ครึ่งปีแรกสินค้านวัตกรรม SCG โกยรายได้ 9 หมื่นล้าน

เอสซีจี เผยผลประกอบการครึ่งปีแรกของปี 2561 โต 6% ยอดขายสินค้ามูลค่าเพิ่ม “HVA” ทะลุ 9 หมื่นล้าน เตรียมเทงบฯลงทุนครึ่งปีหลังอีก3 หมื่นล้าน ดันยอดทั้งปีཹ โต 10%

นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี เปิดเผยว่า เป้าหมายรายได้ทั้งปี 2561 คาดว่าจะขยายตัว 5-10% จากปีก่อน โดยขณะนี้ครึ่งปีแรกมีรายได้จากยอดขาย 238,697 ล้านบาท 6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีกำไร 24,808 ล้านบาท ลดลง 19% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลจากราคาวัตถุดิบปิโตรเคมีปรับตัวสูงขึ้น และค่าเงินบาทแข็งค่าส่งผลต่อการส่งออก โดยรายได้ 3 กลุ่มธุรกิจหลักในช่วงครึ่งปีแรกประกอบด้วยกลุ่มเคมิคอล มีมูลค่า 109,920 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6% แต่มีกำไร 16,266 ล้านบาท ลดลง 27% ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง 91,119 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และธุรกิจแพ็กเกจจิ้ง 43,773 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11% และมีกำไร 3,110 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16%

อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่าการลงทุนต่อยอดในธุรกิจนวัตกรรมในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ยอดขายสินค้า และบริการที่มีมูลค่าเพิ่ม หรือ High Value Added Products & Services (HVA) มีมูลค่า 45,257 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6% จากไตรมาส 2 ของปีก่อน และมียอดขาย HVA ในครึ่งปีแรกของปี 2561 เท่ากับ 91,101 ล้านบาทซึ่งคิดเป็นเกือบ 50% ของรายได้ยอดขาย และล่าสุดได้ลงนามความร่วมมือวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ทันตนวัตกรรม ร่วมกับคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และทันตแพทยสภา เพื่อส่งเสริมการผลิตสินค้านวัตกรรมลดการพึ่งพาการนำเข้าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวได้ 20-30 % ทำให้ประชาชนเข้าถึงการรักษาได้มากขึ้น

นายรุ่งโรจน์ กล่าวว่า ทิศทางธุรกิจครึ่งปีหลังดีขึ้น เพราะมีการขยายธุรกิจออกไปยังเวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย ประกอบกับปัจจัยบวกจากภาวะเศรษฐกิจที่ขยายตัว อัตราแลกเปลี่ยนมีทิศทางอ่อนค่าลงและทางเอสซีจีมีการประกันความเสี่ยง และด้วยธุรกิจเป็นธุรกิจที่สามารถหักลบระหว่างการส่งออก-การนำเข้าทำให้สามารถบริหารจัดการความเสี่ยงได้ การลงทุนโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐบางโครงการจะเริ่มในปีนี้ ทำให้ความต้องการใช้วัสดุก่อสร้างโดยเฉพาะปูนซีเมนต์เพิ่มขึ้นเฉลี่ยเกือบ 3% จากปีก่อนที่ใช้อยู่ 37 ล้านตัน ซึ่งปัจจัยนี้จะส่งผลดีต่อเนื่องถึงปีหน้าเพราะยังมีการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ที่เห็นผลเป็นรูปธรรม ทั้ง ไฮสปีดเทรน สนามบินอู่ตะเภา ท่าเรือแหลมฉบับเฟส 3 อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามปัจจัยเสี่ยงจากต้นทุนวัตถุดิบ อัตราแลกเปลี่ยนซึ่งบณะนี้เริ่มอ่นค่า และปัญหาสงครามการค้าซึ่งมีผลทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อธุรกิจ หากรุนแรงจะกระทบธุรกิจได้ รวมถึงปัจจัยเกี่ยวเนื่องจากกระแสการลดใช้พลาสติกทั่วโลก

นายเชาวลิต เอกบุตร ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ การเงินและการลงทุน เอสซีจี กล่าวถึงแผนการขยายธุรกิจของเอสซีจีว่า ปีนี้วางงบลงทุนไว้ 40,000-50,000 ล้านบาท โดยในช่วงครึ่งปีแรกใช้งบลงทุนแล้ว 18,000 ล้านบาท ยังเหลืออีก 22,00-30,000 ล้านบาท ส่วนแผนการลงทุนในปีหน้าวางไว้ 50,000-60,000 ล้านบาท

สำหรับความคืบหน้าในการลงทุนในโครงการต่างๆ ช่วงครึ่งปีแรก ทางเอสซีจี ได้เพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นในโครงการปิโตรเคมีครบวงจร Long Son Petrochemicals Company Limited (LSP) ซึ่งเป็น ในเวียดนาม จาก 71% เป็น100 %เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา และเตรียมลงนามสัญญาเงินกู้มูลค่า 3,200 ล้านเหรียญสหรัฐกับสถาบันการเงินทั้งในและต่างประเทศในเดือนสิงหาคมนี้ โดยจะเริ่มออกแบบวิศวกรรม การจัดหาเครื่องจักรและอุปกรณ์ และการก่อสร้างโรงงาน (EPC) ในไตรมาสที่ 3 ปีนี้ คาดว่าจะเริ่มผลิตเชิงพาณิชย์ในครึ่งปีแรกของปี 2566

ล่าสุด เอสซีจีได้เข้าซื้อหุ้น 29% ในบริษัท PT Catur Sentosa Adiprana Tbk (CSA) ธุรกิจค้าปลีกสินค้าเกี่ยวกับบ้านและวัสดุก่อสร้างของอินโดนีเซีย และเตรียมขยายสาขา “Mitra10” จาก 27 เป็น 50 สาขาในปี 2564 และจากที่โกลบอลเฮ้าส์ อินเตอร์เนชั่นแนล (GBI) เป็นบริษัทร่วมทุนของเอสซีจีได้เข้าซื้อหุ้น 30% ใน PRO 1 GLOBAL Company Limited ธุรกิจจัดจำหน่ายวัสดุก่อสร้างและตกแต่งบ้าน และเครือข่ายร้านค้าปลีกชั้นนำในเมียนมาภายใต้ชื่อ “Pro1-Global” เพื่อเพิ่มศักยภาพในการขยายสาขาของร้านซึ่งปัจจุบันมี 6 สาขา และการพัฒนาระบบบริหาร Supply chain รวมทั้ง IT ให้รองรับ Omni Channel ในอนาคต นอกจากนี้ เอสซีจียังเข้าร่วมทุนกับ Jusda Supply Chain Management International (JUSDA) จัดตั้งบริษัทขนส่งและบริหารจัดการ supply chain บริการทางตอนใต้ของจีนและอาเซียน โดยเฉพาะการค้าสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง สินค้าเกษตรและอาหาร และธุรกิจต่อยอดแบบคัดคุณภาพ รวมทั้งการซื้อขายออนไลน์ โดยคาดว่าจะจัดตั้งบริษัทแล้วเสร็จในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้

ส่วนแผนการลงทุนในประเทศเอสซีจีลงทุนขยายกำลังการผลิตโครงการมาบตาพุดโอเลฟินส์ (MOC) จาก 1.7 ล้านตันต่อปีเป็น 2.05 ล้านตันต่อปี โดยใช้งบลงทุน 15,000 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้โครงการมีความยืดหยุ่นในการเลือกใช้วัตถุดิบและสร้างโอกาสในการใช้ก๊าซโพรเพนซึ่งมีต้นทุนต่ำเป็นวัตถุดิบ เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าและเสริมขีดความสามารถทางการแข่งขัน นอกจากนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาศึกษาแนวทางการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งบริษัทจะเกี่ยวข้องในด้านการให้บริการโลจิสติกส์