ก.แรงงาน หารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานภาคประมงทะเล

พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการประสานงานการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน (อกนร.) ครั้งที่ 1/2561 ณ ห้องประชุม ศ.นิคม จันทรวิทุร อาคารกระทรวงแรงงาน โดยมี นายอนุรักษ์ ทศรัตน์ อธิบดีกรมการจัดหางาน ผู้บริหารกระทรวงแรงงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการต่างประเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมประมง เป็นต้น เข้าร่วมประชุม

พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการประสานงานการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน (อกนร.) ว่า ปัจจุบันมีแรงงานต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว เมียนมา ได้รับอนุญาตทำงานในกิจการประมงทะเลจำนวน 59,691 คน ซึ่งสมาคมประมงแห่งประเทศไทยแจ้งว่ากำลังประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานประมง และได้แจ้งความต้องการจำนวน 42,649 คน ในการนี้มีนายจ้างยื่นคำร้องขอนำคนต่างด้าวมาทำงานตาม MOU ในกิจการประมงทะเลใน 22 จังหวัดชายทะเล จำนวน 3,746 คน เป็นกัมพูชา 3,003 คน ลาว 240 คน เมียนมา 503 คน

ในการนี้ กรมการจัดหางานได้แจ้งให้จัดหางานจังหวัด 22 จังหวัดชายทะเลประสานสมาคมประมงเพื่อแจ้งนายจ้างให้มายื่นคำขอจ้างแรงงานต่างด้าว ซึ่งขณะนี้ได้ดำเนินการนำเข้าตาม MOU แล้ว 1,480 คน เป็นกัมพูชา 1,439 คน ลาว 39 คน เมียนมา 2 คน ที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณาแนวทางการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานประมงทะเลและแนวทางการจ้างแรงงานต่างด้าวสัญชาติเวียดนาม ซึ่งฝ่ายเลขานุการโดยกรมการจัดหางานได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบถึงความคืบหน้าในการดำเนินการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานประมงทะเลว่า กรมการจัดหางานได้ประชุมหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องและสมาคมประมงแห่งประเทศไทยรับทราบค่าจ้าง สวัสดิการ สิทธิประโยชน์ไปนำเสนอต่อที่ประชุมวิชาการไทย-กัมพูชา และไทย-เมียนมา ซึ่งพร้อมส่งแรงงานมาทำงาน และจะได้มีการประสานงานในรายละเอียดเพิ่มเติมต่อไป

สำหรับคนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตให้ทำงานตามมาตรา 83 แห่งพระราชกำหนดการประมงที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติแล้ว และการอนุญาตทำงานจะหมดอายุวันที่ 30 กันยายน 2561 จำนวน 11,000 คน นั้น ที่ประชุมเห็นชอบให้ต่ออายุการทำงานออกไปอีก 2 ปี ถึงวันที่ 30 กันยายน 2563

สำหรับในส่วนของจำนวนที่ขาดแคลนกว่า 42,000 กว่าราย ให้ผู้ประกอบการยื่นคำขอจ้างแรงงานต่างด้าวได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัด 22 จังหวัดชายทะเลได้ตั้งแต่บัดนี้จนถึงวันที่ 15 สิงหาคม 2561 เพื่อที่กรมการจัดหางานจะได้ดำเนินการนำเข้าตาม MOU ต่อไป ทั้งนี้ จะได้นำเสนอผลการประชุมต่อที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน (กนร.) เพื่อพิจารณาและนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป

ในส่วนของการจ้างแรงงานต่างด้าวสัญชาติเวียดนามนั้น พบว่าปัจจุบันมีแรงงานเวียดนามทำงานอย่างถูกกฎหมายจำนวน 1,130 คน เป็นระดับฝีมือ 724 คน ส่งเสริมการลงทุน (BOI) 300 คน มติครม. (ทำงานก่อสร้าง) 100 คน แรงงานนำเข้าตาม MOU 6 คน ซึ่งเวียดนามได้ขอให้เพิ่มงานใน MOU เพราะแรงงานไม่ต้องการทำงานก่อสร้าง ประมง ขณะที่ฝ่ายไทยขอให้เวียดนามทำหนังสือผ่านช่องทางการทูตเพื่อนำมาพิจารณา โดยฝ่ายไทยได้เสนอค่าตอบแทนในงานประมงทะเลในอัตราเดือนละ 12,000 บาท

ทั้งนี้ ฝ่ายเลขานุการได้ขอให้ที่ประชุมพิจารณาข้อเสนอกรณีแรงงานเวียดนามที่ลักลอบทำงานเห็นควรให้กลับออกไปและกลับเข้ามาตาม MOU และพิจารณาเพิ่มประเภทงานให้แรงงานเวียดนามที่นำเข้าตาม MOU ทำได้นอกเหนือจากงานกรรมกรในกิจการก่อสร้างและประมงทะเล หรือให้ทำงานได้เฉพาะงานกรรมกรในกิจการก่อสร้างและประมงทะเล ซึ่งที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้แรงงานที่ลักลอบทำงานกลับประเทศและกลับเข้ามาตาม MOU และเห็นชอบเปิดให้ MOU 2 ตำแหน่งคือ กรรมกรและผู้รับใช้ในบ้าน ทั้งนี้ จะได้นำเสนอต่อที่ประชุม กนร.ต่อไป

รมว.แรงงาน กล่าวในตอนท้ายว่า เพื่อความมั่นคงของประเทศและความต้องการที่แท้จริงของภาคประมง กระทรวงแรงงานพร้อมจะให้มีการนำเข้าแรงงานตาม MOU ในกิจการประมงทะเลที่ขาดแคลน จึงขอให้แจ้งรายละเอียดว่ามีจังหวัดใดบ้างใน 22 จังหวัดชายทะเลที่ขาดแคลน เพื่อที่จะนำเข้าตาม MOU ต่อไป ในส่วนของการนำเข้าแรงงานในสัญชาติอื่นนั้น ขอเรียนว่าขณะนี้แรงงาน 4 สัญชาติมีเพียงพอแล้ว