“พาณิชย์” เดินหน้าเปิดงานโครงการประชารัฐ 4 ตั้งเป้าจัดให้ครบ 10 จังหวัดยากจนภายในปี’61

“พาณิชย์” เดินหน้าเปิดงานโครงการประชารัฐ 4 สร้าง เป้าหมายจัดให้ครบ 10 จังหวัดยากจนภายในปี 2561 นี้  หลังจากสร้างอาชีพ เพิ่มรายได้ให้เกษตรกร ประชาชนกินดี อยู่ดีได้มากขึ้น

นายวิเชียร ชวลิต ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์  กล่าวระหว่างเป็นประธานเปิดงานโครงการประชารัฐ  โดยการขับเคลื่อนไทยนิยม ยั่งยืน “สร้างงาน สร้างตลาด สร้างโอกาส สร้างรายได้”  จังหวัดน่าน ว่า  โครงการประชารัฐ 4 สร้าง คือ สร้างงาน สร้างตลาด สร้างโอกาส สร้างรายได้นี้ เป็นนโยบายหนึ่งที่รัฐบาลให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก โดยเป้าหมายเพื่อช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย เกษตกร ให้มีความเข้มแข็ง มีโอกาสสร้างอาชีพ ลดค่าใช้จ่าย รวมไปถึงช่วยเหลือผู้ประกอบการชุมชนในการเพิ่มรายได้อีกด้วย

โดยนโยบายดังกล่าว กระทรวงพาณิชย์ได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปลายปี 2560 จนถึงปัจจุบัน โดยมีต้นแบบอยู่ที่จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งโครงการที่ผ่านมาประสบผลสำเร็จ อย่างมาก สามารถเพิ่มรายได้ ลดค่าใช้จ่าย และเพิ่มคุณภาพชีวิต ให้กับประชาชน เกษตรกรที่มีรายได้น้อย ดังนั้น การจัดโครงการดังกล่าว กระทรวงจึงมุ่งเน้นที่จะเดินหน้าช่วยเหลือ 10 จังหวัดที่มีรายได้น้อยที่สุดของประเทศ ให้มีการเติบโตให้มากที่สุด และการเดินหน้าจัดงานที่จังหวัดน่านนี้ เป็นจังหวัดที่ 6 จาก 10 จังหวัดและถือเป็นการจัดงานครั้งที่ 4 ที่กระทรวงพาณิชย์ได้ดำเนินการมา

และที่ผ่านมากระทรวงพาณิชย์ไดเเดินหน้าจัดงานไปแล้ว 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดอำนาจเจริญ บุรีรัมย์  พัทลุง ปัตตานี และนราธิวาส  อย่างไรก็ดี ในอีกจังหวัดที่เหลือ กระทรวงพาณิชย์ก็จะดำเนินการจัดงานต่อเนื่องให้ครบตามเป้าหมายให้แล้วเสร็จภายในปี 2561 นี้ สำหรับ 10 จังหวัดยากจนได้แก่ แม่ฮ่องสอน นราธิวาส ปัตตานี กาฬสินธุ์ นครพนม ชัยนาท ตาก บุรีรัมย์ อำนาจเจริญ และน่าน นอกจากนี้ เพื่อส่งเสริมผู้มีรายได้น้อย กระทรวงพาณิชย์ก็ต้องการส่งเสริมผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐในการเพิ่มโอกาสด้านอาชีพและรายได้ด้วย

ทั้งนี้ การการจัดงานครั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ยังได้ร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตร ในการช่วยส่งเสริมการสร้างงาน สร้างอาชีพให้กับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ผู้มีรายได้น้อย และประชาชนทั่วไป โดยแต่ละหน่วยงานได้เข้ามาช่วยสอนทำอาชีพแบบง่ายๆ การแนะนำการทำธุรกิจผ่านการลงทุนในธุรกิจแฟรนไชส์ที่ใช้เงินลงทุนไม่มาก ประมาณ 50,000 บาท เป็นต้น นอกจากนี้ ยังได้นำกลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่ได้รับการพัฒนาศักยภาพและการประกอบธุรกิจมาจัดแสดงให้กับผู้ที่สนใจ โดยสถาบันการเงินของรัฐ ได้แก่ ธนาคารออมสิน ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) พร้อมที่จะให้การสนับสนุนด้านเงินทุนด้วย

นายวิเชียร กล่าวอีกว่า งานครั้งนี้ ยังได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชน เช่น บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) ที่เข้ามาช่วยส่งเสริมอาชีพผู้มีรายได้น้อยในรูปแบบร้าน Pork Shop และจัดจำหน่ายสินค้าราคาประหยัด ขณะที่ศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัดน่าน (สพจ.น่านประสานงาน) ได้ช่วยอบรมด้านการพัฒนาฝีมือแรงงาน และมหาวิทยาลัยเทคโนโยลีราชมงคลล้านนา ให้คำปรึกษา แนะนำ องค์ความรู้ เทคโนโลยี นวัตกรรมการพัฒนาสินค้าและบริการ ความรู้และการอบรมบ่มเพาะผู้ประกอบการ เป็นต้น

ส่วนกิจกรรมภายในงานอื่นๆ ที่หน่วยงานพันธมิตรได้ร่วมกันจัดให้กับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและผู้มีรายได้น้อย เช่น การให้คำแนะนำการเริ่มต้นทำธุรกิจ การหาตลาดและคู่ค้า การจดลิขสิทธิ์ สิทธิบัตร และเครื่องหมายการค้า มาตรการความช่วยเหลือจากธนาคารของรัฐ ซึ่งได้รับความสนใจเป็นอย่างมากเช่นเดียวกัน อีกทั้ง กระทรวงฯ ยังได้นำสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อการครองชีพมาจำหน่ายในราคาพิเศษและถูกกว่าท้องตลาดทั่วไป และมีสินค้าราคาพิเศษ  พร้อมกันนี้ กรมทรัพย์สินทางปัญญา ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาขึ้นทะเบียน สินค้าสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ของจังหวัดน่าน เช่น ส้มสีทองน่าน ญอกมละบริน่าน (ถุงย่ามของชาวมละบริ) เงาะทุ่งช้าง และลำไยพญาแก้ว ที่จะเป็นการเพิ่มมูลค่าสินค้าได้ในอนาคต