ดันสหกรณ์ศูนย์กลาง ศก.ชุมชน ปรับโครงสร้างเกษตร “ตลาดนำการผลิต”

เหลือระยะเวลาการทำงานของรัฐบาลที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี อีกไม่นาน แต่ประชากรในภาคเกษตร 7 ล้านครัวเรือนกว่า 20 ล้านคน แต่มีจีดีพีรวมกันทั้งประเทศแค่ 10% เท่านั้น ถือว่ารัฐยังไม่ลุล่วงการแก้ไขในภารกิจที่ค่อนข้างใหญ่ ยังมีปัญหาด้านการหารายได้ ในขณะที่ต้องแข่งขันการส่งออกกับประเทศรอบข้างในอาเซียน รวมไป

ถึงอินเดียรุนแรงขึ้น ทำให้ภาระหนี้มีมากขึ้นทุกวัน ทำให้รัฐบาลต้องงัดนโยบาย “พักหนี้” แก่เกษตรกรที่เป็นลูกหนี้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) อีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม การพักหนี้จะไม่เกิดประโยชน์และล้มเหลวเหมือนที่ผ่าน ๆ มา หากลูกหนี้ไม่มีรายได้เพิ่มในช่วงดังกล่าว ดังนั้น รัฐบาลชุดนี้ที่มีนโยบายปฏิรูปภาคเกษตรให้ทันสมัย จึงได้ให้กรมส่งเสริมสหกรณ์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คัดเลือกสหกรณ์การเกษตรที่ประสบความสำเร็จในการดำเนินงานและมีความเข้มแข็ง มีมาตรฐานในการบริหารจัดการ เพราะถือว่ามีความพร้อมมากที่สุดในการรับนโยบายไปทำงานที่จะเริ่มดีเดย์ในเดือนพฤศจิกายนที่จะถึงนี้ เพราะรัฐบาลมีระยะเวลาในการบริหารงานเหลืออยู่เพียงไม่กี่เดือน ทั้งนี้ มีการตั้งชื่อโครงการนี้ว่า “1 สหกรณ์ 1 อำเภอ” โดยมีเป้าหมายให้สหกรณ์เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจและสังคมของชุมชน

ส่วนใหญ่ของสหกรณ์ที่คัดเลือกมาร่วมโครงการนี้ เป็นสหกรณ์ที่รวบรวมผลผลิตการเกษตรที่สำคัญ ทั้งข้าว ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ข้าวโพด ผลไม้ โคเนื้อ โคนม และสินค้าแปรรูป เพื่อยกระดับสหกรณ์ให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น รวมทั้งต่อยอดนโยบายของรัฐบาลในการดูแลและส่งเสริมเทคโนโลยีที่ทันสมัยให้แก่เกษตรกร การบริหารจัดการสินค้าการเกษตร ตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ โดยใช้หลักการตลาดนำการผลิต เริ่มตั้งแต่ส่งเสริมเกษตรกรผลิตสินค้าคุณภาพตรงกับความต้องการตลาด การรวบรวมผลผลิตการเกษตรเพื่อนำมาแปรรูปเพิ่มมูลค่า และการประสานภาคเอกชนเข้ามาส่งเสริมช่องทางการตลาด เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรขายผลผลิตได้ราคาที่เป็นธรรม มีรายได้และความมั่นคงในการประกอบอาชีพ

สหกรณ์ที่เข้าร่วมในครั้งนี้จะเป็นสหกรณ์การเกษตรทางด้านข้าวกว่า 462 แห่ง มีสหกรณ์ 200 กว่าแห่งที่มีเครื่องมืออุปกรณ์การผลิต-การตลาดครบ สหกรณ์มันสำปะหลัง 63 แห่ง สหกรณ์ข้าวโพด 60 แห่ง สหกรณ์อ้อย 12 แห่ง สหกรณ์สวนยาง 73 แห่ง สหกรณ์ทำสวนผสม 55 แห่ง สหกรณ์ปาล์มน้ำมัน 27 แห่ง ฯลฯ

“สมคิด” จี้สหกรณ์ใช้นวัตกรรม-ขายผ่านเว็บไซต์

“ถ้าเปรียบเทียบประเทศไทยกับอิสราเอลที่มีประชากร 5-6 ล้านคน ต้องมีคำถามกันว่า เราฉลาดสู้เขาไม่ได้จริงหรือ ?

จริง ๆ แล้วเราขาดความจริงจัง ถ้าเราพัฒนาทุกวัน เราไม่แพ้เขาเด็ดขาด ดังนั้นถ้าเราเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจที่ล็อกเราอยู่ 20 ล้านคน ในภาคเกษตร อำนาจซื้อก็ไม่มี ต้องเปลี่ยนใหม่

ทำทรัพยากรมนุษย์เป็นทรัพย์สินของประเทศ ต้องทำให้เป็นทรัพย์สินที่ยิ่งใหญ่ นั่นคือต้องทำเพื่อให้สามารถแข่งขันได้ จะแข่งอย่างไร ? ประเทศเจริญไม่ได้ ถ้ามีความเหลื่อมล้ำด้านรายได้

ของประชากรในประเทศ เป็นจุดอ่อน อย่ามามัวแต่พูดกัน โครงการที่จะทำต้องอยู่กันได้ก่อน ราคาจำนำข้าวต่อไปต้องใกล้เคียงกับตลาด ชาวนาที่ไม่มีสวัสดิการก็จะสร้างบัตรประชารัฐขึ้นมา รายได้ต่ำกว่า 3 หมื่นบาทต่อปีต้องเกื้อหนุน ธ.ก.ส.พักหนี้ พักดอกเบี้ย ต่อไปจะพักหนี้ให้สหกรณ์ด้วย คือทำอย่างไรจะบรรเทาให้ประชาชนอยู่ได้ สิ่งเหล่านี้รัฐบาลกำลังดูแลอยู่

วันข้างหน้าเขาจะได้ยืนอยู่ได้ แต่ต้องเปลี่ยนโครงสร้างการผลิต จะปลูกอะไร ต้องลดการปลูกพืชบางอย่าง เพิ่มการปลูกพืชบางอย่างให้การตลาดนำ” นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีกล่าวและย้ำว่า

วันที่ 1 กันยายนนี้ ให้เริ่มงานกันเลย คิดโครงการขึ้นมา นวัตกรรมใหม่ ๆ จะหวังให้ทุกคนร่วมทำยาก จนกว่าจะเห็นว่า ไม่มีความเสี่ยงสำหรับคนรุ่นเก่า ส่วนคนรุ่นใหม่ “สมาร์ทฟาร์มเมอร์” ที่กล้าเสี่ยง กล้าหาโอกาส ต้องเข้ามาช่วยคิดแผนงานด้วย ขณะเดียวกัน กระทรวงเกษตรฯก็ต้องคิดออกมาว่าจะปลูกอะไร ธ.ก.ส.ต้องช่วย หอการค้าจังหวัดด้วย นี่คือการปฏิรูปจริง ๆ เพื่อเพิ่มมูลค่า เอาเทคโนโลยีมาช่วย เรียนรู้ตลาด

เอาออนไลน์มาช่วยเป็นทิศทาง เหมือนอาลีบาบาเข้ามาส่งสินค้าไทยไปเมืองจีน เทคโนโลยีจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก ไม่อย่างนั้น โปรดักทิวิตี้จะไม่ดี อย่างที่ไปดูงานที่ญี่ปุ่น จีดีพีเกษตรของเมืองเล็ก ๆ เมืองหนึ่งสูงมาก เพราะใช้เกษตรนวัตกรรมตั้งแต่สินค้าเนื้อยันผลไม้ พืชผัก ขายผ่านเว็บไซต์สหกรณ์ ขายไปทั่วโลก

ดังนั้น สหกรณ์เกษตรของไทย 700 กว่าแห่งที่มา ต้องค้าผ่านเว็บไซต์ได้ ต้องปฏิรูปตัวเอง ทุ่ม 1,700 ล้านเตรียมความพร้อมทำโครงการ

ขณะที่ นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวว่า โครงการ 1 สหกรณ์ 1 อำเภอ ที่ทำต่อเนื่องกับนโยบายพักหนี้ เพราะต้องการให้เกษตรกรหารายได้เสริม หลังจากทำนาเสร็จแล้ว จะปลูกพืชอะไรเสริม ทั้งการปลูกทดแทนข้าวนาปรัง การปลูกข้าวโพดหลังทำนา ตามนโยบายรัฐบาล (ดูตาราง

ประกอบ) ให้สหกรณ์ที่มา 700 กว่าแห่ง ที่ถือว่าเป็นปลั๊กตัวแรกในการขับเคลื่อน กลับไปวางแผนว่า สิ่งที่คิดไว้จะทำกันกี่ไร่ กี่คน ถ้าไม่มีตลาดก็ไม่ทำเด็ดขาด ต้องไปคุยกับพ่อค้ารายใหญ่มาทำร่วมกับสหกรณ์ ซึ่งโครงการนี้จะมีสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ 0.01% ต่อปีจาก ธ.ก.ส. แก่สมาชิกสหกรณ์เป็นเวลา 3 ปี จากระยะเวลากู้นาน 7 ปี

ล่าสุด กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้ทำโครงการนำร่องปลูกพืชกับสหกรณ์การเกษตรที่ อ.พิชัย จ.อุตรดิตถ์ และที่ อ.พรหมพิราม จ.พิษณุโลก แห่งละ 3,000 ไร่ ถ้าไปได้ เดือนพฤศจิกายนนี้จะดีเดย์ทั่วประเทศ ที่ผ่านมาเกษตรกรสูงวัยจ้างทุกอย่าง ต่อไป

สหกรณ์จะไปรับจ้างจัดการให้สมาชิก ถ้าต้นทุนต่ำกว่าน่าจะไปได้ ถ้าเท่าเดิมจะไม่ทำ จะเอาพ่อค้าไปซื้อสินค้าจากสหกรณ์ เพื่อสร้างรายได้หลังพักหนี้

รัฐได้จัดสรรงบฯกลางมาให้แล้ว 1,700 ล้านบาท มาช่วยเหลือสหกรณ์ ทั้งการช่วยจัดทำโครงการแผนงานต่าง ๆ บวกกับการกระตุ้นการตลาด การค้าขายของสหกรณ์ใดที่ยังทำไม่ครบวงจรหรือสุดทาง ก็จะช่วยหาผู้ที่รู้มาช่วย เช่น การค้าขายผ่านออนไลน์ ถ้ามีปัญหาอุปสรรคอะไรให้บอกมา สหกรณ์จังหวัดต้องลงไปพิจารณาร่วมว่า กลุ่มสหกรณ์เป้าหมายจะขับเคลื่อนได้หรือไม่ มีจุดอ่อนอะไรบ้าง ขาดเงินทุน ขาดเครื่องจักรกล อุปกรณ์อย่างไร มีคุณสมบัติพื้นฐานครบหรือไม่ มีแผนอย่างไร เพื่อเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจและสังคมของชุมชน

อย่างไรก็ตาม สหกรณ์การเกษตรที่เหลืออีก 3,000 กว่าแห่งไม่ต้องน้อยใจ โครงการนี้ยังจะมีในรอบ 2-3 อีก ทั้งนี้ เพื่อสร้างเครือข่ายกันให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ดังนั้น สหกรณ์ที่คัดเลือกมารอบแรกเพื่อเป็นเป้าหมายในการพัฒนาแล้วก็อย่าทำเสียโอกาส ในการร่วมงานกันเพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้ดีขึ้นต่อไป