“สมคิด” จุดพลุระเบียงศก.ใต้ 4 แสนล้าน ขยายท่าเรือ-รถไฟ

“สมคิด” ชงยุทธศาสตร์ระเบียง ศก.ภาคใต้ต่อยอด “ไทยแลนด์ริเวียร่า” ขยายท่าเรือระนอง เชื่อมทวาย-BIMSTEC เปิดประตูสู่ยุโรป กดสวิตช์ไฮสปีดกรุงเทพฯ-หัวหินแสนล้าน เข้า ครม.สัญจร ส.ค.นี้ คมนาคมเปิดแผนพัฒนาโครงข่ายภาคใต้ 2.2 แสนล้าน ผุดรถไฟสายใหม่ชุมพร-ระนอง 109 กม. 4.5 หมื่นล้าน

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า รัฐบาลจะเร่งขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ในกลุ่มจังหวัดชุมพร-ระนอง และสุราษฎ์ธานี ต่อเนื่องจากแผนลงทุนพัฒนาเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวฝั่งทะเลตะวันตก (ไทยแลนด์ริเวียร่า) เbชื่อมโยงกับรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-หัวหิน จะอัพเกรดท่าเรือระนองเป็นท่าเรือส่งออกสินค้า โดยเฉพาะลูกค้าในกลุ่มประเทศยุโรป เชื่อมกับทวายโปรเจ็กต์

ชง ครม.อนุมัติแผนพัฒนาใต้

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า โครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เป็นการพัฒนาต่อจากโครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ (Southern Seaboard) จะเชื่อมโยงโครงการลงทุนขนาดใหญ่ เช่น รถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-หัวหิน, รถไฟทางคู่ชุมพร-ระนอง, ท่าเรือระนอง และมอเตอร์เวย์หาดใหญ่-ชายแดนไทย-มาเลเซีย

“ไฮสปีดกรุงเทพฯ-หัวหิน และแพ็กเกจลงทุนระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ จะเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัญจรที่ จ.ชุมพร-ระนอง 20-21 ส.ค.นี้”

ส่วนไฮสปีดกรุงเทพฯ-หัวหิน วงเงินลงทุน 9.5 หมื่นล้าน ขณะนี้สำนักนโยบายและแผนขนส่งจราจร (สนข.) ศึกษารายละเอียดแล้ว โดยปรับสถานีเพชรบุรีออกไปนอกเมืองราว 3 กม. เนื่องจากค่าเวนคืนสูง และจะพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์เพิ่มขึ้นด้วย

Advertisment

ส่วนการขยายท่าเรือระนอง เชื่อมโยงการส่งออกสินค้าที่ไปยุโรป แทนที่จะไปผ่านทางท่าเรือทวาย เป็นส่วนหนึ่งของคอนเซ็ปต์การพัฒนาเชิงพื้นที่เหมือนโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี) โดยคมนาคมก่อสร้างถนน 4 เลนจาก จ.ชุมพร ไป จ.ระนอง รองรับยุทธศาสตร์การพัฒนาการเป็นเมืองท่าการขนส่งสินค้าทางทะเลฝั่งอันดามัน และเตรียมขุดร่องนํ้าท่าเรือระนองให้ลึกรองรับการขยายท่าเรือระนองให้เรือขนส่งสินค้าขนาดใหญ่ เชื่อมการขนส่งสินค้าสู่ท่าเรือทวายของเมียนมาและท่าเรือต่าง ๆ ในกลุ่มประเทศบิมสเทก

จาก EEC สู่ SEA

Advertisment

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า หลังรัฐบาลผลักดันแผนพัฒนา EEC เป็นรูปเป็นร่าง จะผลักดันพื้นที่ภาคใต้ต่อ โดยมีโครงการการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ (SEA) โฟกัส 3 จังหวัด ได้แก่ ชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี โดยมีแผนจะพัฒนาท่าเรือน้ำลึกขนส่งสินค้าไปต่างประเทศในภาคใต้นำร่องท่าเรือระนอง รวมถึงจะพัฒนาระบบรถไฟทางคู่ รถไฟความเร็วสูง สนามบิน ถนนเลียบชายฝั่งทะเลตะวันตก (ไทยแลนด์ริเวียร่า) เชื่อมแหล่งท่องเที่ยวหัวเมืองรองของภาคใต้

“คมนาคมมีแผนลงทุนคมนาคขนส่ง8 ปี ที่ภาคใต้ ทั้งทางคู่ ถนน 4 เลนสะพานมอเตอร์เวย์ ท่าเรือน้ำลึก ท่าเรือสำราญ สนามบิน รวม 220,511 ล้านบาท”

ยังไม่รวมรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-หัวหิน เงินลงทุน 100,125 ล้านบาท ท่าเรือระนองอีก 1,000 ล้านบาท

สร้างรถไฟเชื่อมท่าเรือระนอง

ยังมีรถไฟสายใหม่เชื่อมอ่าวไทยกับทะเลอันดามัน จ.ชุมพร-จ.ระนอง เพื่อการขนส่งและส่งเสริมการท่องเที่ยว 2 ฝั่งทะเล เปิดประตูเศรษฐกิจสู่กลุ่มประเทศ BIMSTEC ล่าสุด สนข.กำลังนำผลศึกษาเสนอคมนาคม แนวเส้นทางเริ่มที่สถานีชุมพร และสถานีแสงแดด ขนานถ.เพชรเกษม ผ่าน อ.เมือง จ.ชุมพร อ.กระบุรีอ.ละอุ่น และ อ.เมือง จ.ระนองสิ้นสุดที่ท่าเรือน้ำลึกระนอง 102.79 กม. และจากสถานี ท่าเรือระนองจะมีเส้นทางแยกเข้าสู่เมืองระนอง สิ้นสุดที่สถานีระนอง รวม 109 กม.

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า ในการประชุม ครม.สัญจรจะรายงานการพัฒนาท่าเรือเชื่อมชายฝั่งอันดามัน จะเน้นพัฒนาท่าเรือน้ำลึกระนอง และแผนยุทธศาสตร์พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่ภาคใต้ทั้งหมดจะต่อยอดไทยแลนด์ริเวียร่า

ขยายไฮสปีดไปปาดังฯ

ขณะที่นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รมช.คมนาคม กล่าวว่า ท่าเรือระนองปัจจุบันเป็นท่าเรือขนส่งสินค้าชายแดนที่พัฒนาแล้วเสร็จปี 2541 พื้นที่ 200-300 ไร่ แต่ยังไม่สมบูรณ์ มีข้อจำกัดด้วยตัวท่าเรือติดปากแม่น้ำระนองลึกเข้าไปหลายกิโลเมตร อีกทั้งร่องน้ำมีขนาดเพียง6 เมตร เรือที่จะเข้าไปขนส่งสินค้าจึงเป็นเรือขนาดเล็ก หากจะพัฒนาจะต้องเปิดพื้นที่หน้าท่าและหลังท่าทำเป็นท่าเรือน้ำลึกขนาด 14 เมตร ส่วนท่าเรือปากบาราจะชะลอออกไปก่อน

ขณะที่เส้นทางรถไฟไปเชื่อมพื้นที่อันดามัน ระยะแรกจะใช้รถไฟทางคู่ประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร 167 กม.ที่กำลังสร้าง และระยะที่ 2 ต่อจากชุมพร-สุราษฎร์ธานี-หาดใหญ่-สงขลา 491 กม. เงินลงทุน 81,669.79 ล้านบาท

ส่วนรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-หัวหิน มีปรับปรุง 3 ประเด็น 1.แนวเส้นทางช่วง อ.เมือง จ.เพชรบุรี 2.ปรับแนวก่อสร้างสะพานพระราม 6 ช่วงข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา 3.ปรับการใช้เขตทางรถไฟสายใต้ทั้งรถไฟทางไกล ความเร็วสูง และชานเมืองให้ชัดเจนมากขึ้น จะเสนอโครงการขออนุมัติบอร์ด PPP เดือน ต.ค.นี้ พร้อมทั้งเร่งออกแบบต่อขยายระยะหัวหิน-สุราษฎร์ธานี-ปาดังเบซาร์ ให้โครงการโดยรวมคุ้มทุนมากขึ้น

ต่อไทยแลนด์ริเวียร่า

นายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน อธิบดีกรมทางหลวงชนบท (ทช.) กล่าวว่า กรมมีแผนพัฒนาไทยแลนด์ริเวียร่าด้านตะวันตกของอ่าวไทย รวม 514 กม. ตั้งแต่ จ.สมุทรสงคราม เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร ระนอง ดำเนินการแล้ว 200 กม. กำลังก่อสร้าง 49 กม. ในปี 2562ได้งบฯ 963 ล้านบาท ก่อสร้าง 88.3 กม.เหลืออีก 177 กม. วงเงิน 1,966 ล้านบาทจะของบฯปี 2563 ดำเนินการ จะขยายเส้นทางเพิ่มจาก อ.ละแม จ.ชุมพร ไป จ.สุราษฎร์ธานี ถึง อ.ปากพนังจ.นครศรีธรรมราช มีสร้างจุดพักรถหรือ road side station เหมือนที่ญี่ปุ่น เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนและเมืองรอง

ทุ่ม 2 หมื่นล้านขยายสนามบิน

ส่วนนายดรุณ แสงฉาย อธิบดีกรมท่าอากาศยาน กล่าวว่า จะปรับปรุงและสร้างอาคารผู้โดยสารหลังใหม่สนามบินภาคใต้ 7 แห่ง กว่า 2.2 หมื่นล้านบาท สนับสนุนไทยแลนด์ริเวียร่า ได้แก่ กระบี่ ตรัง สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช หัวหิน เบตง และนราธิวาส ส่วนสนามบินชุมพรอยู่ระหว่างโอนให้ ทอท.บริหาร

บูมท่องเที่ยวภาคใต้

ด้านนายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า จากแผนการพัฒนาเศรษฐกิจภาคใต้ของรองนายกฯสมคิด จะมีโครงสร้างพื้นฐานสำคัญอย่างรถไฟทางคู่เชื่อมตั้งแต่ชุมพร-ระนอง-สุราษฎร์ธานี เพื่อเชื่อมการเดินทางระหว่างทะเลอันดามันกับอ่าวไทยเข้าด้วยกัน และเมื่อไปเชื่อมระนองซึ่งมีท่าเรือน้ำลึกระนองจะเห็นภาพชัดว่าระนองไม่ได้เป็นแค่จุดหมายปลายทางด้านการท่องเที่ยวอย่างเดียว แต่จะยกระดับเป็นจุดเริ่มต้น (starting point) สำหรับการท่องเที่ยวทางทะเลไปยังจุดหมายอื่น ๆ เช่น ภายในเอเชียใต้ จะได้นักท่องเที่ยวใหม่ ๆ เดินทางมาพื้นที่ภาคใต้ และนี่ไม่ใช่แค่การลงทุนด้านท่องเที่ยว แต่เป็นการลงทุนด้านโลจิสติกส์ด้วย