ปูพรมแดงรับ… แต่นักลงทุนยังไม่มา! ไทยเดินเกมถึงไหน แล้วประเทศใดน่าทำธุรกิจกว่า?

การเปิดทางให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาหว่านเม็ดเงินลงทุนในไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่โครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก: อีอีซี ในพื้นที่ของ จังหวัดชลบุรี ฉะเชิงเทรา และระยอง  ที่รัฐบาลคาดหวังให้ผลิดอกออกผลเป็นตัวเลขจีดีพี (GDP) เพื่อที่จะผลักดันให้ตัวเลขการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยเพิ่มขึ้น ยังเป็นเพียงความหวังของรัฐบาลคสช. ภายใต้การนำของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา 

ดูว่านักลงทุนต่างชาติเหมือนจะมา แต่ก็ยังมาไม่ถึงสักที !

แฟ้มภาพ

เมื่อต้นปี 2561 “เจน นำชัยศิริ” ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ณ เวลานั้น กล่าวไว้ว่า มีความเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่าในไตรมาสสองของปี 2561 หลังจากที่ พ.ร.บ.อีอีซี ออกมาอย่างเป็นทางการ จะมีนักลงทุนจากต่างชาติ โดยเฉพาะจากญี่ปุ่น จีน และไต้หวัน เข้ามาลงทุนให้เห็น “เม็ดเงิน” จริงๆ และคาดหวังที่จะเห็นเศรษฐกิจของประเทศขยายตัว 5 %

กระทั่ง “พ.ร.บ.อีอีซี” หรือ พระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ที่รัฐบาลเร่งจัดทำเพื่อ ชูอีอีซีเป็นฮับลงทุน สนองต่อนโยบายการส่งเสริมเศรษฐกิจของรัฐบาล คลอดออกมาเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา พร้อมกับสิทธิพิเศษนานาประการ อาทิ การให้สิทธิ์ถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดินโดยการเช่าเป็นระยะเวลา 50 ปี และสามารถต่ออายุได้อีก 49 ปี การประกาศเป็นเขตปลอดอากร การอนุญาตให้วีซ่า 5 ปี เป็นต้น ก็ยังไม่สามารถดึงดูดนักลงทุนได้ตามที่ตั้งใจ…

ทว่าจนถึงไตรมาสสามในขณะนี้ นอกเหนือจากความหวังครั้งใหญ่ของไทยอย่าง “แจ็ค หม่า” เจ้าพ่อแห่งอาลีบาบาที่ประกาศจะมาลงทุนในโครงการอีอีซีนี้อย่างแน่นอน แต่ในทางปฏิบัติก็ยังเรียกได้ว่า “ยังไม่เห็นเป็นรูปธรรมชัดเจน”มากนัก

ขณะที่ความคืบหน้ารถไฟความเร็วสูง หรือ “ไฮสปีดเทรน” เชื่อมสามสนามบินสุวรรณภูมิ-ดอนเมือง-อู่ตะเภา เพื่ออำนวยความสะดวกโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญช่วยผลักดันนักลงทุนไปยังพื้นที่โครงการอีอีซี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง ล่าสุด การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เผยว่ามีเอกชนทั้งไทยและต่างชาติซื้อซองประมูลถึง 31 ราย  แยกเป็น บริษัทไทย 14 ราย จีน 7 ราย ญี่ปุ่น 4 ราย ฝรั่งเศส 2 รายมาเลเซีย 2 ราย เกาหลี 1 ราย และอิตาลี 1 ราย

จึงดูเป็น “เค้าลาง” ความคืบหน้าที่ดีของอนาคตอีอีซี

เดินเครื่องเต็มสูบ ลุย “โรดโชว์อีอีซี” รอบทิศ

“โรดโชว์” คือหนึ่งในกลยุทธ์ที่รัฐบาลเดินหน้าโปรโมตโครงการอีอีซีให้เป็นที่สนใจของนักลงทุนต่างชาติอย่างเต็มสูบ โดยมี “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ รับบทบาทสำคัญในการเป็นแม่ทัพใหญ่ ปูทางประชาสัมพันธ์ เพื่อดึงนักลงทุนต่างชาติเข้ามาเช่นเดียวกัน “อุตตม สาวนายน” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสากรรม พ่วงด้วย “กอบศักดิ์ ภูตระกูล” รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เลขาธิการบีโอไอ “คณิศ แสงสุพรรณ” เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก และมี “คณะบีโอไอ” เกาะชิดติดสนามและเป็นหน่วยติดตามความคืบหน้า พร้อมทั้งคอยกระตุ้นให้นักลงทุนต่างชาติเร่งมาลงทุนในไทยอย่างจริงจัง

แฟ้มภาพ
แฟ้มภาพ

การเดินทางพบปะนักลงทุนไทยและต่างประเทศเป็นไปอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2558 -2560 โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับการเดินสายต่างประเทศที่ทำสถิติ 3 ปี โรดโชว์ 10 ประเทศ ก็ยังเป็นแนวทางที่รัฐบาลทำต่ออยู่…

ยกตัวอย่างเช่นเมื่อวันที่ 8-10 กุมภาพันธ์ 2561 คณะรัฐบาลไทยเดินทางไปยังจังหวัดฟุคุโอะกะ “ประเทศญี่ปุ่น” เพื่อขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจและชักจูงการลงทุน อาทิ การประชุมหารือร่วมกับภาครัฐและภาคเอกชนของญี่ปุ่น การจัดกิจกรรมสัมมนาชักจูงการลงทุน กิจกรรมจับคู่ธุรกิจระหว่างภาคธุรกิจไทยกับนักลงทุนในจังหวัดฟุคุโอะกะ และการพบปะหารือรายบริษัทกับนักลงทุนชั้นนำของญี่ปุ่น

เมื่อวันที่ 20-26 มิถุนายน 2561 คณะรัฐบาลไทย นำโดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เดินทางไปยัง “ประเทศอังกฤษ-ฝรั่งเศส” เพื่อจูงใจอังกฤษมาลงทุนอุตสาหกรรมไบโอชีวภาพและยานยนต์ไฟฟ้า และชักชวนภาคเอกชนฝรั่งเศสมาลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เช่น เมืองอัจฉริยะ ระบบราง ยานยนต์ และพลังงานทางเลือก

เมื่อวันที่ 27-30 มิถุนายน 2561 คณะรัฐบาลไทยเดินทางไปยัง “ฮ่องกง-เซินเจิ้น” เพื่อเยี่ยมชมศูนย์นิทรรศการเทคโนโลยีของบริษัท Foxconn และเยี่ยมชม Campus และโรงงาน ขณะเดียวกันบีโอไอได้นำเสนอโครงการระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เพื่อชักชวน “ฟอกซ์คอนน์” กลุ่มธุรกิจผลิตอิเล็กทรอนิกส์ “ไชน่า เนชั่นแนล ​ยีนแบงก์” ธุรกิจบริการทางการแพทย์ ให้มาลงทุนในไทย

เมื่อวันที่ 4-6 กรกฎาคม 2561 มีการไปโรดโชว์ที่กรุงโตเกียว “ประเทศญี่ปุ่น” ในงาน “Eastern Economic Corridor (EEC): Thailand 4.0 in Action” พร้อมมีการนำเสนอแผนการพัฒนาอีอีซี โครงการลงทุนสำคัญของอีอีซีและสิทธิประโยชน์การลงทุน ให้ผู้บริหารบริษัทชั้นนำญี่ปุ่นกว่า 230 คน

เมื่อวันที่ 17-21 กรกฎาคม 2561 คณะรัฐบาล นำโดยรองนายกฯ เดินทางไปยังจังหวัดไอจิและจังหวัดมิเอะ “ประเทศญี่ปุ่น” เพื่อร่วมประชุมคณะกรรมาธิการระดับสูงไทย-ญี่ปุ่น ครั้งที่ 4 พร้อมทั้งพบปะผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ อากาศยาน ผู้ผลิตอาหารทางการแพทย์ ผู้ผลิตเครื่องจักร หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ เพื่อชักชวนให้มาลงทุนที่ในพื้นที่อีอีซี

ชุบชีวิต Ease of Doing Board

ผลจากความแห้งแล้งนักลงทุนต่างชาตินี้เองที่ทำให้ “สภาอุตฯ” ต้องเร่งแก้เกม เสนอรัฐบาลให้ฟื้นคืนชีพคณะทำงานเรื่องของความยากง่ายในการประกอบธุรกิจ (Ease of Doing Board) เพื่อใช้เป็นเวทีหารือทุกเดือนกับกระทรวงการคลัง กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งเป็นคณะทำงานที่เคยก่อตั้งเมื่อเดือนกันยายน 2558

โดย “สุพันธุ์ มงคลสุธี” ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวถึงเหตุผลที่ต้องฟื้นบอร์ดความยากง่ายในการทำธุรกิจว่า “นักลงทุนต่างชาติส่วนใหญ่ยังคงประเมินภาพรวมการลงทุนในประเทศไทยไปในทิศทางที่ดี มีความเชื่อมั่นในระดับสูงขึ้นมากถ้าเทียบจากเมื่อก่อน จากการที่รัฐบาลเริ่มทำโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบัง-มาบตาพุดเฟส 3 ที่กำลังจะเริ่มเปิดประมูลในโครงการถัดไป กฎหมายที่เกี่ยวข้องก็มีการแก้ไขแล้ว เพื่อให้เกิดการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) แต่นักลงทุนต่างชาติยังคงกังวลถึงขั้นตอนการติดต่อทำธุรกิจ ความยากง่าย หน่วยงานที่รับผิดชอบมีหลายหน่วยงาน เราจะทำแบบ one stop service ได้หรือไม่

ไทยเร่งโกออนไลน์ หวังไต่อันดับปีนี้

ทุกๆ ปี ธนาคารโลกจะมีรายงานความยากง่ายในการทำธุรกิจ ซึ่งเป็นการจัดอันดับประเทศที่ง่ายต่อการลงทุนประกอบธุรกิจ 190 ทั่วโลก โดยเมื่อเดือนตุลาคม 2560 “Doing Business 2018: Reforming to Create Jobs” จัดอันดับให้ไทยอยู่ที่ 26 ขยับขึ้นมาจากปี 2559 ซึ่งเคยอยู่ที่อันดับ 46 ทั้งนี้รัฐบาลไทยก็ยังคาดหวังที่จะไต่อันดับเพิ่มขึ้นอีกในปีถัดไป

แฟ้มภาพ

ทั้งนี้ ตัวชี้วัดที่อยู่ในอันดับดีที่สุดของไทยที่ 13 คือ การบริการไฟฟ้า รองลงมาที่ 16 คือ “การคุ้มครองนักลงทุนรายย่อย” ขณะที่ตัวชี้วัดที่อยู่ในอันดับแย่สุดคือ การจดทะเบียนทรัพย์สิน ในอันดับ 68 ส่วนการจ่ายและคืนภาษี และการค้าขายข้ามแดนรั้งอันดับที่ 67 และ 57 ตามลำดับ จาก 190 ประเทศทั่วโลก

“ประชาชาติธุรกิจ” ชวนย้อนดูผลงานที่รัฐบาลเร่งปูพรมวางรากฐานให้การเข้ามาลงทุนของนักธุรกิจต่างชาติเป็นไปโดยง่ายตั้งแต่ปี 2560 ซึ่งครอบคลุม 10 ตัวชี้วัดในการพิจารณาจัดอันดับความยากง่ายในการลงทุนตามที่ธนาคารโลกกำหนดไว้ ได้แก่ การเริ่มต้นการประกอบธุรกิจ การขออนุญาตก่อสร้าง การบริการไฟฟ้า การจดทะเบียนทรัพย์สิน การเข้าถึงสินเชื่อ การคุ้มครองนักลงทุนรายย่อย การจ่ายและคืนภาษี การค้าขายข้ามแดน การดำเนินการให้เป็นไปตามสัญญาและการล้มละลาย ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นไปตามแนวทาง 4.0 เน้นให้ทุกอย่าง “โกออนไลน์”

ก่อนการประเมินผลของธนาคารโลกในรอบต่อไป ซึ่งเป็นรายงานผล “Doing Business 2019″ ที่จะมีการวัดผลการดำเนินงานในช่วงตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2560 – 31 พฤษภาคม 2561 สำนักงาน ก.พ.ร. จึงดำเนินการรวมรวมแผนการดำเนินงานในระยะต่อไป ในช่วง 1 กันยายน 2560 – 31 พฤษภาคม 2561 ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อผลักดันการดำเนินการตามข้อเสนอของธนาคารโลกในระยะกลางและระยะยาวต่อไป

แผนดำเนินงานปีงบประมาณ 2561 สำหรับรอบการประเมินผลธนาคารโลก

การเริ่มต้นประกอบธุรกิจ – กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน สำนักงานประกันสังคม กรรมสรรพากร ประกาศปรับลดขั้นตอนการจัดตั้งธุรกิจจากเดิม 4.5 วัน เหลือ 2 วัน โดยรวมขั้นตอนการจองชื่อกับจดทะเบียนนิติบุคคลทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Registration) ไว้ในขั้นตอนเดียว พร้อมปรับอัตราค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนคงที่ จากเดิมอัตรา 5,500-275,000 บาท เหลืออัตราเดียว 5,500 บาท และหากจดทะเบียนผ่านระบบ e-Registration จะเสียค่าธรรมเนียมเพียง 3,850 บาท นอกจากนี้ ยังร่วมมือแก้ไขปัญหาการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มและขึ้นทะเบียนลูกจ้าง พัฒนาระบบ biz portal เพื่อให้เอกชนสามารถยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มและขึ้นทะเบียนลูกจ้างผ่านระบบออนไลน์ได้

การขออนุญาตก่อสร้าง – กรมโยธาธิการและผังเมืองให้ลดระยะเวลาการออกใบอนุญาต นำระบบบริหารความเสี่ยงมาลดขั้นตอนและระยะเวลาการตรวจควบคุมการก่อสร้างอาคารเหลือ 3 ครั้งและขออนุญาตใช้อาคารเหลือ 15 วัน

การขอใช้ไฟฟ้า – การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ดำเนินการติดตั้งมิเตอร์วัดกระแสไฟฟ้าคู่ขนานกับการดำเนินการนอกอาคารอื่นๆ พร้อมทั้งให้ปรับปรุงและส่งเสริมให้มีการใช้ Online Application Portal ให้สามารถขออนุญาตก่อสร้างและติดตั้งสาธารณูปโภค และขอใช้ไฟฟ้าผ่านระบบออนไลน์ได้ รวมทั้งให้ปรับลดภาระของการวางเงินประกันที่มีวงเงินประกันสูงมาก

การจดทะเบียนทรัพย์สิน – กรมที่ดินให้ปรับข้อกำหนดในการขอเอกสารสำเนาหนังสือรับรองของบริษัทจากกระทรวงพาณิชย์ พร้อมดำเนินการเชื่อมโยงข้อมูลกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อจดทะเบียนทรัพย์สิน ทั้งนี้เพิ่มช่องทางการตรวจสอบหลักทรัพย์และการตรวจสอบขอมูล เช่น รูปแปลงที่ดิน ค่าใช้จ่ายรังวัดที่ดิน ค่าธรรมเนียม ภาษีอากร ผ่าน Mobile App “LandsMaps’

การเข้าถึงสินเชื่อธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กรมพัฒนาธุรกิจทางการค้า และบริษัท ข้อมูลแห่งชาติ จำกัด เชื่อมข้อมูลหลักประกันการชำระหนี้ทางอิเล็กทรอนิกส์, เปลี่ยนจากการจดทะเบียนไปเป็นจดแจ้ง และนำ Pay-in slip และ e-Receipt มาใช้ในการชำระเงิน

แฟ้มภาพ

การคุ้มครองนักลงทุนรายย่อย –  สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย คุ้มครองนักลงทุนรายย่อยให้เข้าถึงข้อมูลและเพิ่มความสะดวกในการฟ้องร้องคดีของผู้ถือหุ้น

การจ่ายและคืนภาษี – กรมสรรพากรพัฒนาและสำนักงานประกันสังคมใช้ระบบ Tax spreadsheets คำนวณปรับปรุงรายการทางบัญชีเป็นภาษี 5 รายการ, ขอใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ได้ผ่าน e-Tax Invoice by email ตลอดจนอำนวยความสะดวกและให้ความรู้ผู้ประกอบการด้วยคู่มือแนวทางการลงบัญชีภาษีอากร, ขยายเวลายื่นชำระเงินสมทบประกันสังคมผ่านระบบออนไลน์

การค้าขายข้ามแดน –  กรมศุลกากร การท่าเรือแห่งประเทศไทย กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ และกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศร่วมกันพัฒนา และเปิดให้บริการ e-Matching รายงานเรือเข้าและบัญชีสินค้าสำหรับเรือ และเชื่อมโยงใบกำกับการขนย้ายสินค้าและแบบขอนำตู้สินค้าขาออกผ่านเข้าเขตศุลกากรการท่าเรือ ผ่านระบบ National Single Window, ให้บริการ e-Transition พิธีการศุลกากรอิเล็กทรอนิกส์สำหรับของถ่ายลำและการขนส่งต่อเนื่องเปลี่ยนยานพาหนะ, Pre–Arrival Processing กระบวนการยื่นใบขนสินค้าและชำระค่าภาษีอากรล่วงหน้า และ Tariff e-Service ฐานข้อมูลสืบค้นผลคำวินิจฉัยประเภทพิกัดศุลกากร

การดำเนินการให้เป็นไปตามสัญญา – ศาลยุติธรรมและกรมบังคับคดีให้บริการ e-Filing สำหรับระบบยื่นและส่งคำคู่ความและเอกสารโดยสื่ออิเล็กทรอนิกส์และระบบชำระเงิน e-Payment ทั้งนี้ให้บริการคัดลอกสำเนาคำพิพากษาและคำสั่งระหว่างศาล รวมทั้งเปิดแอป Mobile App “LED Debt Info” “LED Property” “LED Property Plus” และ “LED Streaming”

การล้มละลาย – กรมบังคับคดีปรับปรุงระบบให้บริการข้อมูลด้านการบังคับคดี ตรวจสอบบุคคลล้มลาะลายผ่าน Mobile App LED ABC ติดตามทรัพย์สินผ่าน ASst-Tracking System และนำระบบ e-Insolvency Case Management มาใช้ในการบังคับคดีล้มละลาย

ข้อมูลจาก Ease of Doing Business Thailand

ส่อง 10 อันดับประเทศน่าทำธุรกิจ

“บิสิเนส อินไซเดอร์ ยูเค” รายงานการจัดอันดับ 12 ประเทศที่ดีที่สุดสำหรับการลงทุนจากธนาคารโลก พร้อมทั้งขยายภาพว่าแต่ละประเทศตัวท็อปมีตัวชี้วัดอะไรบ้างที่เป็นจุดแข็งและจุดอ่อน!

แฟ้มภาพ

อันดับหนึ่งคือ นิวซีแลนด์ ครองอันดับหนึ่งปัจจัยการเริ่มต้นประกอบธุรกิจ การขออนุญาตก่อสร้าง การจดทะเบียนทรัพย์สิน การเข้าถึงสินเชื่อ และการคุ้มครองนักลงทุนรายย่อย ขณะที่อันดับที่แย่ที่สุดคือปัจจัยการค้าขายข้ามแดนอยู่ในอันดับ 55

อันดับสองคือ สิงคโปร์ ประเทศดาวรุ่งซึ่งได้อันดับหนึ่งเมื่อปีที่แล้ว ยังคงรักษาตำแหน่งท็อปได้อยู่โดยเฉพาะปัจจัยการคุ้มครองนักลงทุนรายย่อย และรั้งอันดับสองของปัจจัยการดำเนินให้เป็นไปตามสัญญา  และอันดับ 29 สำหรับการล้มละลาย

อันดับสามคือ เดนมาร์ค ประเทศแถบสแกนดิเนเวียนร่วงจากที่หนึ่งตั้งแต่ปีก่อนหน้า แต่ยังคงรักษาท็อปได้ในเรื่องการค้าขายข้ามแดน และได้อันดับ 32 สำหรับปัจจัยการเข้าถึงสินเชื่อ

อันดับสี่คือ ฮ่องกง อีกหนึ่งดาวรุ่งที่ครองอันดับหนึ่งเมื่อปีที่แล้ว ได้อันดับสามสำหรับการเริ่มต้นธุรกิจ การบริการไฟฟ้า การคุ้มครองนักลงทุนรายย่อย และการจ่ายและคืนภาษี ขณะที่การจดทะเบียนทรัพย์สินรั้งที่อันดับ 61

อันดับห้าคือ เกาหลีใต้ รั้งอันดับหนึ่งของความง่ายในการบริการไฟฟ้าและการดำเนินให้เป็นไปตามสัญญา แต่ปัจจัยการค้าขายข้ามแดนอยู่ที่อันดับ 32

อันดับที่หกคือ นอร์เวย์ ประเทศที่มีการกระโดดขึ้นมาสองอันดับจากปีก่อน และรั้งในอันดับ 4 สำหรับการดำเนินให้เป็นไปตามสัญญา แต่การขออนุญาตก่อสร้างกลับตกอยู่อันดับที่ 43

อันดับที่เจ็ดคือ สหราชอาณาจักร ซึ่งอันดับร่วงลงมาหนึ่งลำดับจากปีก่อน ได้อันดับที่ 6 ของตัวชี้วัด การคุ้มครองนักลงทุนรายย่อย ขณะที่ตัวชี้วัดการลงทะเบียนทรัพย์สินอันดับ 47

อันดับแปดคือ สหรัฐอเมริกา ก็เป็นอีกหนึ่งประเทศที่ร่วงลงมาหนึ่งลำดับจากปีก่อนเช่นกัน แต่ยังรักษาตำแหน่งที่ 2 สำหรับการเข้าถึงสินเชื่อ แม้ว่าจะรั้งอันดับ 41 สำหรับตัวชี้วัดการคุ้มครองนักลงทุนรายย่อยก็ตาม

อันดับที่เก้าคือ สวีเดน ยังคงรักษาตำแหน่งเดิมไว้ได้ แม้ว่าจะได้อันดับ 6 สำหรับการบริการไฟฟ้า แต่การเข้าถึงสินเชื่อกลับอยู่ที่ 75

และอันดับที่สิบคือ มาซิโดเนีย ม้ามืดที่ไต่ลำดับผงาดขึ้นมาอยู่ในท็อปสิบได้ จากปีก่อนที่อยู่อันดับที่ 16 ปีนี้ได้อันดับ 4 สำหรับการเริ่มต้นประกอบธุรกิจ ขณะที่การลงทะเบียนทรัพย์สินอยู่ที่อันดับ 48

ไทยอยู่ตรงไหนในอาเซียน?

หากเทียบเคียงจุดที่ไทยกำลังยืนอยู่บนเวทีอาเซียน 10 ประเทศ ข้อมูลจากธนาคารโลกระบุว่า ไทยอยู่ในอันดับที่ 3 (อันดับโลก26) รองจากสิงคโปร์และมาเลเซีย ซึ่งอยู่ในอันดับโลกที่ 24 ขณะที่อันดับที่ 4 เมื่อเทียบกับประเทศอาเซียนเป็นของบรูไน ถัดไปคือเวียดนาม(อันดับโลก68) อินโดนีเซีย(อันดับโลก72) ฟิลิปปินส์(อันดับโลก113 ) กัมพูชา(อันดับโลก135) ลาว(อันดับโลก141) และพม่า(อันดับโลก 177) ตามลำดับ

ภาพจากเว็บไซต์ธนาคารโลก

ถือว่าไม่น้อยหน้าที่เดียวสำหรับประเทศไทยที่สามารถรั้งอันดับประเทศที่มาความง่ายในการลงทุน เมื่อเทียบกับระดับโลกก็ติดท็อป 30 หรือเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนก็ชิงที่ 3 มาได้ ไหนจะเร่งปรับปรุงระเบียบงานราชการทั้ง 10 ตัวชี้วัดให้มีประสิทธิภาพและอำนวยความสะดวกอย่างเต็มพิกัด อีกทั้งการโรดโชว์อีอีซีมัดใจนักลงทุนต่างชาติทั้งรายเล็ก-รายใหญ่ ที่รัฐบาลออกรอบทัวร์ประเทศต่างๆ จนเรียกว่า แทบจะปูพรมแดงต้อนรับขับสู้ขนาดนี้…แต่นักลงทุนก็ยังไม่แลนดิ้งสักที!

นี่จึงอาจจะเป็นเวลาที่เหมาะสมที่สุดที่รัฐบาลต้องพิจารณาอย่างจริงจังว่าอะไรกันแน่ที่เป็นปัญหาให้เม็ดเงินที่รอคอยยังไม่ถึงมือ แล้วจึงรีบแก้ให้ถูกจุด เพื่อให้การจัดอันดับประเทศน่าลงทุนจากธนาคารโลกในปีหน้าไต่อันดับ ทั้งยังมัดใจต่างชาติขนเงินเข้ามาลงทุนในอีอีซีตามที่ใจหวัง…