กฤษฎาเล็งหารือ’แบม-แซม’ ซื้อหนี้เกษตรกรที่ไม่เข้าหลักเกณฑ์เพิ่มอีก 1,500 ราย

นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผย ในฐานะประธานประชุมคณะกรรมการเฉพาะกิจกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรเฉพาะกิจ ว่า ภายในเดือนส.ค.นี้ เตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) เพื่อรับทราบถึงการแก้ปัญหาหนี้สินเกษตรกรสมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) ตามคำสั่งพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และเตรียมหารือกับ บริษัท บริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด(แซม) และบริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด มหาชน (แบม) เพื่อให้ช่วยซื้อหนี้สินของเกษตรกรที่เป็นลูกหนี้ธนาคารพาณิชย์ ภายใต้หลักเกณฑ์เดียวกับ ธ.ก.ส.

โดยจากการหารือเบื้องต้น แบมและแซมยินดีซื้อหนี้จากธนาคารพาณิชย์ ในอัตราลดยอดหนี้ลง 50% ระยะเวลาชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ย 6 ปี แต่ขอค่าบริหารจัดการ 50-98 ล้านบาท ในเงื่อนไขของการซื้อหนี้ 50% และการจ่ายค่าบริหารจัดการอาจมีการต่อรองเพื่อลดเงินต้นให้เหลือภาระกับธนาคารพาณิชย์ให้เหลือ 48% แต่ขายให้แบมและแซมในอัตรา 50% เพื่อนำส่วนต่าง 2% ไปจ่ายเป็นค่าบริหารจัดการ หรือเจ้าหนี้ต้องลดต้น 52%

“คณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรเฉพาะกิจ เตรียมรายงานความคืบหน้าการดำเนินงานแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรที่เป็นสมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรต่อคณะรัฐมนตรี โดยสามารถดำเนินการให้เกษตรกรที่เป็นลูกหนี้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) มาเจรจาปรับโครงสร้างหนี้แล้ว วงเงินรวม 10,200 ล้านบาท 3,600 ราย ส่วนเกษตรกรอีก 1,500 รายที่ไม่เข้าหลักเกณฑ์ ไม่สามารถดำเนินการได้ตามระเบียบฯ ขณะนี้อยู่ระหว่างเจรจากับบริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) และบริษัทบริหารสินทรัพย์ สุขุมวิท จำกัด ให้มารับซื้อหนี้ วงเงิน 2,000 กว่าล้านบาทเพิ่มเติม”

นายกฤษฎา กล่าวว่า ส่วนการประชุม กฟก.ครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 16 ส.ค.นี้ได้เชิญเจ้าหนี้ธนาคารพาณิชย์ สมาคมสมาคมธนาคารไทย หลังมีการตกลงกับเจ้าหนี้แล้วว่าจะชะลอการดำเนินคดี แต่มีเกษตรกรจำนวน 22 ราย ร้องเรียนว่ายังถูกเจ้าหนี้ดำเนินคดีต่อเนื่อง จึงต้องหารือกับเจ้าหนี้อีกครั้ง พบว่าลูกหนี้จำนวน 16 ราย เป็นลูกหนี้ของ กฟก. ที่ผ่านมามีปัญหาเรื่องขั้นตอนของเอกสารและการนำส่ง เจ้าหนี้จึงระงับการดำเนินคดีตามกฏหมาย ส่วนลูกหนี้อีกจำนวน 5 ราย ปรากฏว่าไม่ได้เป็นสมาชิกของ กฟก. และไม่ได้กู้เงินเพื่อมาดำเนินกิจกรรมด้านการเกษตร แต่มีการกู้เงินเพื่อไปทำธุรกิจ อาทิ สร้างหอพัก ซื้อที่ดิน เป็นต้น ทำให้ไม่เข้าเกณฑ์การช่วยเหลือจากรัฐบาล จึงให้ธนาคารดำเนินการตามขั้นตอนของกฏหมาย

ทั้งนี้ ในสัปดาห์ก่อนคณะกรรมการเฉพาะกิจกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรเฉพาะกิจ ได้หารือกับเกษตรกรและเจ้าหนี้ เพื่อร่วมแก้ปัญหาหนี้สินเกษตรกรที่เป็นหนี้ค้างชำระธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์(ธกส.)ตั้งแต่ปี 2543 วงเงินประมาณ 10,200 ล้านบาท ธ.ก.ส.ตกลงลดยอดหนี้เกษตรกรลง 50% และหยุดดอกเบี้ย และขยายระยะเวลาชำระนี้ 15 ปี ซึ่งถือได้ว่าการเจรจาที่เป็นผลสำเร็จจำนวนมากที่สุดตั้งแต่ตั้งกองทุนฯมาในปี2542 เป็นต้นมา