D&Jไปต่อโรงไฟฟ้า 700MW โซลาร์ฟาร์มใหญ่สุด-กฟภ.วิ่งพึ่งศาล

ดี แอนด์ เจฯ ดิ้นอีกเฮือก เร่งสร้างความพร้อม 4 ด้าน ดึง “บิ๊กเนม” ด้านพลังงานทดแทนร่วมลงทุน หวังโปรเจ็กต์โซลาร์เซลล์ 700 เมกะวัตต์ ศาลปกครองจะตัดสินไปทางเดียวกับอนุญาโตตุลาการ ให้เดินหน้าต่อ ส่วนวงการพลังงานทดแทนวิตก จี้รัฐมอนิเตอร์ หากกำลังผลิตส่วนนี้เข้าระบบจะบริหารอย่างไร-กระทบค่า Ft หรือไม่ ด้าน สนพ.ระบุ ในทางกฎหมายกำลังผลิตส่วนนี้ถือว่าถูกยกเลิกสัญญาไปแล้ว

เป็นที่จับตามองในวงการพลังงานทดแทนว่า ท้ายที่สุดแล้วการฟ้องร้องทางคดีความระหว่างบริษัท ดี แอนด์ เจ คลีน เอ็นเนอร์ยี่ ซิสเท็ม จำกัด กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ในฐานะคู่สัญญาซื้อขายไฟฟ้าในโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ รวม 700 เมกะวัตต์ นั้นจะจบลงอย่างไร เพราะในขณะที่ กฟภ.ได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองเพื่อให้ “เพิกถอน” คำสั่งของอนุญาโตตุลาการที่ระบุให้ดี แอนด์ เจฯ เป็นฝ่ายชนะคดี และ กฟภ.จะต้องจ่ายค่าเสียหายจากการที่ไม่พิจารณาให้บริษัท ดี แอนด์ เจฯ ปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าจากแบบโซลาร์เทอร์มอล (Solar Thermal) มาเป็นแบบแผงโซลาร์เซลล์ (Photovaltanic) มาก่อนหน้านี้นั้น ทางด้านบริษัท ดี แอนด์ เจฯ ในขณะนี้ได้ชักชวนนักลงทุนที่สนใจเข้ามาร่วมลงทุนแล้ว

แหล่งข่าวจากวงการพลังงานทดแทน เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่าขณะนี้มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่า บริษัทดี แอนด์ เจ คลีนฯ มีความพยายามที่จะกลับมาพัฒนาโครงการให้ได้ หลังจากที่ต้องหยุดชะงักลงมาตั้งแต่ปี 2554 หลังจากได้รับอนุมัติจากภาครัฐให้พัฒนาโครงการ (เพราะมีประเด็นการฟ้องร้องระหว่าง ดี แอนด์ เจฯ กับกฟภ.) โดยล่าสุดได้มีการชักชวนนักลงทุนที่สนใจเข้ามาร่วมลงทุนในโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ของบริษัท ดี แอนด์ เจฯ ดังกล่าวอย่างไม่เป็นทางการ และผู้ที่สนใจส่วนใหญ่ล้วนเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนรายใหญ่ 3 อันดับแรกที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยอีกด้วย

ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวของบริษัท ดี แอนด์ เจฯ น่าจะต้องการให้ส่งผลต่อการพิจารณาคดีของศาลส่วนหนึ่ง เพื่อชี้ให้เห็นว่ามีความพร้อมและความตั้งใจที่จะพัฒนาโครงการให้เกิดขึ้นจริงใน 4 องค์ประกอบหลัก จะต้องเตรียมความพร้อมด้านพื้นที่ตั้งโรงไฟฟ้าที่ต้องผ่านการทำประชาคมกับประชาชนในพื้นที่ ต้องมีเทคโนโลยีที่เหมาะสม ต้องมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) และต้องมีความพร้อมทางการเงินที่จะลงทุนก่อสร้างโครงการ

“ในส่วนที่ กฟภ.ได้ยื่นฟ้องร้องเพื่อให้มีมติยกเลิกคำสั่งของอนุญาโตตุลาการนั้น ดี แอนด์ เจฯ อาจจะคาดการณ์ว่าการตัดสินน่าจะพิจารณาไปในทิศทางเดียวกันกับอนุญาโตตุลาการ จึงมีการขยับในการเตรียมความพร้อมแต่ละด้านไว้รองรับ ตอนนี้รายใหญ่ในธุรกิจพลังงานทดแทนต่างก็โดดเข้าใส่โครงการนี้เพื่อขยายกำลังผลิตในมือ เพราะเป็นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่ต้องการเพิ่มกำลังผลิตใหม่เพื่อสร้างผลประกอบการให้ขยับขึ้นและส่งผลต่อราคาหุ้น”

แหล่งข่าวกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ในกรณีที่บริษัท ดี แอนด์ เจฯ ได้พัฒนากำลังผลิต 700 เมกะวัตต์นั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) รวมถึงคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) จะต้องพิจารณาใน 3 ประเด็นว่าจะบริหารจัดการอย่างไร คือ 1) มีผลกระทบต่อภาพรวมพลังงานไฟฟ้าของประเทศหรือไม่ เพราะขณะนี้กำลังผลิตไฟฟ้าพลังงานทดแทนที่ได้เริ่มผลิตไฟเข้าระบบทำให้มีการใช้ไฟฟ้าจากระบบหลักน้อยลงในช่วงกลางวัน ทำให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดกลับมาอยู่ในช่วงกลางคืนแทน อาจจะทำให้ต้องสำรองพลังงานในรูปแบบแบตเตอรี่ (Energy Storage) มากขึ้นหรือไม่

2) กำลังผลิตใหม่ดังกล่าวจะเข้าระบบในช่วงใด เนื่องจากขณะนี้ภาพรวมของระบบสายส่งยังไม่สามารถรับไฟฟ้าได้เพิ่มเติม จนกว่า กฟผ.จะขยายสายส่งเสร็จในปี 2564 และ 3) อัตราค่าไฟฟ้าในรูปแบบส่วนเพิ่มค่าไฟฟ้า (Adder) ที่กำหนดไว้ที่ประมาณ 8 บาท/หน่วย ควรมีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ เนื่องจากต้นทุนของการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ในปัจจุบันลดลงอย่างมาก ที่สำคัญเพื่อไม่ให้กระทบต่ออัตราค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Ft) ที่จะต้องเรียกเก็บจากประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้า

ด้านนายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวว่า ในเมื่อยังมีการดำเนินการฟ้องร้องกันอยู่ระหว่างบริษัท ดี แอนด์ เจฯ และ กฟภ.นั้น ก็ควรที่จะดำเนินการทางด้านกฎหมาย “ให้ถึงที่สุด” ก่อนที่จะดำเนินการในเรื่องอื่น ๆ ต่อไป ทั้งนี้ในส่วนที่บริษัท ดี แอนด์ เจฯ ได้ยื่นฟ้องคณะกรรมการบริหารมาตรการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้า จากพลังงานหมุนเวียน รวม 18 ราย ในขณะนั้นได้มีการยกฟ้องไปแล้ว ฉะนั้นในทางปฏิบัติเท่ากับว่าในส่วนของกำลังผลิต 700 เมกะวัตต์นี้ของบริษัท ดี แอนด์ เจฯ นั้นถือว่าได้ “ยกเลิกสัญญา” ไปแล้วเช่นกัน

รายงานข่าวจาก กฟภ.ระบุว่า ภายหลังจากที่อนุญาโตตุลาการตัดสินให้บริษัท ดี แอนด์ เจฯ ชนะคดี และมีคำสั่งให้ กฟภ.ต้องจ่ายเงินชดเชยรวม 180 ล้านบาท ให้กับบริษัท ดี แอนด์ เจฯ นั้น ทาง กฟภ.ได้ยื่นฟ้องร้องต่อศาลปกครองเพื่อให้ยกเลิก

คำสั่งดังกล่าวของอนุญาโตตุลาการเช่นกัน โดยให้เหตุผลว่า กฟภ. ดำเนินการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนนั้นเป็นนโยบายจากภาครัฐที่ต้องการส่งเสริมให้มีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนมากขึ้น ซึ่งขณะนี้รอเพียงให้ศาลปกครองเรียกผู้เกี่ยวข้องในกรณีดังกล่าวเข้ามาให้ข้อมูล