โรงสีนับพันรายทยอยปิดกิจการ พิษจำนำข้าว-แบงก์เข้มปล่อยกู้

แฟ้มภาพ

สภาพคล่องโรงสีเดี้ยงหนัก หลังรัฐบาลสั่งบี้คดีจำนำข้าวค้าง 882 คดี ทำแบงก์เข้มงวดปล่อยสินเชื่อ พร้อมคุมเข้มแพ็กกิ้งเครดิตพิจารณาเป็นกรณี ๆ ไป แถมโรงสียังติดพ่วงคลังกลางฝากข้าวโดนแช่แข็งไม่คืนค้ำประกันสัญญา “LG” จนสถานการณ์ย่ำแย่ หวั่นโรงสีข้าวทยอยปิดตัวถึง 30-40% กระทบคำสั่งซื้อข้าวฤดูกาลใหม่

ผลพวง “ทุจริต” โครงการรับจำนำข้าวสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ส่งผลกระทบกับการดำเนินธุรกิจของกลุ่มโรงสีข้าวทั่วประเทศ เมื่อรัฐบาลสั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการฟ้องโรงสีข้าวที่เข้าร่วมกระบวนการทุจริตครั้งมโหฬารก่อนที่คดีจะหมดอายุความ ในขณะที่สถาบันการเงินก็เพิ่มความเข้มงวดในการปล่อยกู้โรงสีข้าว ทั้งที่เป็น NPL หรือมีความเสี่ยงจากการถูกดำเนินคดีทุจริต รวมถึงลดวงเงินแพ็กกิ้งเครดิตลงอีกด้วย จนเกิดความกังวลว่าปีนี้จะมีโรงสีข้าวต้องปิดกิจการไปเป็นจำนวนมาก

เร่งฟ้องแพ่งแสนล้าน

แหล่งข่าวจากวงการข้าวเปิดเผยกับ”ประชาชาติธุรกิจ” จากกรณี นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้เร่งรัดให้องค์การคลังสินค้า (อคส.) กับองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) ดำเนินการฟ้องร้องดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดในโครงการรับจำนำข้าวและสินค้าเกษตรอื่น ๆ เพื่อรักษาประโยชน์ของรัฐ และป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับส่วนราชการ โดยต้องส่งเรื่องให้อัยการให้ทันภายในเดือนธันวาคม 2561 และต่อมา คณะรัฐมนตรี (ครม.) ก็ได้มีมติให้เร่งรัดฟ้องคดีด้วย

ปรากฏองค์การคลังสินค้า (อคส.) ได้ดำเนินการตรวจสอบคดีทุจริตที่เกี่ยวกับโครงการรับจำนำข้าวตั้งแต่ปี 2554-2557 ที่จะต้องเร่งส่งฟ้องทางแพ่งรวม 244 สัญญา 882 คดี โดยผู้ถูกฟ้องมีทั้งเจ้าของคลังสินค้าที่รัฐบาลเช่าเพื่อฝากเก็บข้าวในโครงการรับจำนำ โรงข้าวสี และผู้ตรวจสอบคุณภาพข้าว (เซอร์เวเยอร์) ซึ่งบางส่วนได้ส่งฟ้องอาญาฐานลักทรัพย์ ฉ้อโกง หรือยักยอกทรัพย์ไปแล้ว ดังนั้นทาง อคส.จะต้องดำเนินการส่งฟ้องทางแพ่งเพื่อให้คู่สัญญาชดใช้ความเสียหายให้กับรัฐ โดยทั้ง 882 คดีจะทยอยหมดอายุความทางแพ่งตั้งแต่เดือนธันวาคม 2561 ไปจนถึงเดือนกรกฎาคม 2562 คิดเป็นมูลค่าความเสียหายทั้งสิ้นกว่า 100,000 ล้านบาท

“การเร่งรัดส่งฟ้องคดีทุจริตโครงการรับจำนำข้าวส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของกลุ่มโรงสีเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะโรงสีที่ต้องใช้เงินกู้มาหมุนเวียนรับซื้อข้าว หลายรายกู้แบงก์ไม่ผ่านและไม่ได้รับแพ็กกิ้งเครดิตจากผลของการถูกดำเนินคดี มีความเสี่ยง จนโรงสีหลายต่อหลายโรงเริ่มมีการประกาศขายกิจการ หรือเลิกทำธุรกิจค้าข้าว ซึ่งในปีนี้คาดว่าจะมีมากถึง 30-40% โดยเฉพาะโรงในจังหวัดภาคกลางและภาคเหนือตอนล่างเช่น พิจิตร-ชัยนาท-เพชรบูรณ์-สุพรรณบุรี และพระนครศรีอยุธยา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโรงสีขนาดใหญ่ที่เข้าร่วมโครงการรับจำนำในอดีต และมีการขยายกำลังการผลิตเพื่อรองรับโครงการรับจำนำข้าวของรัฐด้วย” แหล่งข่าวกล่าว

วอนแบงก์อย่าเหมารวม

ด้านนายเกรียงศักดิ์ ตาปนานนท์ นายกสมาคมโรงสีข้าวไทย กล่าวว่า ขณะนี้สถาบันการเงินส่วนใหญ่ยังไม่ “อนุมัติ” วงเงินให้กับโรงสีข้าว เนื่องจากมองว่าโรงสีเป็นธุรกิจที่มีความเสี่ยง ซึ่งจะมีผลกระทบอย่างมากต่อภาพรวมการดำเนินงานของธุรกิจโรงสีข้าว ถ้าหากไม่มีการเติม “เม็ดเงิน” ใหม่เข้ามาเพื่อเสริมสภาพคล่องก็จะแย่กันทั้งระบบ

“ผมอยากขอให้สถาบันการเงินแยกแยะลูกหนี้แต่ละรายเป็นราย ๆ ไปโดยวิเคราะห์ว่ารายไหนไปได้ รายไหนพอไปได้ หรือรายไหนที่มีปัญหา ก็ให้ดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้และจัดวงเงินใหม่ให้สอดคล้องกับธุรกิจ แต่ส่วนที่ไปไม่ได้จริง ๆ ก็ควรดำเนินการตามขั้นตอนของสถาบันการเงิน ผมขอว่าอย่าเหมารวม เพราะจะมีผลกระทบต่อโครงสร้างระบบการดำเนินธุรกิจของโรงสีข้าวทั้งระบบ ซึ่งจะส่งผลกระทบไปยังโครงสร้างของข้าวเปลือกและข้าวสารอย่างมาก ถ้าหากกำลังซื้อและกำลังในการเก็บสต๊อกข้าวของโรงสีลดลง” นายเกรียงศักดิ์กล่าว

ทั้งนี้ สาเหตุของปัญหาเรื่องสภาพคล่องจัดเป็นปัญหาที่เรื้อรังมานาน โดยปัญหานี้เกิดจากโรงสีข้าวได้รับผลกระทบจากราคาข้าวที่ลดลงอย่างฉับพลัน 20-40% เมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา ทำให้มูลค่าของสินค้าลดลง “การที่จะซื้อจะขายก็จึงติดขัดไปหมด” จนกระทั่งกลายเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้สถาบันการเงิน ตัดสินใจลดวงเงิน “แพ็กกิ้งสต๊อก” ลง 30-40% ของลูกค้าแต่ละราย และซ้ำร้ายบางรายก็ถึงกับมีปัญหาต่อเนื่องค่อนข้างรุนแรง ถึงขั้นต้องหยุดกิจการหรือต้องปรับโครงสร้างหนี้ หรือบางรายก็ถูกยึด และก็มีอีกหลายรายที่ตัดสินใจหยุดกิจการโรงสีข้าว

ส่วนปัญหาสภาพคล่องหลังจากโรงสีถูกดำเนินคดีจำนำข้าวนั้น นายเกรียงศักดิ์กล่าวต่อไปอีกว่า คลังสินค้าก็มีปัญหาเรื่องของสภาพคล่อง เนื่องจากถูกระงับวงเงินที่ใช้ “ค้ำประกันสัญญา (LG)” เท่าที่ทราบมีเป็นเงินจำนวนมาก แต่คงจะต้องแยกกันระหว่างธุรกิจโรงสีข้าว กับธุรกิจทำคลังสินค้า เพราะอาจจะมีโรงสีเพียงบางส่วนที่นอกจากทำอาชีพโรงสีข้าวแล้วก็ยังมีอาชีพให้เช่าคลังสินค้าด้วย ซึ่งหากใช้เงินก้อนเดียวกันแล้วเกิดปัญหายังไม่ได้รับคืนวงเงินค้ำประกันสัญญาก็จะส่งผลกระทบกับสภาพคล่องที่จะนำมาใช้เป็นทุนหมุนเวียนในธุรกิจโรงสีข้าวด้วย

TDRI ชี้ปรับสมดุลกลไกตลาด

ด้าน ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวถึงปัญหาสภาพคล่องของโรงสีว่า ส่วนหนึ่งเกิดจากที่ผ่านมาโรงสีได้มีการเข้าร่วมโครงการรับจำนำข้าว และขยายกำลังการผลิตจนสูงถึง 110-120 ล้านตัน/ปี หรือ “สูงกว่า” กำลังการผลิตข้าวเปลือกที่ทำได้ 30 ล้านตัน/ปี เมื่อไม่มีโครงการรับจำนำจากรัฐบาลแล้วก็มีการแข่งขันการรับซื้อข้าวตามกลไกตลาดปกติ ซึ่งโรงสีที่มีศักยภาพและมีความเข้มแข็งก็จะสามารถประกอบธุรกิจค้าข้าวต่อไปได้ แต่โรงสีที่เดิมพึ่งพารายได้หลักจากการรับสีข้าวเข้าโครงการรับจำนำก็ต้องประสบปัญหา

“ทางสถาบันการเงินน่าจะรับทราบปัญหานี้ดีอยู่แล้ว และน่าจะมีการจัดแบ่งกลุ่มลูกค้า ซึ่งผู้ที่มีประวัติการชำระหนี้ที่ดีก็ไม่น่าจะกระทบ และเชื่อว่าในอนาคต ธุรกิจโรงสีก็จะปรับเข้าสู่สมดุลทางธุรกิจ อย่างไรก็ตาม ไม่เห็นด้วยกับการใช้นโยบายส่งเสริมชดเชยดอกเบี้ยให้กับโรงสี เพื่อไปรับซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกร รัฐควรปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาดมากกว่า” ดร.นิพนธ์กล่าว

กรุงไทยดูเป็นราย ๆ ไป 

นายปฏิเวช สันตะวานนท์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส สายงานธุรกิจขนาดกลาง ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ธนาคารยังดูแลและให้การสนับสนุนสินเชื่อธุรกิจโรงสีข้าวอย่างต่อเนื่อง แต่ต้องยอมรับว่าธุรกิจโรงสีเป็นเรื่องของการกระจุกตัว ขณะที่ในช่วงสองปีที่ผ่านมา โรงสีมีปัญหาภาวะความผันผวน ทำให้ธนาคารต้องมีการพิจารณาการปล่อยสินเชื่อระมัดระวังมากขึ้น ปกติหากโรงสีรายไหนที่มีปัญหาหรือมีสถานะอ่อนแอ ธนาคารก็จะยื่นมือเข้าช่วยเหลือทุกรายที่มีปัญหาเมื่อมาขอเจรจากับทางธนาคาร โดยจะดูเป็นราย ๆ ไป


“การปล่อยสินเชื่อโรงสี เราต้องคัดเลือก (ลูกค้า) แต่จะเรียกว่า ปล่อย (โรงสีข้าว) น้อยลงก็ไม่เชิง ตอนนี้แบงก์เราปล่อยเยอะที่สุดในประเทศแล้ว เพราะมีมาร์เก็ตแชร์โรงสีในไทยที่ดูแลอยู่ถึง 67% ถ้าลูกค้าเป็น NPL (หนี้ค้างชำระเกิน 3 เดือน) เราจะช่วยเหลือเป็นราย ๆ ไป” นายปฏิเวชกล่าว