ไทยยื่น “หลักฐานใหม่” โต้ “เหมืองอัครา” รั่วซึมจริง

แฟ้มภาพ

คอลัมน์ แตกประเด็น

โดย มิติประชาชาติ

จากกรณีที่เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและแก้ไขปัญหา ข้อขัดแย้ง ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพจากการทำเหมืองแร่ทองคำของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ซึ่งมี นายพสุ โลหารชุน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธาน มีมติว่า “บ่อกักเก็บกากแร่ที่ 1 (TSF1) ของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส บริษัทลูกคิงส์เกตฯ มีการรั่วซึม” เชื่อเป็นสาเหตุการแพร่กระจายของโลหะหนัก เพิ่มเติมจากโลหะหนักที่อาจเกิดอยู่แล้วตามธรรมชาติ

ประเด็นนี้ทำให้เกิดคำถามว่า”ผลการศึกษา” น่าจะเป็น “หลักฐานใหม่” ซึ่งจะมีผลอย่างไรต่อการพิจารณาข้อพิพาทจากการที่ บริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด ลิมิเต็ด บริษัทแม่ของอัคราฯที่ยื่นคำเสนอข้อพิพาท (statement of claim) รัฐบาลไทย เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2560 โดยอาศัยความตกลงเขตการค้าเสรีระหว่างไทย-ออสเตรเลีย (TAFTA) ระบุว่า การออกประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 72/2559 เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2559 ที่ระงับการอนุญาตให้ประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำของบริษัทอัคราฯ ส่งผลกระทบต่อการประกอบธุรกิจ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างกระบวนการอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ ดำเนินการรวบรวมข้อมูล และพิจารณาหลักฐานต่าง ๆ โดยคณะผู้พิจารณา (panel)

ซึ่งระหว่างนี้ ฝ่ายไทยโดยกระทรวงอุตสาหกรรมกำลังรวบรวมข้อมูลเอกสารข้อเท็จจริง ยื่นแก้คำฟ้อง (statement of defence) ให้กับทางอนุญาโตตุลาการภายในวันที่ 2 พฤศจิกายน 2561อาจกล่าวได้ว่า หลักฐานใหม่มีความน่าเชื่อถือได้หรือไม่ ? เพราะมาจากคณะกรรมการชุด ประกอบด้วยหน่วยงานภาครัฐ นักวิชาการ องค์กรพัฒนาเอกชน ภาคประชาชน และผู้แทนของบริษัทอัคราฯ และได้มีการรับฟังและพิจารณาจากรายงานผลการศึกษาโครงการ “การสำรวจตรวจสอบโอกาสการรั่วไหลของสารพิษจากบ่อกักเก็บกากแร่ที่ 1 (TSF1) ของเหมืองทองคำ บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) จังหวัดพิจิตร”

โดยมี ผศ.ดร.ธนพล เพ็ญรัตน์ มหาวิทยาลัยนเรศวร และคณะ เป็นผู้ศึกษา พบข้อบ่งชี้ว่า มีความผิดปกติทางความต้านทานไฟฟ้าแสดงถึงการรั่วไหลของน้ำเหมืองจากบ่อกักเก็บกากแร่ที่ 1 และพบความผิดปกติของธรณีเคมีร่วมกับไอโซโทป มีร่องรอยการไหลของน้ำเหมืองจากบ่อกักเก็บกากแร่ที่ 1 ไปถึงบ่อสังเกตการณ์ และบริเวณนาข้าวตามที่มีการร้องเรียนจากชาวบ้าน ประกอบกับข้อมูลการเพิ่มความถี่ในการเฝ้าระวังคุณภาพน้ำผิวดินและน้ำใต้ดินอย่างต่อเนื่องของกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) และรายงานการตรวจวัดคุณภาพสิ่งแวดล้อมของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ที่พบว่า ภายหลังหยุดการประกอบกิจการในปี 2560-2561 คุณภาพน้ำผิวดินและน้ำบ่อสังเกตการณ์มีค่าโลหะหนักเกินเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด และเมื่อตรวจสอบข้อมูลทางด้านเทคนิคเกี่ยวกับการก่อสร้างบ่อกักเก็บกากแร่ พบว่า น้ำในบ่อกักเก็บกากแร่สามารถซึมผ่านชั้นดินเหนียวได้ หลังจากมีการใช้งานไปแล้วประมาณ 1 ปี อีกทั้งพบว่าคุณภาพน้ำในบ่อ seepage ซึ่งรองรับน้ำซึมใต้ชั้นดินเหนียว และน้ำในบ่อ underdrain มีคุณสมบัติของน้ำใกล้เคียงกัน

นอกจากนี้ ข้อมูลการประเมินพื้นที่เสี่ยงต่อการแพร่กระจายของโลหะหนักในพื้นที่รอบเหมืองแร่ทองคำของ กพร. ซึ่งใช้ข้อมูลคุณภาพน้ำใต้ดินของบริษัท อัคราฯ ในปี 2544-2558 ที่คณะทำงานย่อยประมวลผลข้อมูลและวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมให้การรับรองแล้ว เปรียบเทียบกับข้อมูลคุณภาพน้ำใต้ดินช่วงหยุดการประกอบกิจการทำเหมืองและโลหกรรม ในปี 2560-2561 ที่บริษัท อัคราฯ รายงานต่อ กพร. พบว่า ภายหลังการหยุดการทำเหมือง ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 72/2559 พื้นที่เสี่ยงที่มีการกระจายตัวของแมงกานีส สารหนู และเหล็ก เพิ่มขึ้นจากปี 2544-2558

ทั้งหมดนี้ ทำให้คณะกรรมการยืนยันว่าการพิจารณาอย่างถี่ถ้วนทั้งจากรายงานทางวิชาการ และข้อมูลข้อเท็จจริงจากการตรวจสอบที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ จึงมีมติดังกล่าว แต่ทว่าผู้แทนของบริษัทอัคราฯ จะไม่เห็นด้วยกับประเด็นนี้ ในมุมมองของผู้เชี่ยวชาญด้านการค้าระหว่างประเทศ ยังไม่มั่นใจในน้ำหนักของหลักฐานใหม่ เพราะ 1) ผลการศึกษาออกมาช้าเกินไป เกิดขึ้นหลังจากเหมืองปิดไปหลายปีแล้ว และ 2) การพิจารณาดำเนินการโดยคณะกรรมการที่เป็นหน่วยงานภาครัฐของไทย ซึ่งเป็นผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย

แต่อย่างไรก็ตาม การรวบรวมหลักฐานข้อเท็จจริงในระหว่างนี้สามารถดำเนินการได้ต่อเนื่อง เพราะกระบวนการพิจารณาไม่ได้กำหนดกรอบระยะเวลา หากไทยมีโอกาสก็ควรรวบรวมหลักฐานให้มากที่สุด เพื่อต่อสู้ในคดีนี้ ซึ่งมีความเสี่ยงสูงหากเทียบกับคดีเก่าในประวัติศาสตร์ทางดอนเมืองโทลล์เวย์ และโฮปเวลล์ และที่สำคัญเราเพลี่ยงพล้ำตั้งแต่เปิดให้ยื่นคำร้องตามข้อบทการลงทุน TAFTA แล้ว เพราะในข้อบทนี้ การระงับข้อพิพาทโดยใช้อนุญาโตตุลาการ (ISDS) ยังเป็นระบบเก่า ซึ่งหากเข้าระบบ ISDS แล้วใครแพ้ก็จะไม่มีสิทธิอุทธรณ์ ต่างจากระบบใหม่ที่ให้อุทธรณ์ ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงหลังจากการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ภาคพื้นแปซิฟิก (TPP) เป็นต้นมา และรัฐบาลหลายประเทศที่มีข้อพิพาทลักษณะนี้ก็จะยื่นค้านตั้งแต่แรกเหมือนกรณีที่รัฐบาลจีนยื่นค้านฟิลิปปินส์ฟ้องเรื่องทะเลจีนใต้ แต่ที่ไทยไม่ยอมยื่นค้านเหมือนกับจีน เพราะเกรงว่าอาจเสียภาพลักษณ์เรื่องการส่งเสริมการลงทุน ที่ต่างประเทศจะมองว่าไทยไม่ยอมรับระบบ ISDS