ม.หอการค้า เผยดัชนีคอร์รัปชั่นขยับดีขึ้น แต่ยังกังวลรัฐลงทุนบิ๊กโปรเจ็กต์เปิดช่องทุจริต

นางเสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจดัชนีสถานการณ์คอร์รัปชั่นไทย เดือนมิถุนายน 2560 ว่า ครั้งนี้สำรวจ 2,400 ตัวอย่าง เมื่อเดือนมิถุนายน 2560 พบว่า ดัชนีสถานการณ์คอร์รัปชั่นไทย (Thai CSI) อยู่ที่ระดับ 53 ลดลงจากเดือนธันวาคม 2559 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 55 ดัชนีสถานการณ์คอร์รัปชั่นไทยในปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 52 เท่ากับเดือนธันวาคม 2559 และดัชนีแนวโน้มสถานการณ์คอร์รัปชั่นไทยอยู่ที่ 54 จากเดือนธันวาคม 2559 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 57 โดยรวมดัชนีเกินระดับ 50 ถือว่าสถานการณ์ยังอยู่ในระดับดี อย่างไรก็ตามดัชนีแต่ละตัวที่ลดลงดังกล่าว เป็นผลหลักจากเรื่องอนาคตที่ประชาชนกังวลว่าจะมีช่องว่าง ช่องโหว่จากกฎหมายที่จะเริ่มคอร์รัปชั่นได้จากโครงการลงทุนของภาครัฐขนาดใหญ่หลายโครงการที่จะออกมา

นางเสาวณีย์ กล่าวว่า เมื่อแยกดูรายดัชนี พบว่าดัชนีปัญหาและความรุนแรงของการคอร์รัปชั่น เดือนมิถุนายน 2560 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 44 ลดลงจากเดือนธันวาคม 2559 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 49 ดัชนีการป้องกันการคอร์รัปชั่น อยู่ที่ 53 จาก 55 ดัชนีการปราบปรามการคอร์รัปชั่น อยู่ที่ 54 จาก 57 และดัชนีการสร้างจริยธรรมและจิตสำนึก อยู่ที่ 60 จาก 58 สะท้อนว่ายังมีปัญหาและความรุนแรงของคอร์รัปชั่นอยู่ แต่การสร้างจริยธรรมและจิตสำนึกของทุกภาคส่วนตระหนักถึงเรื่องคอร์รัปชั่นมากขึ้น

นางเสาวณีย์กล่าวว่า สำหรับความเสียหายของการทุจริตคอร์รัปชั่นประเมินจากงบประมาณประเภทจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยราชการ พบว่ามีผู้ประกอบการ 59% ระบุไม่จ่ายเงินเพิ่มพิเศษแก่ข้าราชการหรือนักการเมืองที่ทุจริตเพื่อให้ได้สัญญา ถือว่าเป็นสัดส่วนสูงสุดในรอบ 8 ปี นับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2553 มีผู้ประกอบการ 28% ตอบว่าไม่ทราบ และมีผู้ประกอบการ 13% ที่จ่ายเงินพิเศษ ต่างจากเดือนธันวาคม 2559 ซึ่งอยู่ที่ 35% 47% และ 18% ตามลำดับ แม้ในกลุ่มที่จ่ายเงินพิเศษมีสัดส่วนลดลง แต่พบว่ามีการจ่ายเฉลี่ยเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 5-15% ของวงเงินโครงการจัดซื้อจัดจ้างทั้งหมด หรือจ่ายเงินพิเศษเฉลี่ย 6.54 หมื่นล้านบาท-1.96 แสนล้านบาท ต่างจากเดือนธันวาคม 2559 ซึ่งอยู่ที่ 1-15% ทั้งนี้การจ่ายเงินพิเศษที่ 5-15% ดังกล่าว คิดเป็น 2.24-6.72% ของงบประมาณรายจ่ายทั้งหมดของปี 2560 และคิดเป็นสัดส่วน 0.43-1.29% ของจีดีพี หากลดการเรียกเงินสินบนทุกๆ 1% จะทำให้การคอร์รัปชั่นลดลง 1 หมื่นล้านบาท

นางเสาวณีย์กล่าวอีกว่า นอกจากนี้พบว่า กลุ่มตัวอย่าง 51% เห็นว่าความรุนแรงของปัญหาคอร์รัปชั่นในปัจจุบันลดลงเทียบกับปีที่ผ่านมา มี 14% ตอบเท่าเดิม และ 35% ตอบว่าปัจุบันมีปัญหาเพิ่มขึ้น ส่วนคาดการณ์ความรุนแรงปัญหาคอร์รัปชั่นในปีหน้า มี 46% บอกเพิ่มขึ้น 30% ลดลง 13% เท่าเดิม และ 11% ไม่ทราบ สาเหตุสำคัญที่เกิดคอร์รัปชั่นในไทย คือความไม่เข้มงวดของการบังคับใช้กฎหมาย กระบวนการทางการเมืองขาดความโปร่งใสและตรวจสอบได้ยาก กฎหมายเปิดโอกาสให้สามารถใช้ดุลยพินิจที่เอื้อต่อการทุจริต ขาดกลไกการกำกับดูแลกิจการและการตรวจสอบที่มีประสิทธิภาพ โดยรูปแบบของการคอร์รัปชั่นที่เกิดขึ้นบ่อยยังเป็นการทุจริตในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง การให้สินบน การเอื้อประโยชน์แก่ญาติหรือพรรคพวก

นางเสาวณีย์กล่าวอีกว่า ขณะเดียวกันกลุ่มตัวอย่าง 96% ไม่เห็นด้วย ที่การทุจริตคอร์รัปชั่นเป็นเรื่องไกลตัว ไม่ได้เกี่ยวข้องกับตัวเองโดยตรง และมี 95% ระบุว่าไม่เห็นด้วยที่รัฐบาลทุจริตคอร์รัปชั่นแต่มีผลงานและทำประโยชน์ให้สังคม และ 95% ก็ไม่เห็นด้วยที่การให้สินน้ำใจเล็กๆน้อยๆ แก่เจ้าหน้าที่รัฐเป็นเรื่องไม่เสียหาย นอกจากนี้กลุ่มตัวอย่าง 56% มองการทำงานของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีประสิทธิภาพ มี 14% มอง ป.ป.ช. มีประสิทธิภาพปานกลาง มี 28% มองไม่มีประสิทธิภาพ

นายธนวรรธน์ พลวิชัย รองอธิการบดีอาวุโสวิชาการและงานวิจัย และ ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ผลสำรวจดัชนีโดยรวมยังอยู่ในเกณฑ์ดี ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมารัฐบาลปัจจุบันดูแลสถานการณ์คอร์รัปชันอย่างดี แต่นานาชาติยังไม่เห็น องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ จัดดัชนีชี้วัดภาพลักษณคอร์รัปชัน ในปีที่ผ่านมาให้ไทยได้คะแนน 35 จาก 38 และอันดับลดลง101 จาก 76 ไม่ใช่ว่าไทยทำสถานการณ์ไม่ดี แต่การจัดอันดับดังกล่าวนำเรื่องการเมืองการแก้ไขกฎหมายต่าง ๆ เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย แต่ปีนี้สถานการณ์ในประเทศไทยดีขึ้น เห็นผลเป็นรูปธรรม จะช่วยทำให้ภาพลักษณ์ของประเทศอยู่ในมิติที่ดีขึ้น

 

ที่มา : มติชนออนไลน์