“อุตตม” อุดช่องโหว่ปัญหาเอสเอ็มอีภาคตะวันออก

งัดปัญหา SMEs ภาคตะวันออกตลาดตัน-สินค้าซ้ำ “อุตตม” เร่งทุกส่วนอัดทุกมาตรการช่วย

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมได้ลงพื้นที่จัดกิจกรรม SMEs สัญจร : พลิกธุรกิจสู่อุตสาหกรรม 4.0 ครั้งที่ 2 จังหวัดชลบุรี ซึ่งได้มีการประชุมหารือกับเครือข่ายภาครัฐและเอกชนกว่า50 หน่วยงาน ทำให้ได้ข้อสรุปถึงปัญหาในพื้นที่ภาคตะวันออก 8 จังหวัดประกอบด้วย ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา จันทบุรี ตราด ปราจีน สระแก้ว และนครนายก ทั้งนี้ พื้นที่ภาคตะวันออกมีศักยภาพในหลายด้าน ทั้งเป็นพื้นที่รองรับอุตสาหกรรมตามนโยบายโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และยังมีพื้นที่ระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก (EFC) รวมถึงเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน (SEZ)

นายอุตตมเปิดเผยว่า ในการหารือกับภาคเอกชน เสนอให้รัฐช่วยเร่งแก้ไขปัญหาอุปสรรค พร้อมทั้งนำมาตรการส่งเสริมต่าง ๆ ที่มีอยู่เข้ามาช่วยผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เพิ่มศักยภาพในการผลิต โดยเฉพาะการส่งเสริม EFC เนื่องจากภาคตะวันออกมีวัตถุดิบที่เป็นผลไม้จำนวนมาก แต่ที่ผ่านมาเกษตรกรไม่สามารถต่อรองราคาผลไม้กับผู้รวบรวมรับซื้อได้ เพราะมีระบบการตกลงราคาซื้อขายล่วงหน้าแบบยกสวนและมีการจ่ายเงินมัดจำ หากรัฐบาลดำเนินนโยบาย EFC ไม่เพียงจะช่วยด้านราคาแต่ยังสามารถให้พัฒนาตลาดกลางประมูลผลไม้คุณภาพสูงด้วย

ก่อนหน้านี้ ครม.ได้เห็นชอบให้ตั้ง EFC ขึ้นบนพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม Smart Park จ.ระยอง ที่ใช้งบประมาณ 1,580 ล้านบาท คาดว่ามีมูลค่าการลงทุนและการซื้อขายผลไม้ในโครงการ EFC สูงถึง 51,931 ล้านบาทในปี 2564 ขั้นต่อไปเป็นช่วยทำตลาดสำหรับสินค้าแปรรูป และให้หน่วยงานที่รับผิดชอบกำหนดว่าแหล่งท่องเที่ยวจุดไหนจะมีสินค้าใดเป็นตัวชูโรง เพื่อสร้างจุดขายในชุมชน

นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กล่าวยอมรับว่า SMEs มี 2 ปัญหาหลัก คือ สินค้าเกษตรกรที่นำมาแปรรูปยังคงมีสินค้าที่ซ้ำกันมาก ขาดการต่อยอดเพิ่มมูลค่าเพื่อให้มีสินค้าที่หลายหลาก ทำให้สินค้าบางตัวขายไม่ได้ และการทำตลาดที่ไปไม่ถึงที่สุด ไม่สามารถเข้าสู่รูปแบบการขายใหม่ ๆ หรือส่งออกได้ จึงมีการขายแบบเดิม ๆ ซึ่งจากที่หารือกันกับทุกหน่วยงานแล้วจะเร่งเอามาตรการที่มีไปช่วยอย่าง Big Brother

นายวิบูลย์ กรมดิษฐ์ กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่การตลาด บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชั่น เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในฐานะที่บริษัทร่วมโครงการพี่ช่วยน้อง (Big Brother) เพราะมีความพร้อมที่จะเป็นตัวกลางให้ผู้ประกอบการรายใหญ่ที่เป็นทั้งลูกค้าของอมตะฯ และที่ตั้งโรงงานอยู่แล้วในนิคมอมตะที่เป็นผู้ผลิตได้พบกับ SMEs ที่เป็นซัพพลายเออร์ เพื่อการเป็นพาร์ตเนอร์กันในอนาคต

นายสนธยา คุณปลื้ม ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง กล่าวว่า ขอให้ภาครัฐกำหนดแนวทางแก้ปัญหาการจัดการขยะภาคอุตสาหกรรมการผลิตของภาคตะวันออกซึ่งเป็นปัญหาในปัจจุบัน โดยเฉพาะชลบุรีที่มีปริมาณขยะ 3,000 ตัน/วัน สามารถบริหารจัดการได้ 60% หรือประมาณ 1,800 ตัน/วัน ดังนั้น รัฐควรหาวิธีพัฒนาพื้นที่เดิมให้มีประสิทธิภาพไม่ควรเปิดพื้นที่ใหม่ ควรตั้งโรงไฟฟ้าขยะในพื้นที่เดิม พร้อมทั้งส่งเสริมอุตสาหกรรมเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ circular economy เพื่อลดปัญหาสิ่งแวดล้อม

นายชาญกฤช เดชวิทักษ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมภาคตะวันออก กล่าวว่า เสนอให้รัฐพัฒนานวัตกรรมยานยนต์สีเขียวซึ่งเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย และการจัดการอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป เน้นส่งเสริมอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปอย่างครบวงจร และขอให้การสนับสนุนการบินสมัยใหม่ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่คาดว่าจะโตเร็วที่สุดในกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่