คต. เผยครึ่งปีแรกมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าลดภาษีนำเข้าผ่าน FTA-GSP ทะลุ 36,000 ล้านดอลล์

คต. พอใจครึ่งปีแรกมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าลดภาษีนำเข้าผ่าน FTA-GSP ทะลุ 36,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โต 18% จากตลาดจีน อินเดีย ออสเตรเลีย เตรียมปรับเป้าหมายการใช้สิทธิ์ทั้งปีโต 10% แนะ

นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ (คต.) เปิดเผยว่า การใช้สิทธิประโยชน์ในการลดภาษีภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (FTA) และภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) ในช่วงครึ่งปีแรก (มกราคม-มิถุนายน 2561) มูลค่า 36,435.38 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็น 73.72%จากการส่งออก ขยายตัว 18.66 % จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

ทั้งนี้ แบ่งเป็นมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (FTA) 34,192.94 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และมูลค่าการส่งออกภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) 2,242.44 ล้านเหรียญสหรัฐ

สำหรับมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (FTA) ที่ 34,192.94 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็น 75.15% ของมูลค่าการส่งออกรวมภายใต้ความตกลงการค้าเสรีไปยังประเทศคู่ภาคีความตกลง และเพิ่มขึ้น 20.05%

โดยตลาดส่งออกที่ไทยมีมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ อาเซียน มูลค่า 12,901.81 ล้านเหรียญสหรัฐฯ จีน มูลค่า 8,610.88 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ออสเตรเลีย มูลค่า 4,735.93 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ญี่ปุ่น มูลค่า 3,677.85 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
และอินเดีย มูลค่า 2,237.49 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

โดยความตกลงการค้าเสรีที่มีอัตราการใช้สิทธิประโยชน์สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ความตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย คิดเป็น 93.98% ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน คิดเป็น 89.11% และความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น คิดเป็น 88.43%

เมื่อพิจารณาอัตราการขยายตัวของมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ แยกตามตลาดพบว่า ทุกตลาดยกเว้นนิวซีแลนด์มูลค่าการส่งออกภายใต้สิทธิประโยชน์ความตกลงการค้าเสรีมีการขยายตัวที่ระดับ 2 หลัก เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยตลาดที่มีอัตราการขยายตัวสูงสุด คือ จีน ซึ่งมีอัตราการขยาย 29.93% รองลงมา คือ ตลาดอินเดียและออสเตรเลีย ตามลำดับ

แม้ว่าอินเดียจะเป็นตลาดที่มีมูลค่าการส่งออกภายใต้สิทธิประโยชน์สูงเป็นอันดับ 5 คือ อยู่ที่ 2,237.49 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวจากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา 25.98% ทว่าเมื่อพิจารณาอัตราการใช้สิทธิประโยชน์พบว่ามีอัตราการใช้สิทธิประโยชน์เพียง 50.03% จึงอาจกล่าวได้ว่าตลาดอินเดียยังคงมีโอกาสที่เปิดกว้างสำหรับผู้ประกอบการที่จะเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรีซึ่งรัฐได้จัดทำขึ้น

สำหรับตลาดที่มีความสำคัญทั้งในแง่มูลค่าและการใช้สิทธิประโยชน์ คือ จีน ออสเตรเลีย และอาเซียน ซึ่งเป็นตลาดที่มีมูลค่าและอัตราการใช้สิทธิประโยชน์สูงในอันดับต้นๆ ขณะเดียวกันก็มีอัตราการขยายตัวในระดับสูงอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด สำหรับรายการสินค้าที่มีมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ รถยนต์บรรทุก รถยนต์นั่งส่วนบุคคล ผลิตภัณฑ์ยางสังเคราะห์ผสมยางธรรมชาติน้ำตาลจากอ้อย และเครื่องปรับอากาศ

ส่วนการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป หรือ GSP ปัจจุบันไทยยังคงได้รับสิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบ GSP 5 ระบบ ประกอบด้วย ญี่ปุ่น สวิสเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ สหรัฐอเมริกาและรัสเซียและเครือรัฐเอกราช โดยตลาดส่งออกสำคัญของไทยทั้งในเชิงมูลค่าและอัตราการใช้สิทธิประโยชน์ คือ สหรัฐอเมริกา

ทั้งนี้ ในช่วงครึ่งปีแรก (มกราคม-มิถุนายน 2561) มูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบ GSP อยู่ที่ 2,242.44 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 57.15% ของมูลค่าการส่งออกภายใต้สิทธิ GSP รวม ซึ่งมีมูลค่า 3,923.58 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

และหากเปรียบเทียบมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบ GSP ทั้งหมด พบว่ากว่า 90%เป็นการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบ GSP สหรัฐอเมริกา โดยในช่วงครึ่งปีแรก มูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบ GSP สหรัฐอเมริกาอยู่ที่ 2,091.32 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็น 68.16% ของมูลค่าการส่งออกในรายการสินค้าได้สิทธิ GSP จากสหรัฐอเมริกาซึ่งมีมูลค่า 3,068.34 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันในปีที่ผ่านมา 5.27%

โดยสินค้าที่มีมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ ภายใต้ระบบ GSP สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ส่วนประกอบเครื่องปรับอากาศ เครื่องดื่มอื่นๆ ถุงมือยาง อาหารปรุงแต่ง และรถจักรยานยนต์ ซึ่งรายการสินค้าข้างต้นสหรัฐอเมริกาจะยกเว้นภาษีนำเข้าให้แก่สินค้าไทยที่ส่งออกภายใต้สิทธิพิเศษ GSP

นายอดุลย์ กล่าวว่า กรมการค้าต่างประเทศอยู่ระหว่างการประเมินความเป็นไปได้ที่จะปรับเพิ่มเป้าหมายการขยายตัวของมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯจาก 9% เป็น 10% โดยประเมินว่ามูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าจะมีอัตราการขยายตัวไม่น้อยกว่าอัตราการขยายตัวของการส่งออกรวมที่ 9%

และเมื่อพิจารณามูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อันเป็นผลมาจากการขยายตัวของการส่งออกที่สอดคล้องกับการเติบโตของภาวะเศรษฐกิจโลก ประกอบกับการปรับปรุงระบบการให้บริการเพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้าที่สะดวกรวดเร็ว ลดขั้นตอนและค่าใช้จ่าย รวมถึงการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกอบการตระหนักถึงสิทธิประโยชน์ภายใต้ความตกลงการค้าเสรีต่างๆ ทำให้การใช้สิทธิประโยชน์เพิ่มขึ้น