เอกชนชง ”เมด อิน ไทยแลนด์” วาระแห่งชาติ ย้ำสินค้าไทยมีมาตรฐาน หนุนจัดซื้อจัดจ้างผลิตในไทย

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรม (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ได้มอบให้ศูนย์พัฒนาอุตสาหกรรมเพื่อความเป็นเลิศ(ไออีซี) ศึกษามาตรการและแนวทางส่งเสริมการใช้สินค้าไทย หรือ เมด อิน ไทยแลนด์ เพื่อเป็นวาระแห่งชาติ ที่จะไม่ขัดกับระเบียบองค์การการค้าโลก(ดับบลิวทีโอ) โดยจะสรุปภายใน 1 เดือน เพื่อนำเสนอรัฐบาลพิจารณาและให้การสนับสนุนต่อไป เนื่องจากปัจจุบันการค้าโลกเปลี่ยนไปมีสงครามการค้าเกิดขึ้นที่อาจทำให้สินค้าต่างชาติไหลบ่าเข้าไทย ซึ่งสินค้าไทยเองส่วนใหญ่มีมาตรฐานไทย ควรสนับสนุนการใช้ในประเทศ เพื่อเป็นเกราะป้องกันให้กับเศรษฐกิจไทย

นายสุพันธุ์ กล่าวว่า แม้จะมี พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างที่มีข้อกำหนดส่งเสริมการใช้สินค้าไทยอยู่แล้ว อาทิ หากมีผู้ยื่นเสนอขายสินค้าให้กับรัฐที่เป็นของไทยเกิน 3 ราย หากมีราคาสูงกว่าต่างชาติไม่เกิน 10% และมีมาตรฐานตรงตามที่กำหนดจะต้องใช้สินค้าไทย แต่ที่ผ่านมา มีการดำเนินการตามแนวทางนี้น้อยมาก ดังนั้น อยากให้รัฐบาลเพิ่มความเข้มงวด และออกมาตรการใหม่ๆส่งเสริมการใช้สินค้าไทยที่ไม่ขัดกับกติกาของดับบลิวทีโอ

“เบื้องต้น อาจจัดทำซอฟท์แวร์ หรือแอพพลิเคชั่น พร้อมทั้งจัดทำเรตติ้ง ของบริษัทผู้ผลิตสินค้าของคนไทย ว่าได้รับความนิยมมากเพียงไร และมีการรีวิวสินค้าจากผู้ใช้ เพื่อให้หน่วยงานราชการ และเอกชน เข้ามาเลือกซื้อสินค้าผ่านแอพลิเคชัน และรับรู้รายละเอียดต่างๆ ซึ่งจะเป็นช่องทางให้ผู้ขายสินค้าของคนไทยเข้าถึงผู้ซื้อทั้งภาครัฐและเอกชนได้มากขึ้น”นายสุพันธุ์ กล่าว


นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า มาตรการสนับสนุนให้หน่วยงานราชการใช้สินค้าไทยเป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะจะเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันให้ผู้ประกอบการไทยเติบโต และพัฒนาสินค้าได้เร็วขึ้น เพราะขณะนี้รัฐบาลมีงบประประมาณรายจ่าย 2.9 ล้านล้านบาท ในจำนวนนี้ ประมาณครึ่งหนึ่ง เป็นการจัดซื้ออุปกรณ์ หากเม็ดเงินจำนวนนี้ตกไปอยู่กับผู้ประกอบการคนไทย จะช่วยพัฒนายกระดับอุตสาหกรรมได้มาก โดยเฉพาะใน 5 อุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ ที่ส่วนใหญ่ไม่เคยผลิตภายในประเทศ หากมีผู้ประกอบการไทยเข้ามาผลิตในอุตสาหกรรมเหล่านี้ ก็ควรให้การสนับสนุนเต็มที่

นายเกรียงไกร กล่าวว่า ที่ผ่านมาประเทศชั้นนำที่มีการพัฒนาประเทศอย่างรวดเร็ว อาทิ จีน เกาหลีใต้ ไต้หวัน และญี่ปุ่น รัฐบาลแต่ละประเทศมีนโยบายส่งเสริมให้ภาคราชการใช้สินค้าในประเทศ ทำให้ผู้ประกอบการภายในประเทศที่พึ่งเริ่มต้นทำธุรกิจ มีเม็ดเงินเข้าไปต่อยอดพัฒนาธุรกิจได้รวดเร็ว เหมือนกับการผลิตรถไฟฟ้าของจีน ที่ในขั้นแรกได้นำเทคโนโลยีของเยอรมันเข้ามาเป็นต้นแบบในการผลิต ภาครัฐก็ให้การสนับสนุน โครงการรถไฟฟ้าทั้งประเทศล้วนแต่ใช้รถไฟฟ้าที่ผลิตในจีน ทำให้สามารถต่อยอดเทคโนโลยีของตัวเอง จนทำให้ในปัจจุบันเป็นผู้ส่งออกรถไฟฟ้าอันดับ 1 ของโลก ส่วนในเกาหลีใต้ และญี่ปุ่น ภาครัฐและเอกชนก็ช่วยซื้อรถยนต์ที่ผลิตในประเทศในระยะแรก แม้ว่าคุณภาพจะสู้ต่างประเทศไม่ได้ แต่ในปัจจุบันค่ายรถยนต์ทั้ง 2 ประเทศนี้ก็มีความแข็งแกร่งเป็นผู้ส่งออกชั้นนำของโลก
“รัฐบาลในฐานะผู้ซื้อรายใหญ่ของประเทศ ควรจะเข้ามาช่วยซื้อสินค้าของคนไทยให้เป็นแบบอย่างก่อน เพื่อช่วยประคองธุรกิจคนไทย โดยเฉพาะการผลิตสินค้าใหม่ๆ ซึ่งหากรัฐบาลเริ่มใช้ ภาคประชาชนก็จะค่อยๆซื้อตามมากขึ้น และ ไม่เพียงแต่จะผลักดันภาครัฐมาใช้สินค้าไทยแล้ว ยังมีแผนที่จะร่วมกับภาครัฐและทุกภาคส่วนรณรงค์ให้ภาคเอกชนหันมาใช้สินค้าไทยมากขึ้น เพราะปัจจุบันสินค้าไทยมีมาตรฐานสูง มีคุณภาพที่ดี เห็นได้จากผู้ซื้อในตลาดอาเซียน ต่างก็ให้ความเชื่อมั่นสินค้าไทย ”นายเกรียงไกร กล่าว
แหล่งข่าวจาก ภาคเอกชน กล่าวว่า แม้จะมีกฎหมายกำหนดว่าหากมีผู้ประกอบการไทยประมูลขายสินค้าให้กับภาครัฐเกิน 3 ราย ก็จะให้แต้มต่อมีราคาสูงกว่าสินค้านำเข้าได้ 10% แต่ระเบียบดังกล่าวไม่ค่อยได้นำมาใช้ เพราะมีสินค้าน้อยมากที่จะมีผู้ผลิตชาวไทยเข้ามาประมูลเกิน 3 ราย รวมทั้งผู้ประกอบการรายใหญ่ต่างชาติก็ให้สิทธิประโยชน์ในด้านอื่นๆมากกว่า