ทูตจีนทวงถามรถไฟ “ไทย-จีน” สนับสนุน “EEC” เชื่อมโลก “OBOR”

รัฐบาลจีนพยายามเปลี่ยนโฉมหน้าเส้นทางการค้าโลก ด้วยยุทธศาสตร์ “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” (One Belt One Road : OBOR) ขณะที่ไทยมีอาวุธลับ คือ “EEC” หรือระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก ในงานสัมมนาของสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หัวข้อ “การริเริ่มเศรษฐกิจเส้นทางสายไหม : ผลกระทบต่อประเทศไทยกับอนาคตการค้าของไทย”

นายกวน มู เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีน ประจำประเทศไทย ได้กล่าวว่า ระดับความสัมพันธ์ทั้งด้านการทูตและการค้าของไทยกับจีนอยู่ในระดับที่ดีมาก หลาย ๆ โครงการของทั้งสอง

ประเทศมีความคล้ายคลึงกัน น่าจะเป็นประโยชน์หากสามารถนำมาเชื่อมต่อกันได้ทูตกวน มู อธิบายว่า โครงการ OBOR เป็นเส้นทางสายไหมใหม่ที่ฟื้นจากเส้นทางสายไหมเดิม เพื่อเชื่อมโยงจีนกับเอเชียกลางไปสู่ยุโรปเป็นการเชื่อม 5 ระเบียงเศรษฐกิจสำคัญ และอีก 1 เส้นทางที่เกี่ยวข้อง ได้แก่

1) ระเบียงเศรษฐกิจจีน-มองโกเลีย-รัสเซีย

2) ระเบียงเศรษฐกิจจีน-ปากีสถาน

3) ระเบียงเศรษฐกิจบังกลาเทศ-จีน-อินเดีย-เมียนมา

4) ระเบียงเศรษฐกิจจีน-คาบสมุทรอินโดจีน

5) ระเบียงเศรษฐกิจจีน-เอเชียกลาง และตะวันตก และอีก 1 เส้นทาง คือ ยูเรเซียใหม่

สำหรับไทยซึ่งอยู่บนแถบทางใต้ของโครงการนี้ โดยอยู่ในระเบียงเศรษฐกิจจีน-คาบสมุทรอินโดจีน ซึ่งอยู่ในทำเลที่สำคัญมากแห่งหนึ่ง เพราะเป็นจุดสำหรับการเชื่อมเข้าอาเซียน โดยเฉพาะกลุ่มอนุภูมิภาคแม่น้ำโขงและบังกลาเทศ ไทยจึงไม่เพียงมีทำเลที่ดีบนเส้นทาง OBOR แต่อภิมหาโครงการนี้ยังทาบทับกับยุทธศาสตร์ EEC ของไทยในบางเส้นทางด้วย

“หากเราสามารถนำ 2 โครงการนี้มาเชื่อมต่อกันได้ จะเพิ่มผลประโยชน์ให้กับทั้งสองประเทศ ขณะที่ไทยยังสามารถเพิ่มการส่งออกสินค้า หรือดึงการลงทุนจากจีนและทั่วโลกได้ง่ายขึ้น”

ทั้งนี้ ประเทศที่อยู่บนเส้นทาง OBOR มีจำนวนทั้งหมด 66 ประเทศ ประกอบด้วย จีน ที่เป็นผู้ริเริ่ม ประเทศอาเซียนทั้ง 10 กับมองโกเลียอีก 1 รวมเป็น 11 ประเทศ, เอเชียตะวันตก 18 ประเทศ, เอเชียใต้ 8 ประเทศ, เอเชียกลาง 5 ประเทศ, โซเวียต 7 ประเทศ, ตะวันออกกลาง 10 ประเทศ และอีก 6 ประเทศ

จากทวีปแอฟริกา ซึ่งครอบคลุมประชากรมากถึง 4,400 ล้านคน หรือราว 63% ของจีดีพีของโลก

โดยแต่ละประเทศที่เป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางการพัฒนาโครงการ OBOR ต่างก็มียุทธศาสตร์เดียวกันก็คือ “การเชื่อมโลก” อาทิ นโยบาย Eurasian Economic Union, โครงการ The Path to Grassland ของมองโกเลีย, โครงการ Global Marine Fulcrum ของอินโดนีเซีย, Middle Corridor ของตุรกี และประเทศไทยที่มีโครงการ EEC และไทยแลนด์ 4.0 เป็นต้น

นอกจากนี้ ท่านทูตยังกล่าว

ถึงยุทธศาสตร์ ไทยแลนด์ 4.0 ที่มุ่งพัฒนาใน 10 อุตสาหกรรม มีความคล้ายคลึงกับนโยบาย “เมด อิน ไชน่า 2025” ของจีน ที่มีเป้าหมายตรงกัน คือ ปรับเปลี่ยนจากการลงทุนที่ใช้แรงงานเป็นหลัก ไปสู่การลงทุนที่ใช้เทคโนโลยีให้มากขึ้น

โดยหลายอุตสาหกรรมมีความเชื่อมโยงและใกล้เคียงกัน เช่น อุตสาหกรรมเป้าหมายของไทยมุ่งการเป็นเศรษฐกิจดิจิทัล

ส่วนจีนก็มุ่งอุตสาหกรรมไอทีรุ่นใหม่ ขณะที่ไทยมุ่งการสนับสนุนการแพทย์ยุคใหม่ รัฐบาลจีนให้การสนับสนุนเทคโนโลยีชีวภาพเพื่อสุขภาพ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ท่านทูตกวน มู กล่าวว่า ในภาพรวมแม้ว่าความสัมพันธ์ไทยและจีนนั้นดีมาก แต่ก็ยังมีบางเรื่องที่ยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงได้ เช่น โครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ที่สำคัญต่อ OBOR และ EEC ของไทยมากซึ่งการเจรจาชะงักมานาน เพราะเสียงจากบางกลุ่มของฝั่งไทยยังกังวล มากกว่าที่จะมองว่าเป็นผลประโยชน์ระดับชาติ หากดูจากหลาย ๆ ประเทศ เช่น จีน เกาหลีใต้ จะเห็นคำตอบชัดว่า โครงการรถไฟความเร็วสูงนั้นช่วยหนุนเศรษฐกิจได้มาก

“ความกังวลที่มากเกินไปจะทำร้ายการพัฒนาระบบเศรษฐกิจของประเทศ ขณะที่ภาคประชาชนที่กังวลเรื่องผลกระทบ ผมมองว่าการก่อสร้างบางสิ่งบางอย่างล้วนนำมาซึ่งการสูญเสีย เพียงแต่ความสูญเสียนั้น เราสามารถรับได้มากน้อยแค่ไหน เพื่อแลกกับก้าวที่ไกลขึ้น หากไม่เปิดใจยอมรับผลกระทบเลย แล้วเราจะพัฒนาประเทศได้อย่างไร ?”

พร้อมย้ำอย่างหนักแน่นว่า หลักการพัฒนาของจีน โดยเฉพาะในโครงการ OBOR หรือโครงการก่อสร้างที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ ยึดมั่นใน3 หัวใจสำคัญ คือ 1) ร่วมกันหารือ

2) สร้างสรรค์ และ 3) แบ่งปันไม่ใช่แค่จีนฝ่ายเดียวที่เป็นผู้ขับเคลื่อนแต่เป็นความร่วมมือของทุกประเทศที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้โครงการเกิดขึ้นตามเป้าหมาย