“เกษตรแปลงใหญ่” เดินตามรอยเท้าพ่อหลวงอย่างพอเพียง จุดเปลี่ยนสู่ความเข้มแข็งของเกษตรกรประมงไทย

รายงาน

การส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่เป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนให้เกษตรกรรายย่อยมีการรวมกลุ่มผลิตสินค้าทางการเกษตรร่วมกัน มีการบริหารจัดการร่วมกันตั้งแต่การผลิต การจัดหาปัจจัยการผลิต รวมถึงการจำหน่าย ซึ่งจะทำให้เกษตรกรสามารถลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต ยกระดับสินค้าให้ได้มาตรฐาน และสามารถแข่งขันในตลาดภายใต้การสนับสนุนอย่างบูรณาการของหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และเกษตรกร ในการพัฒนาการผลิตสินค้าสัตว์น้ำอย่างยั่งยืนตามหลักการบริหารตามแนวประชารัฐ

นายมีศักดิ์ ภักดีคง รองอธิบดีกรมประมง กล่าวว่า ในปี 2560 กรมประมงได้เตรียมแผนดำเนินการโครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่โดยส่งเสริมให้มีการรวมกลุ่มเกษตรกรรายย่อยในพื้นที่ในการวางระบบการผลิตและบริหารจัดการการลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ในปี 2560 กรมประมงตั้งเป้าหมายรวมกลุ่มแปลงใหญ่เพิ่มขึ้น จำนวน 18 แปลง รวมแปลงเดิมในปี 2559 จำนวน 7 แปลง รวมเป็น 25 แปลง (ปัจจุบันมีการเข้าร่วมโครงการฯ 27 แปลงซึ่งเกินจากเป้าหมายที่กำหนดไว้)มีเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ จำนวน 2,450 ราย มีพื้นที่เข้าร่วมโครงการฯ จำนวน 33,993 ไร่ ครอบคลุมในเขตพื้นที่ต่างๆ อาทิ พื้นที่ในเขตชลประทาน พื้นที่ปฏิรูปที่ดิน พื้นที่ในเขตสหกรณ์นิคม และพื้นที่เกษตรทั่วไปโดยมีเจ้าหน้าที่ กรมประมงร่วมเป็น “ผู้จัดการแปลง” มีหน้าที่ประสาน สนับสนุน อำนวยความสะดวกในการพัฒนาสมาชิกในแปลงใหญ่มาร่วมกำหนดเป้าหมายการผลิต และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตทุกขั้นตอนจนถึงการเชื่อมโยงตลาดกับภาคเอกชนแบบประชารัฐเพื่อให้เกษตรกรมีความมั่นคงในอาชีพการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและสามารถประกอบอาชีพการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำได้

ร.ต.สมพงษ์ ไชยสง เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจังหวัดขอนแก่น เล่าถึงเส้นทางการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำว่า เดิมผมรับราชการทหารและได้ลาออกจากราชการเมื่อปี 2548 หลังจากนั้นได้นำเงินที่เก็บสะสมมาซื้อที่ดินจำนวน 14 ไร่ บริเวณบ้านหนองนางขวัญ ตำบลเมืองเพีย จังหวัดขอนแก่น เนื่องจากเล็งเห็นว่ามีคลองส่งน้ำ ด้วยพลังงานไฟฟ้าไหลผ่าน อีกทั้งพื้นที่ดังกล่าวอยู่ติดกับแก่งละว้าที่ถือว่าเป็นพื้นที่แก้มลิงของจังหวัดขอนแก่นผมจึงมีแนวคิดที่จะทำการเกษตรแบบผสมผสานกับการเลี้ยงปลา ผมเริ่มศึกษาความรู้ข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเพาะเลี้ยงปลาและทำการเกษตรแบบผสมผสานจากหน่วยงานของประมงในพื้นที่ อาทิ การใช้เทคโนโลยีชีวภาพในการเลี้ยงปลา การทำปุ๋ยชีวภาพ การทำอาหารปลาแบบพื้นบ้านเพื่อลดต้นทุนการผลิต ตลอดจนการเลี้ยงสัตว์น้ำแบบไม่ใช้ยาและสารเคมี อีกทั้งฟาร์มเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำยังเป็นฟาร์มระบบปิด ซึ่งแสดงให้เห็นถึงกระบวนการผลิตของฟาร์มที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เนื่องจากจะไม่มีการปล่อยของเสียออกนอกฟาร์ม

ปัจจุบันฟาร์มของผมมีเนื้อที่ทั้งหมด 56 ไร่และได้ยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงของพ่อหลวงรัชกาลที่ 9 มาปรับใช้เป็นแนวทางหลักในการพัฒนาฟาร์มโดยภายในฟาร์มได้เลือกปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำเศรษฐกิจที่เป็นที่ต้องการของตลาดหลากหลายชนิด อาทิ ปลานิล ปลาตะเพียนขาว ปลาช่อน เป็นต้น แต่เนื่องจากพื้นที่ฟาร์ม เป็นพื้นที่ดินเค็มผมจึงนำกุ้งขาวแวนนาไมและปลากะพงขาวมาเลี้ยงในบ่อเพื่อสร้างความหลากหลายให้กับสินค้าภายในฟาร์มของผมมากยิ่งขึ้น ในช่วงปี 2559 ทางฟาร์มได้ผลผลิตปลาและกุ้งขาวทั้งหมดรวม 11,950 กก. แบ่งเป็น ปลานิล 9,000 กก. ปลาตะเพียนขาว 2,000 กก. ปลากะพงขาว 400 กก. กุ้งขาว 550 กก. รวมรายได้ก่อนหักค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 740,000 บาท นอกจากนี้ผมยังปลูกพืชผักสวนครัว เลี้ยงเป็ด ห่าน และไก่ เพื่อสร้างรายได้เพิ่มเติมอีกทางหนึ่งด้วย ต้องยอมรับว่าปัจจุบันผมมีรายได้เลี้ยงครอบครัวและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นจากในอดีต

หลังจากที่ผมทำอาชีพเกษตรกรรมและมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นในระดับหนึ่งแล้ว เริ่มมีพี่น้องและประชาชนในพื้นที่หันมาศึกษาดูงานมากยิ่งขึ้นผมจึงมีแนวคิดที่จะรวมตั้งกลุ่มเลี้ยงปลาบ้านหนองนางขวัญขึ้นเมื่อปี 2556 โดยมีผมรับหน้าที่เป็นประธานกลุ่ม หลังจากนั้นผมได้รับความไว้วางใจจากหน่วยงานราชการให้เป็นเกษตรอาสาและประมงอาสาประจำตำบลเมืองเพีย อีกทั้งยังได้มีโอกาสเป็นวิทยากรไปถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำโดยใช้ฟาร์มของผมเป็นศูนย์เรียนรู้ด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำให้แก่เกษตรกรและผู้สนใจอีกด้วย ล่าสุดในปี 2558 กลุ่มผู้เลี้ยงปลาบ้านหนองนางขวัญได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับ 3 ในการประกวดกลุ่มเศรษฐกิจต้นแบบจากจังหวัดขอนแก่น ปัจจุบันฟาร์มของผมได้เข้าร่วมโครงการเกษตรแบบแปลงใหญ่อีกทั้งได้เป็นเครือข่ายในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารของทางภาครัฐให้เกษตรกรในพื้นที่ได้ทราบอีกด้วย


นายมีศักดิ์ ภักดีคง รองอธิบดีกรมประมง กล่าวในตอนท้ายว่า การรวมกลุ่มทำการเกษตรแบบแปลงใหญ่ จะก่อให้เกิดขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ขึ้น (Economy of Scale) แต่ทั้งนี้จะต้องเกิดจากความพร้อมใจกันของเกษตรกร ชุมชนต้องมีความเข้มแข็งที่สำคัญคือความเสียสละเพื่อส่วนรวม ความโปร่งใสในการบริหารจัดการ จะต้องทำให้เห็นความสำเร็จเป็นตัวอย่างจริง กรมประมงจึงขอเชิญชวนให้เกษตรกรหันมารวมกลุ่ม กันทำเกษตรแปลงใหญ่ เพื่อช่วยกันร่วมพัฒนาคุณภาพสินค้าเกษตรให้ตรงตามความต้องการของตลาด ตลอดจนให้เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น