น้ำมันพุ่งต่อเนื่องเดือนที่ 20 ดันเงินเฟ้อก.ค.สูงขึ้น 1.46% เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 13

น้ำมันพุ่งต่อเนื่องเดือนที่ 20 ดันเงินเฟ้อ ก.ค.สูงขึ้น 1.46% เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 13 “พาณิชย์”ชี้สัญญาณเงินเฟ้อเริ่มเป็นขาขึ้น ทั้งจากการบริโภคภาคเกษตร และภาคประชาชนที่ฟื้นตัว คาดทั้งปีโต 1.2% อยู่ในกรอบ 0.8-1.6%

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ (เงินเฟ้อ) เดือนก.ค.2561 เท่ากับ 102.00 สูงขึ้น 1.46% เมื่อเทียบกับเดือนก.ค.2560 ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 13 ติดต่อกัน แต่ลดลง 0.05% เทียบกับเดือนมิ.ย.2561 ที่ผ่านมา ส่งผลให้เงินเฟ้อช่วง 7 เดือนของปี 2561 (ม.ค.-ก.ค.) สูงขึ้น 1.04%

สาเหตุหลักที่ทำให้เงินเฟ้อเดือนก.ค. เพิ่มขึ้น มาจากดัชนีหมวดอื่นๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม เพิ่ม 2.29% สินค้าสำคัญที่เพิ่มขึ้น เช่น น้ำมันเชื้อเพลิง เพิ่ม 13.85% สูงขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 20 หมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ เพิ่ม 5.86% ค่าเช่าบ้าน ค่าเช่าหอพัก เพิ่ม 1.12% ค่าโดยสารสาธารณะ เพิ่ม 0.70%

ส่วนหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ เพิ่ม 0.02% สินค้าที่ราคาเพิ่มขึ้น เช่น เครื่องประกอบอาหาร เพิ่ม 1.74% เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ เพิ่ม 1.48% อาหารบริโภคในบ้าน เพิ่ม 1.10% นอกบ้าน เพิ่ม 1.23% และข้าวแป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง เพิ่ม 3.65% แต่ผักสด ลด 5.33% ผลไม้สด ลด 2.35%

ทั้งนี้ เมื่อแยกรายการสินค้า 422 รายการ ที่ใช้คำนวณเงินเฟ้อ พบว่า สินค้าสูงขึ้น 224 รายการ ได้แก่ ข้าวสารเจ้า เพิ่ม 6.91% ครีมเทียม เพิ่ม 1.07% ซีอิ้ว เพิ่ม 1.63% กาแฟสำเร็จรูปพร้อมดื่ม เพิ่ม 11.07% กาแฟผงสำเร็จรูป เพิ่ม 1.15% กับข้าวสำเร็จรูป เพิ่ม 1.29% ก๋วยเตี๋ยว เพิ่ม 1.51% ข้าวราดแกง เพิ่ม 1.22% อาหารตามสั่ง เพิ่ม 1.37% ก๊าซหุงต้ม เพิ่ม 10.76% ค่ากระแสไฟฟ้า เพิ่ม 2.62% น้ำยาปรับผ้านุ่ม เพิ่ม 3.13% แชมพูสระผม เพิ่ม 1.01% ค่าโดยสารเรือ เพิ่ม 10.38% น้ำมันดีเซล เพิ่ม 17.52% บุหรี่ เพิ่ม 12.02% เบียร์ เพิ่ม 1.16% และสุรา เพิ่ม 0.37% ส่วนสินค้าราคาไม่เปลี่ยนแปลง 84 รายการ และสินค้าราคาลดลง 114 รายการ

ทั้งนี้ สนค.คาดว่าเงินเฟ้อไตรมาส 3 จะขยายตัวเพิ่มขึ้น 1.35% และไตรมาส 4 เพิ่มขึ้น 1.5% ซึ่งทั้งปีจะทำให้เงินเฟ้อขยายตัวเพิ่มขึ้น 1.2% หรืออยู่ในกรอบที่ประเมินไว้ 0.8-1.6% ภายใต้สมมุติฐาน คือ อัตราขยายตัวเศรษฐกิจไทยเติบโต 4.2-4.7% น้ำมันดิบตลาดดูไบ 60-70 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล โดยคาดว่าช่วงครึ่งปีหลังราคาน้ำมันดิบจะอยู่ในกรอบ 65-75 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล อัตราแลกเปลี่ยนทั้งปี 32-34 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ซึ่งปัจจุบันค่าเงินบาทอ่อนค่าลงมา

“เงินเฟ้อที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากราคาน้ำมันที่แพงขึ้น และต้องดูราคาน้ำมันในช่วงที่เหลือของปีนี้อีกว่าจะขึ้นมากน้อยแค่ไหน แต่อีกส่วนหนึ่งมาจากกำลังซื้อของประชาชนดีขึ้น โดยเฉพาะภาคการเกษตรที่มีรายได้จากราคาสินค้าเกษตร เช่น ข้าว มัน ข้าวโพด ราคาดีขึ้น และเงินบาทอ่อนที่ทำให้การส่งออกสินค้าเกษตรดีขึ้น รวมทั้งยังมีการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ของรัฐบาล เช่น รถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ที่จะทำให้มีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น”น.ส.พิมพ์ชนกกล่าว

สำหรับดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (เงินเฟ้อพื้นฐาน) ที่หักรายการสินค้าอาหารสดและพลังงานออกไปเดือนก.ค.2561 เท่ากับ 102.10 สูงขึ้น 0.79% และสูงขึ้น 0.04% เมื่อเทียบกับเดือนมิ.ย.2561 ส่วนยอดเฉลี่ย 7 เดือน สูงขึ้น 0.70%