สนค.วิเคราะห์ผลสงครามการค้าสหรัฐฯกับคู่ค้าในกลุ่มสินค้าเกษตร

สนค.วิเคราะห์ผลสงครามการค้าสหรัฐฯ กับคู่ค้าในส่วนของการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าเกษตร พบไทยมีโอกาสส่งออกเพิ่มขึ้นหลายรายการ เพื่อไปทดแทนสินค้าจากสหรัฐฯ ทั้งข้าว ผลไม้ กากเหลือจากการผลิตสตาร์ช ในตลาดจีน และข้าวโพดหวานในตลาดอียู แต่ก็ต้องระวังสินค้าจากสหรัฐฯ ที่จะไหลเข้าไทย ทั้งถั่วเหลือง ข้าวสาลี

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงผลการศึกษากระทบของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับประเทศคู่ค้า ในกลุ่มสินค้าเกษตรว่า ไทยมีโอกาสส่งออกสินค้าเกษตรไปจีนได้เพิ่มขึ้น เพื่อทดแทนสินค้าของสหรัฐฯ เช่น กากเหลือจากการผลิตสตาร์ช ข้าว ผลไม้สดและแห้ง โดยเฉพาะพวกส้ม และพบว่าสินค้ากากเหลือจากการผลิตสตาร์ช เศษที่ได้จากการต้มกลั่น เป็นสินค้าที่มีโอกาสทำตลาดมากที่สุดในกลุ่มนี้ เนื่องจากเป็นสินค้าที่จีนนำเข้าจากสหรัฐฯ เกือบทั้งหมด โดยในปีที่ผ่านมา จีนนำเข้าเป็นมูลค่า 66 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่ไทยมีการส่งออกประมาณ 3 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยส่งออกไปสปป.ลาวเกือบทั้งหมด จึงน่าจะสามารถกระจายสินค้าไปตลาดจีนมากขึ้นได้

ทั้งนี้ ผลจากการที่จีนขึ้นภาษีผลไม้ที่นำเข้าจากสหรัฐฯ เช่น เชอรี่ ส้ม องุ่น แอปเปิ้ล และพลัม ทำให้ผลไม้จากสหรัฐฯ มีราคาสูงขึ้น ทำให้ผู้บริโภคจีนอาจหันมาเลือกบริโภคผลไม้ชนิดอื่นที่มีราคาถูกกว่าแทน จึงเป็นโอกาสของผลไม้ไทยที่จะส่งออกไปจีนเพิ่มขึ้น เช่น มังคุด มะม่วง และสับปะรด เป็นต้น

สำหรับตลาดสหภาพยุโรป (อียู) พบว่า ข้าวโพดหวานมีโอกาสส่งออกเพิ่มขึ้น หลังจากที่อียูขึ้นภาษีกับสหรัฐฯ โดยปี 2560 อียูนำเข้าข้าวโพดหวาน 148 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่นำเข้าจากอียูด้วยกันเอง 136 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 95% และนำเข้าจากสหรัฐฯ 2.34 แสนเหรียญสหรัฐ และไทย 8.4 หมื่นเหรียญสหรัฐ แต่ไทยส่งออกไปโลก 26 ล้านเหรียญสหรัฐ จึงมีศักยภาพที่จะส่งออกไปอียูได้มากขึ้น แต่ก็ต้องแข่งขันกับสินค้าในอียู

นอกจากนี้ มีสินค้าจากสหรัฐฯ ที่ต้องเฝ้าระวังและอาจไหลเข้าไทย เช่น ถั่วเหลือง ข้าวสาลีและเมสลิน แอปเปิ้ล และลูกแพร์ โดยเฉพาะถั่วเหลืองที่จีนขึ้นภาษีนำเข้าจากสหรัฐฯ และปัจจุบันนำเข้า 1.4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อจีนลดนำเข้าจากสหรัฐฯ ก็จะหันไปนำเข้าจากบราซิลแทน อาจทำให้บราซิลซึ่งเป็นแหล่งนำเข้าถั่วเหลืองอันดับ 1 ของไทยส่งออกมาไทยน้อยลง โดยในปี 2560 ไทยนำเข้าถั่วเหลือง 2.7 ล้านตัน นำเข้าจากบราซิล 1.7 ล้านตัน สหรัฐฯ 9.6 แสนตัน จึงเป็นโอกาสของสหรัฐฯ ที่จะเพิ่มส่วนแบ่งตลาดในไทย

ขณะเดียวกัน พบว่า จีนมีการนำเข้าข้าวสาลีและเมสลินจากสหรัฐฯ เป็นมูลค่าประมาณ 390 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งในปีที่ผ่านมา จีนนำเข้าจากโลกมากกว่า 4 ล้านตัน โดยนำเข้าจากออสเตรเลีย สหรัฐฯ และแคนาดา ในปริมาณ 1.9 1.6 และ 0.5 ล้านตัน ตามลำดับ หากสหรัฐฯ ส่งออกจีนได้น้อยลง สหรัฐฯ ก็จะผลักดันกระจายตลาดส่งออกไปยังประเทศต่างๆ เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะตลาดหลัก ได้แก่ เม็กซิโก ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ ไนจีเรีย และจีน ส่วนไทยเป็นตลาดส่งออกอันดับ 9 ของสหรัฐฯ จึงมีแนวโน้มว่าสหรัฐฯ น่าจะกระจายสินค้าไปยังตลาดหลักก่อน

สงครามการค้าในส่วนของการขึ้นภาษีสินค้าเกษตรนั้น คู่ค้าสหรัฐฯ ได้ขึ้นภาษีตอบโต้หลังจากที่สหรัฐฯ ขึ้นภาษีนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียม โดยจีนขึ้นภาษี 25% เช่น ข้าว ถั่วเหลือง ข้าวสาลีและเมสลิน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เมล็ดซอร์กัม แป้งข้าวโพด แป้งธัญพืช ถั่ว เช่น อัลมอนด์ พิตาชิโอ มะม่วงหิมพานต์ แมคคาดาเมีย และวอลนัท ผักและผลไม้ เช่น ส้ม/แมนดาริน เชอรี่ องุ่น แอปเปิ้ล ลูกแพร์ สตรอเบอรี่ พรุน มะม่วง มะพร้าว สับปะรด ฝรั่ง แตงโม มะนาว แครอท กะหล่ำ บร็อคโคลี่ ฟักทอง ผักกาดหอม หน่อไม้ฝรั่ง เห็ด หอมหัวใหญ่ และกระเทียม และกากเหลือจากการผลิตสตาร์ช ขณะที่อียูขึ้นภาษี 25% ในสินค้าข้าว ข้าวโพดหวาน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และถั่วแดง ตุรกีขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าข้าว และถั่วประเภทต่างๆ จากสหรัฐฯ อัตรา 20% และ 5% ตามลำดับ แคนาดาขึ้นภาษีนำเข้าสินค้ากาแฟคั่วจากสหรัฐฯ ในอัตรา 10%