“อาหารสัตว์” กำไรพรวด ส่งออกพุ่ง-ต้นทุนวัตถุดิบต่ำ

การส่งออกสินค้าปศุสัตว์ของไทยขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2559 มีมูลค่า 3,059 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 1.51% จากปี 2558 และในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ ส่งออก 1,554 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 5.62% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลดีต่อธุรกิจ “ธุรกิจอาหารสัตว์” ซึ่งเป็นต้นน้ำของกลุ่มปศุสัตว์ได้มีกำไรเพิ่มขึ้นอย่างมาก

ปัจจัยบวกของธุรกิจอาหารสัตว์ไม่ใช่เพียงความต้องการใช้อาหารสัตว์ที่เพิ่มตาม “ปริมาณตัวกิน” เท่านั้น แต่สิ่งสำคัญมาจาก “ต้นทุนวัตถุดิบ” ที่ปรับลดลง โดยเฉพาะการนำเข้าวัตถุดิบราคาถูกจากต่างประเทศ โดยเฉพาะข้าวสาลี และกากข้าวสาลี (DDGS) ในปี 2559 มีปริมาณสูงสุดเป็นประวัติการณ์ 4.57 ล้านตัน จนทำให้เกษตรกรขาดทุน ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศลดลง กก.ละ 4-5 บาท นำมาสู่ ข้อเรียกร้องให้ “ขึ้นภาษีนำเข้ากากข้าวสาลีจาก 0% เป็น 27%” ตามเดิม เพื่อจำกัดปริมาณการนำเข้าข้าวสาลี

อย่างไรก็ตาม ขณะที่ผู้ผลิตอาหารสัตว์ยืนยันว่า จำเป็นต้องใช้ข้าวสาลี และ DDGS เพราะผลผลิตข้าวโพดในประเทศมีเพียงปีละ 4.5 ล้านตัน ไม่เพียงพอต่อดีมานด์ที่ต้องการ 8 ล้านตัน ต้องนำเข้า

นำเข้าข้าวสาลี 2 แสนตัน

กระทรวงพาณิชย์จึงได้ออกประกาศ กำหนดให้ผู้ผลิตอาหารสัตว์ที่ต้องการนำเข้าข้าวสาลีมาใช้ในการผลิต จะต้องซื้อข้าวโพดจากเกษตรกรในประเทศ3 ส่วน เพื่อจะได้รับสิทธินำเข้าข้าวสาลี 1 ส่วน เพื่อเป็นการแก้ปัญหา เช่น ต้องการนำเข้าข้าวสาลี 4 ล้านตัน ต้องซื้อข้าวโพด 12 ล้านตัน แต่ในทางปฏิบัติข้าวโพดในประเทศมีเพียง 4.5 ล้านตัน หากคิดตามสัดส่วนจะสามารถนำเข้าข้าวสาลี ได้เพียง 1.5 ล้านตัน ซึ่งเมื่อบวกกันแล้ว วัตถุดิบยังไม่เพียงพอ

ดังนั้น ผู้ผลิตอาหารสัตว์จึงได้ขอให้กระทรวงพาณิชย์ “ทบทวน” ประกาศมาตรการ 3 ต่อ 1 มีผลผ่อนปรนให้ผู้ผลิตอาหารสัตว์น้ำ (อาหารกุ้ง) 6 บริษัท สามารถนำเข้าข้าวสาลีโดยไม่ต้องซื้อข้าวโพด 150,423 ตัน หรือคิดเป็น 10% ของกำลังการผลิต เพราะอาหารสัตว์น้ำจำเป็นต้องใช้ข้าวสาลีในการผลิต

นายทรงศักดิ์ ส่งเสริมอุดมชัย นายกสมาคมการค้าพืชไร่ ให้ข้อสังเกตว่า การนำเข้าข้าวสาลีเกรดอาหารสัตว์ ช่วง 6 เดือนแรก (ม.ค.-มิ.ย.) 2560 ปริมาณ 564,534 ตัน มูลค่า 4,748,143,195 บาท

“การปรับขึ้นภาษีนำเข้า จะไม่กระทบต่ออุตสาหกรรมอาหารสัตว์ เพราะภาครัฐมีมาตรการทางภาษีช่วยอาหารสัตว์ตามมาตรา 19 ทวิ ประมวลรัชฎากร ให้หักคืนภาษีได้เมื่อส่งออกไปขายต่างประเทศ แต่ไม่ใช่ลดภาษีให้เพื่อนำเข้ามาแปรรูปและขายทำกำไรในประเทศ แต่หากยังจะนำเข้าควรซื้อจากประเทศที่ทำ FTA เช่น ออสเตรเลีย ไม่ควรนำเข้าจากยูเครน เพราะไม่มี FTA และมีความเสี่ยงจะมีสารอันตรายต่อสุขภาพ

ข้าวสาลีมีสารพิษปนเปื้อน

เพราะข้าวสาลีเกรดอาหารสัตว์ “Feed Wheat” ขายถูก และมีเปอร์เซ็นต์โปรตีนต่ำอยู่ประมาณ 7-8% ต่ำกว่า ข้าวสาลีชนิด Food Grade ที่มาทำอาหารคน แต่เสี่ยง “เชื้อรา Ergot Alkaloids” ที่มีผลต่อการทำงานของหัวใจ ระบบประสาทและกล้ามเนื้อ และยังมีความเสี่ยงว่าอาจมีปนเปื้อนสารกัมมันตรังสี ขณะที่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มีโปรตีน 8-9% เทียบเท่ากับข้าวสาลีเกรดอาหารสัตว์ และมี Corn Oil และสารอื่นที่มีคุณค่ากับสัตว์

เกมพลิกส่งออก “ข้าวโพด”

ประเด็นใหม่ที่พบข้อมูลจากสมาคมพ่อค้าข้าวโพดและพืชพรรณไทยระบุว่า ยอดส่งออกข้าวโพดตลอดปีการผลิต 2559/2560 (เดือน ก.ค. 59 ถึงเดือน มิ.ย. 60) มีปริมาณ 701,365 ตัน เพิ่มขึ้น 93.38% จากปี 2558/2559 ที่ส่งออกได้ 362,674 ตัน ไปยังตลาดฟิลิปปินส์ มากที่สุด 456,414 ตัน รองเวียดนาม 143,423 ตัน มาเลเซีย 28,719 ตัน และอินโดนีเซีย ซื้อ 24,300 ตัน

มีข้อน่าสังเกตว่า ยอดส่งออก “เวียดนาม” เพิ่มขึ้น 1,507% จากปี ก่อนสะท้อนว่าภาคปศุสัตว์เวียดนามขยายตัวขึ้นเป็นอย่างมาก

สาเหตุที่ยอดส่งออกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพิ่มขึ้น 93.38% อาจเพราะผลผลิตข้าวโพดเพิ่มขึ้นสวนทางมาตรการควบคุมไม่ให้ปลูกแบบ “รุกเขา-เผาป่า” หรือไม่ก็เพราะผู้ผลิตอาหารสัตว์หันไปใช้ข้าวสาลีนำเข้าแทน

อย่างไรก็ตาม ห่วงโซ่อุปทานทั้งวงจรต้องพึ่งกัน รัฐควรส่งเสริมให้ช่วยกัน “แบบพี่ช่วยน้อง” และให้เพิ่มผลผลิตต่อไร่ จากปัจจุบันที่ไทยผลิตเฉลี่ย 650 กก./ไร่ ต่ำกว่าสหรัฐ ปลูกได้ 1,605.34-1,706.94 กก./ไร่ มากกว่าไทย 2.54 เท่า หากเพิ่มผลผลิตได้จะทำให้ต้นทุนลดลงไม่ต้องเดือดร้อน

เวียดนามแข่งเดือดส่งออกไก่

นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย กล่าวว่า ทุกฝ่ายควรมองปัญหาภาพรวมและร่วมกันแก้ไข ถึงอย่างไรก็ต้องนำเข้าวัตถุดิบเพราะผลิตไ่ม่เพียงพอ ประกอบกับธุรกิจปศุสัตว์แข่งขันรุนแรง ซึ่งขณะนี้ญี่ปุ่นเปิดตลาดให้เวียดนามแล้ว คาดว่าปีหน้าอียูจะเปิดตลาดให้อีก

“เวียดนามได้เปรียบไทย เพราะมีพืชตัดแต่งพันธุกรรม (GMO) ได้ และต้นทุนค่าแรงงานต่ำกว่าไทย 1 ใน 3 กำลังการผลิตอาหารสัตว์เพิ่มขึ้นปีละ 20 ล้านตัน ต้องนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศเช่นกัน แต่ไม่มีภาษี 0%”