ยุ่นซักสิทธิพิเศษอีอีซี-บีโอไอ ขอความชัดเจนบอร์ดใหญ่พ่วง SmartVisa

Workshop EEC เป็นเรื่อง นักลงทุนญี่ปุ่นสงสัยสิทธิประโยชน์ระหว่าง สำนักงาน EEC กับสำนักงาน BOI มีความแตกต่างกันอย่างไร ส่งผลให้ 2 หน่วยงานแจงยิบ พร้อมนำเข้าบอร์ดใหญ่ EEC ขอความชัดเจน 

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวในระหว่างงานสัมมนาเชิงปฏิบัติการ Eastern Economic Corridor (EEC) Workshop ซึ่งจัดร่วมกับหอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพฯ (JCC) และองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (JETRO) ว่า นักลงทุนญี่ปุ่นต้องการทราบรายละเอียด บทบาท รูปแบบการลงทุน สิทธิประโยชน์ ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) กับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) มีความแตกต่างกันอย่างไร

จากตัวเลขปี 2560 มีการลงทุนจากญี่ปุ่นสูงถึง 3,700 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็น 43% ของเงินลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) โดยเป้าหมายการขอรับการลงทุนใน EEC ปี 2561 ยังคงอยู่ที่ 300,000 ล้านบาท

ด้านนายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก กล่าวว่า จากจำนวนนักลงทุนญี่ปุ่นกว่า 100 ราย ที่เข้าร่วมรับฟังการสัมมนาครั้งนี้ นักลงทุนมีคำถามที่ถือเป็นความไม่ชัดเจนที่ต้องการคำตอบจากรัฐบาลไทยก็คือ ความแตกต่างระหว่างหน่วยงานและสิทธิประโยชน์ของสำนักงาน EEC กับสำนักงาน BOI ในประเด็นนี้ได้ชี้แจงว่า ในส่วนของ EEC ดูแลรับผิดชอบเรื่องของโครงสร้างพื้นฐานและการกำหนดพื้นที่ให้เป็นเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อกิจการพิเศษ 3 แห่ง คือ EECd-EECi-สนามบินอู่ตะเภา ขณะเดียวกันได้กำหนดเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเพื่ออุตสาหกรรมเป้าหมาย ส่วน BOI จะเป็นผู้กำหนดสิทธิประโยชน์

นอกจากสิทธิประโยชน์ BOI ภายใต้ พ.ร.บ. EEC กฎหมายพิเศษยังมีการกำหนดสิทธิประโยชน์เช่นกัน อาทิ สิทธิการใช้เงินตราต่างประเทศ ที่ต้องหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ว่า จะทำงานร่วมกันอย่างไร, สิทธิการเช่าอาคารชุด, สิทธิในที่ดิน, การนำคนต่างชาติเข้ามาทำงาน และ Smart Visa หรือวีซ่าพิเศษเพื่อดึงดูดบุคลากรทักษะสูง และนักลงทุนที่จะเข้ามาทำงานหรือลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-curve)

“ทั้งหมดนำเสนอต่อบอร์ดนโยบาย EEC ในวันนี้ (10 ส.ค.) ให้พิจารณาจากนั้นจะใช้เวลาอีก 30 วัน เพื่อออกกฎระเบียบให้ชัดเจน” นายคณิศกล่าว

น.ส.ดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) กล่าวว่า ปัจจุบัน พ.ร.บ.บีโอไอมี 2 ส่วนที่ให้สิทธิประโยชน์ คือ ตาม 117 ประเภทกิจการที่อยู่ในบัญชี กับสิทธิประโยชน์สำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-curve) ส่วนนายมิตสึมาตะ ฮิโรกิ ประธานองค์การส่งเสริมการค้าการลงทุนของญี่ปุ่น (JETRO) กล่าวว่า สิ่งที่อยากให้รัฐบาลไทยทำเพิ่มเติมก็คือ การพิจารณาประเด็น Smart Visa ใหม่ ที่แต่เดิมกำหนดเงื่อนไขของเงินเดือนไม่ต่ำกว่า 200,000 บาท ทาง JCC ได้แจ้งหน่วยงานไทยไปแล้วว่า “เป็นเรื่องที่ทำได้ยาก” ซึ่งวันนี้ BOI ก็ได้รับปากว่า ทางรัฐบาลอยู่ระหว่างการพิจารณาปรับปรุงเงื่อนไข นอกจากนี้ยังต้องการให้รัฐบาลไทยมีส่วนรับผิดชอบ “ต้นทุน” การลงทุนในโครงการ (PPP) ที่มีความเสี่ยงสูง และอีกประเด็นเกี่ยวกับเทคโนโลยีใหม่อย่าง “หุ่นยนต์” ที่อยากให้มีการกำหนดเงื่อนไขให้ง่ายขึ้น


“สิทธิประโยชน์ที่รัฐบาลไทยมอบให้ค่อนข้างจะเพียงพอและมีความพึงพอใจ โดยเฉพาะในด้านข้อยกเว้นทางภาษี แต่นักลงทุนญี่ปุ่นบางส่วนมองถึงปัญหาภายใน EEC เองว่า การประมาณการดีมานด์ในโครงการ EEC อาจจะมากเกินความเป็นจริง และในโครงการที่ต้องมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานยังมีไทม์ไลน์ที่ยังไม่ชัดเจน”