด้าน
ประเด็นแรก ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิกที่ครอบคลุมและก้าวหน้า (CPTTP) ฝ่ายไทยย้ำความมุ่งมั่นในการเข้าเป็นสมาชิก และฝ่ายญี่ปุ่นพร้อมสนับสนุนการเตรียมตัวเข้าเป็นสมาชิกดังกล่าวของไทย ในการประชุม 11 ชาติสมาชิก ระหว่างวันที่ 17-20 กค. 2561 จะมีวาระพิจารณาให้ไทยเข้าร่วมเป็นสมาชิกใหม่
“ไทยพร้อมแล้ว ที่จะเข้าร่วมเป็นสมาชิก เขตการค้าที่สำคัญ เราไม่เข้าไม่ได้ หากไม่เข้า จะเสียหาย” นายสมคิดกล่าว
ประเด็นที่ 2 ความตกลงระหว่างราชอาณาจักรไทยและญี่ปุ่นสำหรับความเป็นหุ้นส่วนเศรษฐกิจ (JTEPA) ทั้งสองฝ่ายย้ำความสำคัญของ JTEPA และมุ่งมั่นจะดำเนินการทบทวนทั่วไป JTEPA ให้แล้วเสร็จ เพื่อยกระดับ JTEPA ให้มีมาตรฐานสูงขึ้นเพื่อเป็นพื้นฐานของหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจระหว่างไทย – ญี่ปุ่น รวมถึงเห็นพ้องว่า จะดำเนินการทบทวนทั่วไป JTEPA เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อทั้งสองฝ่ายและสะท้อนพัฒนาการทางเศรษฐกิจและความร่วมมือระหว่างไทย – ญี่ปุ่น
“เราจะกระโดดข้าม เรื่องสิทธิทางภาษี ไปสู่การเป็นพันธมิตรคู่ค้า”
ประเด็นที่ 3 ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ทั้งสองฝ่ายย้ำศักยภาพอันกว้างไกลของ RCEP และจะร่วมมืออย่างใกล้ชิดเพื่อให้ได้ข้อสรุปเบื้องต้นสำหรับความตกลง RCEP ที่มีมาตรฐานสูง บนพื้นฐานของแถลงการณ์ร่วมของผู้นำในการเจรจา RCEP ในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2560
“เขตการค้าที่ใหญ่ที่สุดในโลกแห่งนี้จะสำเร็จไม่ได้ ถ้าญี่ปุ่นไม่ร่วมผลักดัน” นายสมคิดกล่าว
ประเด็นที่ 4 ความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมเพื่อ Thailand 4.0 และระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ทั้งสองฝ่ายจะร่วมมือกันต่อไปเพื่อยกระดับโครงสร้างอุตสาหกรรมซึ่งรวมถึงการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และการพัฒนาเมืองอัจฉริยะบนพื้นฐานของแนวคิด Connected Industries ในขณะที่ฝ่ายไทยย้ำความมุ่งมั่นในการดำเนินโครงการ EEC และยินดีให้การสนับสนุนช่วยเหลือนักลงทุนญี่ปุ่นใน EEC
“ไทยมีไอเดีย จะสร้าง Thailand ciber port เพื่อสร้างสตาร์ตอัพใหม่ๆ ใน EEC เชื่อมกับ open Inovation columbus ซึ่งเป็นโครงการสร้างสตาร์ตอัพร่วมกัน 2 ประเทศ”
ประเด็นที่ 5 ความร่วมมือระบบราง ทั้งสองฝ่ายมุ่งมั่นที่จะผลักดันความร่วมมือในโครงการพัฒนาระบบรางในไทย ฝ่ายญี่ปุ่นมุ่งมั่นที่จะร่วมมือกับฝ่ายไทยในด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อรองรับอุตสาหกรรมระบบรางในไทย
“ญี่ปุ่นสนใจลงทุนรถไฟฟ้า การบิน และรถไฟทางคู่ เขาเร่งให้ไทยนำเรื่องผลการศึกษารถไฟความเร็วสูง กรุงเทพ-เชียงใหม่ เข้าสู่การพิจารณาใน ครม. สิงหาคมนี้ ซึ่งนายอาคม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม จะรีบดำเนินการในเรื่องนี้ โครงการนี้เดิมเขาอยากจะขายเทคโนโลยีชินคันเซ็น แล้วจบ แต่ฝ่ายไทยอยากให้เขามาร่วมลงทุน ฝ่ายญี่ปุ่นยังติดที่ราคายังแพงอยู่ แม้ว่าจะได้สิทธิพัฒนาที่ดินเชิงพาณิชย์ เชื่อมการพัฒนาเมืองต่างๆ รายทางด้วย” นายสมคิดกล่าว
ทั้งนี้เดิมมูลค่าลงทุน โครงการนี้ประมาณ 4.2 แสนล้านบาท
ประเด็นที่ 6 ยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี – เจ้าพระยา – แม่โขง (ACMECS) ฝ่ายญี่ปุ่นยินดีกับการจัดทำแผนแม่บท ACMECS Master Plan ที่ฝ่ายไทยเป็นผู้ริเริ่มในการประชุมผู้นำ ACMECS ครั้งที่ 8 ที่กรุงเทพฯ และยินดีที่ญี่ปุ่นแสดงความสนใจอย่างยิ่งที่จะร่วมมือกับไทยเพื่อส่งเสริมความร่วมมือประเทศลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่นซึ่งสอดคล้องกับแผนแม่บท ACMECS โดยเฉพาะในช่วงแรกของการบังคับใช้ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก – ตะวันตก (EWEC) และระเบียงเศรษฐกิจตอนใต้ (SEC) ในการนี้ ทั้งสองฝ่ายจะร่วมมือกันอย่างแข็งขันเพื่อส่งเสริมความเชื่อมโยงและการพัฒนาที่ยั่งยืนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง
ประเด็นที่ 7 การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (HRD) ฝ่ายญี่ปุ่นมุ่งมั่นที่จะร่วมมือกับฝ่ายไทยในด้าน HRD ตามข้อริเริ่มความร่วมมือด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ญี่ปุ่น – ไทย โดยเฉพาะการพัฒนาวิศวกรและแรงงานด้านเทคนิคในสาขาเฉพาะต่าง ๆ เพื่อรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย ทั้งสองฝ่ายยืนยันความมุ่งมั่นที่จะร่วมมืออย่างต่อเนื่องเพื่อจัดตั้งสถาบันสำหรับการพัฒนาวิศวกรและบุลคลากรทางเทคนิคในรูปแบบของญี่ปุ่นแห่งแรก หรือ “โคเซ็น” ในไทย
และประเด็นสุดท้าย ความร่วมมือไทย – ญี่ปุ่นในระดับท้องถิ่น ทั้งสองฝ่ายยินดีกับพัฒนาการความร่วมมือในระดับท้องถิ่นระหว่างไทย – ญี่ปุ่น และจะหารือต่อไปเกี่ยวกับสาขาความร่วมมือที่มีศักยภาพเพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมและเกิดประโยชน์ต่อทั้งสองฝ่าย รวมทั้งยินดีต่อการลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนกับจังหวัดมิเอะ
“เราต้องการเจาะเมืองท้องถิ่น เน้นจุดที่มีพลังทางเศรษฐกิจสูง ต้นปีไปฟุโกอะกะ แล้วได้ผลมาก ขณะนี้มีจำนวนนักลงทุนญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น ในอุตสาหกรรมเป้าหมาย เฉพาะอย่างยิ่งใน EEC ที่นาโกยา ซึ่งเป็นเมืองใหญ่อันดับ 3 ครั้งนี้ มีนักลงทุนเข้าร่วม 700 คน” นายสมคิดกล่าว