ประชาสังคมอาเซียน-อินเดียเรียกร้องหยุดเจรจาข้อตกลง RCEP หวั่นกระทบการเข้าถึงยาประชาชนในประเทศกำลังพัฒนา

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่าในสัปดาห์นี้ คณะผู้แทนเจรจาการค้าของ 16 ประเทศกำลังมีการประชุมเจรจาการค้าว่าด้วย “ข้อตกลงความร่วมมือทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership หรือ RCEP)” อีกรอบ ขึ้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นการประชุมแบบปิด ทางผู้เชี่ยวชาญทางด้านสาธารณสุขและองค์การแพทย์ไร้พรมแดน (Médecins Sans Frontières หรือ MSF) ย้ำเตือนว่า ข้อผูกมัดเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาในการเจรจาข้อตกลงการค้าฉบับนี้ จะส่งผลกระทบร้ายแรงต่อการเข้าถึงยาชื่อสามัญในราคาไม่แพง ข้อผูกมัดดังกล่าวเป็นภัยคุกคามการเข้าถึงยาชื่อสามัญราคาต้นทุนต่ำและการรักษาผู้ป่วยนับล้านๆ คนในประเทศกำลังพัฒนา

การเจรจาข้อตกลงการค้า RCEP เริ่มต้นขึ้นเมื่อปี ค.ศ.2012 ระหว่างกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศกับประเทศคู่เจรจาอีก 6 ประเทศ ซึ่งได้แก่ ออสเตรเลีย, จีน, อินเดีย, ญี่ปุ่น, นิวซีแลนด์ และเกาหลีใต้ ประชากรของทั้ง 16 ประเทศที่ร่วมเจรจาข้อตกลงฉบับนี้ มีจำนวนรวมกันเกือบครึ่งหนึ่งของประชากรโลกทั้งหมด ซึ่งรวมถึงกลุ่มประชากรที่ยากจนและเปราะบางที่สุดของโลกด้วย

น.ส.ลีน่า เมกาเนย์ หัวหน้าฝ่ายรณรงค์การเข้าถึงยาในภูมิภาคเอเชียใต้ องค์การแพทย์ไร้พรมแดน กล่าวว่า เราเรียกร้องให้ประเทศต่างๆ ที่กำลังเจรจากันอยู่ ตระหนักถึงชีวิตของผู้คนนับล้านที่แขวนอยู่บนเส้นด้าย ที่โอกาสการเข้าถึงยาชื่อสามัญในราคาไม่แพงจะต้องถูกตัดขาดลงไปเพราะมาตรการทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม

“คนนับล้านๆ คนทั่วโลกต้องพึ่งพายาชื่อสามัญจากประเทศอินเดียเพื่อต่อลมหายใจ และผู้ป่วยเหล่านี้จะหาเงินมาเท่าไรก็ไม่พอซื้อยามากินเพื่อรักษาชีวิตไว้ได้ เพราะมีข้อผูกมัดในข้อตกลงการค้า RCEP เป็นอุปสรรคขัดขวางไม่ให้พวกเขาได้รับการรักษา”

การผูกขาดโดยสิทธิบัตรที่กีดกันการแข่งขันของยาชื่อสามัญ ทำให้ยาชนิดใหม่ที่ใช้รักษาโรคไวรัสตับอักเสบซี วัณโรค และมะเร็ง มีราคาแพงลิบลิ่วไปทั่วโลก ซึ่งเป็นภาวะที่สร้างแรงกดดันด้านงบประมาณให้กับรัฐบาลหลายๆ ประเทศ แม้กระทั่งประเทศที่พัฒนาแล้วก็ตาม ตัวอย่างเช่น ยารักษาโรคไวรัสตับอักเสบซี ที่ชื่อ “โซฟอสบูเวียร์” (Sofosbuvir) ของบริษัทกิลิแอด ที่ขายอยู่ในญี่ปุ่นมีราคาประมาณ 31,000 ดอลลาร์ (992,000 บาท) สำหรับการรักษา 12 สัปดาห์ แต่ยาชนิดเดียวกันที่เป็นยาชื่อสามัญที่ขายในประเทศอินเดีย มีราคาอยู่ที่ประมาณ 87 ดอลลาร์ (2,784 บาท) สำหรับการรักษา 12 สัปดาห์

ทั้งนี้ จากข้อมูลการเจรจาข้อตกลง RCEP ที่หลุดรอดออกมา ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้พยายามผลักดันให้มีการขยายระยะอายุสิทธิบัตรให้ผูกขาดได้นานยิ่งขึ้น และ “การผูกขาดข้อมูลทางยา” ซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งของการควบคุมตลาดผ่านระบบการขึ้นทะเบียนยา ซึ่งจะกีดกันไม่ให้ยาชื่อสามัญขึ้นทะเบียนยาเพื่อขายให้ตลาดได้ แม้ว่ายาชนิดนั้นจะไม่มีสิทธิบัตรหรือหมดอายุสิทธิบัตรไปแล้วก็ตาม ข้อผูกมัดทั้งหมดที่กล่าวมาเป็นการกระทำที่เกินกว่าข้อกำหนดขององค์การการค้าโลก และจะมีผลให้ยาชื่อสามัญผลิตออกมาขายแข่งขันได้ช้าออกไป

นายเฉลิมศักดิ์ กิตติตระกูล ผู้จัดการโครงการ มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวว่า ในการเจรจาข้อตกลงการค้า RCEP ในขณะนี้เหมือนกำลังพยายามที่จะตีเช็คเปล่าให้กับอุตสาหกรรมยายักษ์ใหญ่

“ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ต้องหยุดผลักดันให้มีข้อผูกมัด ที่จะส่งผลให้เกิดการผูกขาดที่ทำให้ยาราคาแพงและขัดขวางไม่ให้รัฐบาลประเทศต่างๆ ออกมาตรการที่จะแก้ไขปัญหาด้านสาธารณสุขของตนเองได้”

อินเดียกำลังเผชิญแรงกดดันที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในการเจรจาข้อตกลง RCEP ให้ยอมรับข้อผูกมัดด้านทรัพย์สินทางปัญญาที่จะสร้างผลกระทบร้ายแรง การเจรจาเช่นนี้จึงน่าเป็นห่วง เพราะการแข่งขันของยาชื่อสามัญที่ผลิตโดยบริษัทยาอินเดียเป็นกลไกสำคัญที่ทำให้ยารักษาเอชไอวีสูตรพื้นฐานมีราคาลดลงถึง 99% นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 2001 เป็นต้นมา เพราะฉะนั้น การเจรจาครั้งนี้ย่อมส่งผลกระทบร้ายต่อศักยภาพการผลิตยาชื่อสามัญราคาไม่แพงของอินเดียแน่นอน และจะส่งผลกระทบต่อประเทศยากจนอื่นๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้อีกด้วย