กรณีเขื่อนดินย่อยกั้นช่องเขาส่วน D (ขนาดสันเขื่อนกว้าง 8 เมตร ยาว 770 เมตร สูง 16 เมตร) ซึ่งเป็นส่วนเสริมกั้นน้ำรอบอ่างเก็บน้ำเซน้ำน้อย ในโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำเซเปียน-เซน้ำน้อย เกิดการทรุดตัวจนเขื่อนแตกออกและมีปริมาณน้ำจำนวนมหาศาลไหลทะลักลงสู่พื้นที่ท้ายน้ำและลำน้ำเซเปียน ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมใหญ่เป็นวงกว้างในบริเวณเมืองสนามไชย แขวงอัตตะปือ มีประชาชนลาวได้รับผลกระทบมากกว่า 6,600 คน ผู้เสียชีวิตล่าสุด 27 คน
ด้าน นายคำมะนี อินทิรัด รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานและเหมืองแร่ สปป.ลาว ตั้งข้อสังเกตถึงเหตุการณ์เขื่อนดินแตกครั้งนี้ว่า เกิดจากการก่อสร้างที่ “ต่ำกว่า” มาตรฐาน โครงสร้างเขื่อนไม่มีความยืดหยุ่นเพียงพอที่จะรองรับปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมาอย่างหนักได้ และฝ่ายลาวกำลังรอผลการสอบสวนสาเหตุที่แท้จริงอยู่
RATCH ออกหน้ารับเขื่อนแตก
โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำเซเปียน-เซน้ำน้อย เป็นโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดกำลังผลิต 354 เมกะวัตต์ (MW) ตัวอ่างเก็บน้ำของเขื่อนมีขนาดพื้นที่ความจุ 1,043.27 ล้าน ลบ.ม. อายุสัญญาโครงการ 27 ปี ตามแผนจะเริ่มจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์เข้าระบบได้ในปี 2562 โดยโครงการนี้ดำเนินการโดย บริษัทไฟฟ้าเซเปียน-เซน้ำน้อย ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง SK Engineering & Construction Company ถือหุ้นร้อยละ 26, Korea Western Power Company ร้อยละ 25, Lao Holding State Enterprise ร้อยละ 24 และบริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ RATCH ถือหุ้นร้อยละ 25 โครงการตั้งอยู่ในแขวงอัตตะปือ กับแขวงจำปาสัก ในลาวใต้ไฟฟ้าที่ผลิตได้จากโครงการ 354 MW จะถูกส่งมาขายให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ร้อยละ 90
ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 10 จะถูกใช้ใน สปป.ลาว ดังนั้นการทรุดตัวและแตกออกของเขื่อนดินย่อยกั้นช่องเขาส่วน D ที่อยู่ในความรับผิดชอบของบริษัทไฟฟ้าเซเปียน-เซน้ำน้อย ซึ่งประกอบด้วยผู้ถือหุ้นหลัก 3 ฝ่าย คือ ไทย-ลาว และเกาหลี กลับกลายเป็นบริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง (RATCH) ต้องออกมา “รับหน้า” แทนอีก 2 ฝ่าย ด้วยเหตุผลที่ว่า ประเทศไทยเป็นผู้ได้ประโยชน์หลักจากการรับซื้อไฟฟ้าจาก สปป.ลาวนั่นเอง
Battery of Asia
เป็นความจริงที่ว่าในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยไม่สามารถพัฒนาโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ภายในประเทศขึ้นมาได้ จากเหตุผลทางด้านสิ่งแวดล้อม-มวลชนต่อต้าน และความหวาดกลัวโรงไฟฟ้าถ่านหิน ดังนั้นทางเดียวที่ผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าในประเทศ ไม่ว่าจะเป็น กฟผ. หรือภาคเอกชน ก็คือหาทางที่จะไปก่อสร้างโรงไฟฟ้าในประเทศเพื่อนบ้านที่มีชายแดนติดต่อกับประเทศไทย โดยในบรรดาเพื่อนบ้านเหล่านี้
ปรากฏ “สปป.ลาว” จัดเป็นประเทศที่เหมาะสมที่สุด ทั้งในแง่ของพื้นที่ตั้ง ทรัพยากรน้ำ และที่สำคัญก็คือ “ไม่มีปัญหาทางด้านมวลชน” รัฐบาล สปป.ลาวสามารถสั่งย้ายหมู่บ้าน หรือย้ายเมืองได้เป็นเมือง ๆ เพื่อเปิดทางให้กับการก่อสร้างของนักลงทุนต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นักลงทุนจากประเทศไทย
รัฐบาลลาวได้กำหนดนโยบาย Battery of Asia ด้วยการพัฒนาศักยภาพของพลังน้ำเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าส่งออกไปจำหน่ายให้กับประเทศข้างเคียง มีการประมาณการกันว่า ลาวสามารถใช้น้ำภายในประเทศผลิตกระแสไฟฟ้าได้มากกว่า 30,000 MW สามารถทำรายได้จากการส่งออกไฟฟ้าได้ “มากกว่า” การส่งออกสินค้าโดยรวมของประเทศ ไม่เพียงแต่การใช้พลังงานน้ำ ซึ่งถือเป็นพลังงานสะอาดในการผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อการส่งออกเท่านั้น
รัฐบาลลาวยัง “ยินยอม” ให้มีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงจากถ่านหินนามโครงการหงสาลิกไนต์ มูลค่า 3,700 ล้านเหรียญ กำลังผลิตถึง 1,473 MW ปรากฏชื่อของบริษัทผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง (RATCH) (ร้อยละ 40) กับ บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (ร้อยละ 40) อยู่ด้วย
ทุนไทยสร้างโรงไฟฟ้าลาว
อย่างไรก็ตาม การใช้ประโยชน์จากนโยบาย Battery of Asia ของฝ่ายไทย ได้ถูกดำเนินการภายใต้ความร่วมมือด้านพลังงานไฟฟ้าระหว่างไทย-สปป.ลาว โดยมีการลงนามใน MOU ร่วมกันมาตั้งแต่ปี 2536 ด้วยคำมั่นสัญญาที่ว่า ไทยจะรัฐซื้อไฟฟ้าจากลาว 1,500 MW ภายในปี 2543 ต่อมาความร่วมมือนี้ฉบับนี้ได้ถูก “ต่ออายุ” มาเรื่อย ๆ มาถึงฉบับล่าสุดปี 2559 จะรับซื้อไฟฟ้าจากลาวถึง 9,000 MW หรือเกือบ 1 ใน 3 ของไฟฟ้าที่ลาวคาดการณ์ว่า “จะผลิตได้”
ล้อไปกับการจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP) ที่กำหนดสัดส่วนการรับซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศไว้ร้อยละ 20 ของกำลังผลิตไฟฟ้าทั้งประเทศ แน่นอนว่าสัดส่วนร้อยละ 20 ดังกล่าว ถูกถือครองโดยการรับซื้อไฟฟ้าจาก สปป.ลาว มากกว่าร้อยละ 90 จนก่อให้เกิดปรากฏการณ์ “กลุ่มทุนพลังงาน” ประสาน “สถาบันการเงิน” เกิดโครงการโรงไฟฟ้าไทยใน สปป.ลาว มากกว่า 10 โครงการ (เฉพาะที่มีสัญญาการซื้อขายไฟฟ้ากับ กฟผ.) คิดเป็นกำลังผลิตเกือบ 6,000 MW ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา
แม้โครงการเซเปียน-เซน้ำน้อย จะไม่ใช่โครงการที่มีกำลังผลิตไฟฟ้าสูงสุด (354 MW) แต่ผู้ถือหุ้นในโครงการนี้ คือ บริษัทผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง (RATCH) กลับถือครองกำลังผลิตไฟฟ้าใน สปป.ลาว มากถึง 1,827 MW ในขณะที่อันดับ 2 จะเป็นกลุ่ม ช.การช่าง จากโครงการโรงไฟฟ้าไซยะบุรี กำลังผลิต 1,220 MW