ยำใหญ่กฎหมายขยะอิเล็กทรอนิกส์ โยนผู้ผลิต-คนซื้อรับภาระ

ภาพจาก แฟ้มภาพ
3″กฤษฎีกา” ยำใหญ่ ร่าง พ.ร.บ.กำจัดซากผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ สอท.-นักวิชาการรุมค้านร่างใหม่หวั่นไม่ตรงเจตนารมณ์รับผิดชอบร่วมกัน เลิกตั้งกองทุนกำจัดซาก โยนให้ผู้ผลิต-ผู้บริโภครับภาระ ชี้คุมเครื่องใช้ไฟฟ้าแค่ 5 รายการ สวนทางขยะดิจิทัลท่วมประเทศปีละ 4 แสนตัน

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานความคืบหน้าในการแก้ไข ร่าง พ.ร.บ.การกำจัดซากผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. …. ซึ่งมีความตื่นตัวกันมากทั้งภาครัฐและเอกชน หลังจากที่เกิดเหตุการณ์ประเทศไทยกลายเป็นสถานที่ “กำจัด” เศษซากไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์จากการนำเข้าว่า คณะกรรมการกฤษฎีกาได้ปรับเปลี่ยนและแก้ไขในสาระสำคัญจน “แตกต่าง” ไปจากร่าง พ.ร.บ.ฉบับเดิมที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ทำ “ประชาพิจารณ์” ร่วมกับภาคเอกชนไปแล้วอย่างมีนัยสำคัญ โดยร่างฉบับแก้ไขของกฤษฎีกากำลังอยู่ระหว่างบรรจุเข้าเป็นวาะเพื่อเสนอต่อ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)

ล่าสุดตัวร่างแก้ไข พ.ร.บ.การกำจัดซากผลิตภัณฑ์ฯฉบับของคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้ถูกนำมาหารือกับกลุ่มอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องในสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้า/อิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม, กลุ่มเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น และกลุ่มอุตสาหกรรมเพื่อการจัดการสิ่งแวดล้อม โดยที่ประชุมมีมติ ไม่รับร่างแก้ไขฉบับดังกล่าว และขอให้กลับไปใช้ร่างเดิม

“ร่างกฎหมายกำจัดซากเครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์มีความพยายามยกร่างมาไม่ต่ำกว่า 10 ปีแล้ว โดยอยู่ภายใต้หลักการสำคัญที่กำหนด “ความรับผิดชอบให้กับทุกส่วน หรือ Extended Producer Resposibility : EPR” เพราะปัจจุบันจำนวนซากขยะอิเล็กทรอนิกส์มีเพิ่มมากขึ้นจาก 130,000 ตันในปี 2555 เป็น 390,000 ตันในปี 2559 หากไม่มีการจัดการอย่างถูกวิธี อาจกลายเป็นปัญหาทำให้สารอันตรายและโลหะหนักที่ถูกนำไปทิ้งปะปนขยะทั่วไป กระจายสร้างปัญหาต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพคนไทยต่อไป” แหล่งข่าวกล่าว

ร่างเดิมทุกคนรับผิดชอบร่วมกัน

สำหรับสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.การจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์และซากผลิตภัณฑ์อื่น พ.ศ. …. ซึ่งเป็นร่างที่สภาอุตสาหกรรมฯ เรียกร้องให้นำกลับมาใช้ มีทั้งหมด 54 มาตรา มีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดแนวทางการ “กำกับดูแล” การจัดการซากขยะไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์แบบ “ให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม” กล่าวคือภายใน 1 ปีแรก กำหนดให้ผู้ผลิต ผู้จัดจำหน่าย เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ จะต้องขึ้นทะเบียนกับกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) จัดส่งแผนความรับผิดชอบในการจัดการซากผลิตภัณฑ์ที่ตัวเองผลิตและจำหน่าย และมีส่วนรับผิดชอบ “ค่าใช้จ่าย” ในการกำจัดซาก โดยจ่ายเงินสมทบเข้า “กองทุนสิ่งแวดล้อม” ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมฯ

เพื่อนำเงินมาใช้เป็นค่าบริหารจัดการสนับสนุนค่าใช้จ่ายของ “ศูนย์รับคืนซาก” สนับสนุนการวิจัยและพัฒนาเรื่องการนำกลับมาใช้ใหม่และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ พร้อมกำหนดให้ตั้ง “ศูนย์ข้อมูลซากผลิตภัณฑ์” ขึ้นในกรมควบคุมมลพิษ การจัดทำระบบในการบริหารจัดการซากขยะเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

ส่วนการทิ้ง รับคืน รวบรวม และขนส่งซาก กำหนดให้องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น มีหน้าที่จัดให้มี “ศูนย์รับคืนซาก” ขึ้นจังหวัดละ 1 แห่ง ในพื้นที่กรุงเทพฯจัดให้มีเขตละ 1 แห่ง อาจกำหนด

เอกชนเป็นผู้ดำเนินการ

กฤษฎีกาแก้หลักการสำคัญ

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ส.อ.ท.ได้มอบให้กลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ และโทรคมนาคม จัดทำความเห็นเพื่อเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ภายใน 1-2 สัปดาห์นี้ โดยประเด็นที่ภาคเอกชนกังวลก็คือ ร่าง พ.ร.บ.การจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์และซากผลิตภัณฑ์อื่น พ.ศ. …. ฉบับที่ผ่านประชาพิจารณ์ร่วมกันมาแล้วนั้น หลังเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้มีการปรับแก้ไขในส่วนที่เป็นสาระสำคัญ จากเดิมที่มีอยู่ 54 มาตรา เหลือ 34 มาตรา โดยเฉพาะเรื่องว่าด้วย “ความรับผิดชอบในการจัดการซากผลิตภัณฑ์”

“ถ้าเราปล่อยให้มีการบังคับใช้เป็นกฎหมายออกมาก็จะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ที่มีส่วนสำคัญในการสร้าง GDP ประเทศถึง 20% มูลค่าตลาดไม่ต่ำกว่าปีละ 1.9 ล้านล้านบาท” นายสุพันธุ์กล่าว

ทั้งนี้ การตัดมาตราที่เป็นปัญหาในความเห็นของสภาอุตสาหกรรมฯก็คือ มาตราที่ว่าด้วยความรับผิดชอบจากซากผลิตภัณฑ์ ซึ่งเดิมกำหนดให้มี กองทุน และกำหนดให้เอกชนทั้งผู้ผลิต-ผู้จัดจำหน่าย-โรงงานต้องขึ้นทะเบียน จ่ายเงินเข้ากองทุนและรับผิดชอบบริหารจัดการ แต่ร่างใหม่ได้ตัดมาตรานี้ออกไปทั้งหมด เขียนไปว่า “ให้เฉพาะผู้ผลิตต้องมาบริหารจัดการซากผลิตภัณฑ์กันเอง” ซึ่งในประเด็นนี้จะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการ SMEs “อาจทำไม่ได้”

และจะต้องได้รับโทษที่รุนแรงขึ้น ทั้งยังกำหนดให้เป็นโทษอาญา มีอัตราค่าปรับที่สูงขึ้น จากร่างเดิมที่กำหนดไว้ 100,000-200,000 บาท ก็ปรับขึ้นเป็นสูงสุด 500,000 บาท และยังมีโทษจำคุก

อีก 2 ปีด้วย

เสนอกลับมาใช้ร่างเก่า

สำหรับความเห็นของกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ที่เสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ที่มีต่อร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ มีทั้งหมด 5 ประการ คือ 1) กำหนดให้กองทุนบริหารจัดการซากอิเล็กทรอนิกส์ บริหารจัดการ โดยมีการจัดการเงินกองทุนโดยภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ตั้งศูนย์รับคืนซาก (มาตรา 4-5) 2) กำหนดให้มี คณะกรรมการจัดการซากผลิตภัณฑ์ เพื่อบริหารจัดการกองทุน 3) ไม่เห็นด้วยกับมาตรา 14 ของฉบับกฤษฎีกาแก้ไขที่กำหนดให้ผู้ผลิตต้องรับคืนซาก ไม่ว่าจะเป็นของรายใดหรือเลิกกิจกรรมไปแล้วก็ตาม ซึ่งถือว่าไม่เป็นธรรมกับ

ผู้ผลิต 4) ขอให้คงข้อความในหมวด 3 การจัดการซากผลิตภัณฑ์ มาตรา 21-28, 29, 31 และ 4) ให้เพิ่มมาตรา 13 เดิมเกี่ยวกับการกำหนดผลิตภัณฑ์ที่ถูกควบคุม โดยให้เพิ่มมาตรา 5 ของฉบับปัจจุบัน ซึ่งกำหนดผลิตภัณฑ์ที่ควบคุมไว้เพียงคอมพิวเตอร์, เครื่องโทรศัพท์และโทรศัพท์ไร้สาย, เครื่องปรับอากาศ, เครื่องรับโทรทัศน์, ตู้เย็น และผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ตามที่กำหนด เพื่อความสมบูรณ์ของเนื้อหา

ดร.สุจิตรา วาสนาดำรงดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า กฎหมายฉบับที่ผ่าน ครม.นั้นได้มีการหารือกับทุกภาคส่วนแล้ว หากจะมีการแก้ไขในสาระสำคัญอื่นก็ควรไปตั้งกระทู้ใน สนช. เพราะขณะนี้มีการเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญถึง 9 ประเด็น

ผู้ผลิตรับต้นทุนพุ่ง

ขณะที่ นางกนิษฐ เมืองกระจ่าง ประธานกรรมการบริหาร บริษัท โตชิบา ไทยแลนด์ จำกัด กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้แม้จะผ่านความเห็นชอบของ ครม.ไปแล้ว แต่ก็เป็นเพียง “กรอบกว้าง ๆ เท่านั้น” ในรายละเอียดยังต้องมีการเจรจากันอีกนาน เนื่องจากยังไม่มีความชัดเจนในหลายด้าน โดยเฉพาะผู้ที่จะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการจัดการซาก ซึ่งมีความเป็นไปได้ 2 ฝ่าย คือ ผู้ผลิต-นำเข้า กับผู้บริโภค รวมถึงผู้ที่จะรับหน้าที่จัดการซาก ซึ่งแต่ละประเทศมีมาตรการแตกต่างกัน ส่วนเรื่องการให้ผู้ประกอบการจ่ายเงินเข้ากองทุนนั้นมองว่า เป็นมาตรการชั่วคราว ซึ่งอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้

นอกจากนี้ ยังมีปัญหาเรื่องผู้นำเข้า ซึ่งมีรายย่อยจำนวนมากที่สั่งสินค้าเข้ามาขายด้วยตนเอง ซึ่งหาก กม.บังคับใช้อาจต้องมีการลงทะเบียนเพื่อให้เข้ามาอยู่ในระบบในขณะที่ผู้ประกอบการรายอื่นนั้นมีการเตรียมรับมือแตกต่างกันออกไป โดย นายรัชตะ สุทธาพัฒน์ธานนท์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท อีเลคโทรลักซ์ ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า ได้วางแผนเอาไว้ตั้งแต่ 2 ปีก่อน โดยจะให้ “ดีลเลอร์” รับซากสินค้าจากผู้บริโภคมาส่งให้กับบริษัท ซึ่งจะจ้างเอาต์ซอร์ซที่เชี่ยวชาญด้านนี้มารับหน้าที่จัดการซากอีกต่อหนึ่ง ซึ่งค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจะลดค่าใช้จ่ายส่วนอื่นแทน เพื่อคงราคาสินค้า

เช่นเดียวกันกับ นายฉันท์ชาย พันธุฟัก ผู้จัดการฝ่ายขายและการตลาด บริษัท ไฮเซ่นส์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า หาก กม.ฉบับนี้บังคับใช้ก็อาจมีผลกระทบกับ “ต้นทุน” สินค้า อย่างไรก็ตาม ทีวีเป็นสินค้าที่มีการปรับเปลี่ยนราคาตลอดเวลาอยู่แล้ว และมีการแข่งขันราคาสูง ทำให้ผลกระทบอาจเห็นได้ในการจัดโปรโมชั่นโดยอาจไม่สามารถลดราคาได้ดุเดือดเหมือนเดิม

ล่าสุด นางสุวรรณา เตียรถ์สุวรรณ รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวถึงความคืบในการยกร่างกฎหมายว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการขอความเห็นจากกระทรวงมหาดไทย เนื่องจากมีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งยังแก้ไขได้ ยืนยันว่าประเด็นการแก้ไขร่างกฎหมายเป็นไปตามหลักการและเจตนารมณ์เดิมที่ลดมาตรา เพื่อไม่ให้เป็นภาระทุกภาคส่วน