ดัน พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ… รัฐต้อง “กล้า” เก็บเงินผู้ใช้น้ำ

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ได้ทำวิจัย “การจัดสรรน้ำชลประทานให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของประเทศสูงสุด” จากความพยายามที่จะผ่าน ร่าง พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ. … หลังจากที่ พ.ร.บ.การชลประทานหลวง 2485 ได้ถูกบังคับใช้มาถึง 76 ปี ในประเด็นถกเถียงกันเรื่องการจัดเก็บค่าน้ำ โดย นายนิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ TDRI กล่าวว่า

การใช้น้ำของภาคการเกษตรในปัจจุบันนั้น “ไม่มีการบริหารจัดการผู้ใช้น้ำอย่างเอาจริงเอาจัง” แม้ว่าไทยจะไม่มีตลาดซื้อขายน้ำเป็นอุตสาหกรรม เนื่องจากกฎหมายกำหนดให้น้ำเป็นสมบัติสาธารณะ ดังนั้น น้ำเพื่อการเกษตร “จึงเป็นของฟรีและไม่มีราคา”

ผลที่ตามมาก็คือ ภาคการเกษตร ต้นน้ำมีการใช้น้ำอย่างฟุ่มเฟือยไม่เพียงพอถึงท้ายน้ำจนเกิดการแย่งน้ำหรือเกิดปัญหาจัดสรรน้ำทุกครั้ง แม้แต่การนำน้ำชลประทานไปผลิตเป็น “น้ำประปา” ผู้ใช้น้ำก็ไม่มีการจ่าย “ค่าน้ำดิบ” ตามมูลค่าต้นทุนของน้ำชลประทานที่มาผลิตน้ำประปา จึงทำให้น้ำจำนวนมากเสียในระบบ ส่วนน้ำเพื่อการอุปโภคและบริโภคเพื่อการท่องเที่ยวนั้นใช้น้ำไม่มาก แต่มีประสิทธิภาพด้านมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงลิ่ว

แต่เมื่อหันมองภาคการเกษตรมีการใช้น้ำมากถึง 80% หรือประมาณ 130,000 ลบ.ม. ของปริมาณทั้งประเทศ (ในเขตชลประทาน) แต่มูลค่าทางเศรษฐกิจยังไม่สอดคล้องกัน ถ้าสามารถโอนน้ำมาเพียง 2-3% เพื่อใช้นอกการเกษตร ขยายการบริการเขตน้ำประปาในเขตชุมชนที่ขาดแคลน นอกจากจะลดการสูบน้ำจากใต้ดิน ซึ่งทำให้เกิดปัญหาดินทรุดแล้ว ยังสามารถกักเก็บน้ำเพื่ออุปโภคบริโภคในส่วนอื่น ๆ ได้อีกมาก

รื้อ พ.ร.บ.ชลประทานฯ 2485

น่าสนใจว่า ตาม พ.ร.บ.การชลประทานหลวง 2485 ที่ได้มีประกาศเขตชลประทานไว้ 7,500 เขตอย่างชัดเจนนั้น ปรากฏกรมชลประทานสามารถจัดเก็บค่าใช้น้ำได้เพียง 362 ราย มูลค่า 798 ล้านบาท จากสถิติย้อนหลัง 10 ปี บางปีน้อยลงและไม่เท่ากัน ทั้ง ๆ ที่กลุ่มนี้ใช้น้ำกว่า 1,596 ล้าน ลบ.ม.ต่อปี แต่กฎหมายกำหนดให้จัดเก็บค่าชลประทานตามมาตรา 8 จากภาคเกษตรได้ไม่เกิน 5 บาท/ไร่/ปี ส่วนการประปาและอุตสาหกรรมเก็บค่าชลประทานได้ไม่เกิน 0.50 บาท/ลบ.ม.

ทว่าในความเป็นจริงแล้ว ไม่มีการเก็บค่าชลประทานจากภาคการเกษตร หรือเรียกว่า “ใช้ฟรี” เนื่องจากรัฐบาลกังวลกับ “แรงต้าน” จากเกษตรกร หากจะมีการเก็บค่าน้ำ ส่วนการประปามีการจัดเก็บค่าใช้น้ำเพียง 0.50 บาท/ลูกบาศก์เมตร แต่กลับยังพบว่า ประปาบางแห่งไม่มีการจ่ายจริงหรือจ่ายไม่เต็มอีก เช่น การประปานครหลวงจ่ายค่าน้ำเฉพาะน้ำดิบจากเขื่อนแม่กลอง

เมื่อเฉลี่ยปริมาณน้ำทั้งหมดจะคิดเป็น 0.15 บาท/ลบ.ม. ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมมีการเก็บค่าชลประทานที่ 0.50 บาท/ลบ.ม. “บางแห่งก็เก็บไม่ครบ” มีการสูบน้ำฟรีจำนวนมาก เพราะยังไม่ได้สำรวจจริงจัง ทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นความหละหลวมของรัฐ ในมุมกลับกัน ผู้ใช้น้ำก็ไม่ตระหนักถึงคุณค่าของน้ำ ทั้งที่ในแต่ละปีรัฐบาลต้องลงทุนระบบชลประทานปีละกว่า 100,000 ล้านบาท เพื่อวางโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออุตสาหกรรมการเกษตรและรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

“เป็นไปได้หรือไม่ว่า พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำฉบับที่รัฐบาลกำลังผลักดันให้มีการจัดเก็บกลุ่มผู้ใช้น้ำ 3 ประเภทนั้น จะต้องเร่งให้เกิดให้เร็วขึ้น เพราะหากเก็บค่าน้ำมาพัฒนาแล้วมาลดความสูญเสียน้ำในระบบชลประทาน นอกจากจะทำให้น้ำต้นทุนเพิ่มไม่ต่ำกว่า 20-30% ของปริมาณน้ำจัดสรรแล้ว ยังช่วยให้ผู้ใช้น้ำเห็นคุณค่ามากขึ้น แต่ทว่าการที่จะเก็บเงินค่าน้ำจากเกษตรกรมักถูกต่อต้านอย่างรุนแรง โดยเฉพาะจากฝ่ายการเมือง แต่จะไม่ทำก็ไม่ได้เพราะอนาคตน้ำในประเทศอาจไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้” นายนิพนธ์กล่าว

ยากถึงฝั่งฝัน

อย่างไรก็ตาม หากดูตัวเลขที่กรมชลประทานจะได้ประโยชน์เข้าระบบเศรษฐกิจตาม พ.ร.บ.การชลประทานหลวง 2485 แล้ว รัฐจะมีรายได้จากการใช้น้ำเกือบ 13,000 ล้านบาท/ปี

แต่หากมีการปรับโครงสร้างราคาจัดเก็บอย่างเข้มงวดและมีการจัดเก็บค่าน้ำโดยที่ทุกคนทุกกลุ่ม “ยอมจ่าย” ตามอัตราที่เหมาะสมของแต่ละกลุ่มผู้ใช้น้ำแล้วก็จะช่วย “ลด” ภาระของภาครัฐได้ไม่ต่ำกว่า 8,109-12,775 ล้านบาท/ปี แต่ปัจจุบันรัฐมีเพียงนโยบายการจัดการความต้องการใช้น้ำเพื่อต้องการลดการใช้น้ำกิจกรรมที่สิ้นเปลืองเท่านั้น

แต่เมื่อไม่มีมาตรการจูงใจ ทำให้คนใช้กันอย่างฟุ่มเฟือย แม้ราคาต้นทุนในการจัดสรรน้ำที่แท้จริงจะอยู่ที่1.25 บาท จากงานศึกษาวิจัยพบว่า หากขึ้นค่าน้ำแค่คนกรุงเทพฯเพียง 10% คาดว่าจะทำให้คนกรุงเทพฯลดการใช้น้ำลงได้ถึง 13-14% และจะสามารถนำน้ำที่เหลือนี้ไปใช้ในกิจกรรมอื่น ๆ ที่ต้องขยายตัวในพื้นที่ใกล้เคียง เช่น อุตสาหกรรม, S-curve, การท่องเที่ยวเมืองหลักเมืองรอง และเพื่อการขยายตัวเศรษฐกิจที่จะเติบโตในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่นิคมใกล้กรุงเทพมหานคร หรือเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)

อย่างไรก็ตาม ยังต้องมีการดำเนินการอื่นหลายอย่างเพื่อผลักดัน พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำฉบับใหม่ให้มีผลบังคับใช้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “การจัดแบ่งลุ่มน้ำใหม่” เพื่อให้สอดคล้องกับ พ.ร.บ. ปรากฏยังไม่มีการดำเนินการไปถึงไหน และเต็มไปด้วยข้อกำจัดมากมาย ประกอบกับ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ(สทนช.) ที่ตั้งขึ้นมาโดยคำสั่ง คสช.นั้น “ก็ยังเต็มไปด้วยข้อสงสัยว่าในระยะยาวจะสามารถดำเนินการได้หรือไม่”

สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ รัฐบาลควรเร่งพิจารณายุบรวม หรือจัดแบ่งลุ่มน้ำใหม่ โดยลดคณะกรรมการลุ่มน้ำลง และสร้างความเข้มแข็งให้มากขึ้น

โดยเฉพาะกรณีลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่ไหลผ่าน 22 จังหวัด ที่จะมีการกระจายอำนาจพร้อมถ่ายโอนอำนาจการจัดสรรน้ำบางส่วนให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และกลุ่มผู้ใช้น้ำ เพื่อลดความขัดแย้ง แต่ทว่าทั้งหมดนี้ก็ยังอยู่ระหว่างการจัดทำประชาพิจารณ์ กำหนดกรอบกฎหมายลูก ทำให้ความหวังที่จะบังคับใช้ พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำฉบับใหม่ ดูจะเลือนรางออกไปอีก