ฮิโรกิ มิตสึมาตะ “JETRO” สะท้อนความมั่นใจใน EEC

นับตั้งแต่เกิดโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก “EEC” ขึ้นมาอย่างเป็นรูปธรรมใช้เวลาเกือบ 2 ปี จนวันนี้โครงสร้างพื้นฐานหลัก 5 โครงการที่วางแผนไว้จะสร้างภายใน 5 ปี ด้วยเห็นเม็ดเงินลงทุน 1.7 ล้านล้านบาทนั้น TOR รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) เปิดให้นักลงทุนซึ่งได้ซื้อซองถึง31 รายยื่นเข้ามาเรียบร้อยแล้ว เป็นตัวการันตีและจุดเริ่มต้นว่า รัฐบาลไทยเดินหน้า EEC ตามที่เคยให้สัญญาไว้ ประกอบกับ พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่สมบูรณ์ประกาศใช้แล้วเมื่อวันที่ 15 พ.ค. 2561

วันนี้ “ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์ “นายฮิโรกิ มิตสึมาตะ” ประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (JETRO) กรุงเทพฯ

Q : เชื่อมั่นใน EEC

งานสัมมนาเชิงปฏิบัติการ Eastern Economic Corridor (EEC) Workshop ครั้งนี้เป็นคำขอจากเราซึ่งมีทั้ง JETRO และหอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพฯ (JCC) ร่วมกันจัดขึ้น บริษัทญี่ปุ่นที่มาเข้าร่วมงานในวันนั้นรู้สึกได้ถึงว่าการจัดงานนั้นประสบความสำเร็จ เพราะวันนี้ทางการรัฐบาลไทยได้มาลงรายละเอียดขั้นตอนการดำเนินการของ EEC ให้กับทางนักธุรกิจญี่ปุ่นรับทราบ และให้ข้อมูลเพิ่มเติมมากขึ้น หลังจากที่กฎหมายออกมาใช้อย่างเป็นทางการแล้ว

Q : ความต้องการของญี่ปุ่น

สิ่งที่ทางเราและ JCC อยากให้รัฐบาลไทยทำเพิ่มเติม คือ การพิจารณาประเด็นสมาร์ทวีซ่าใหม่ ที่แต่เดิมกำหนดเงื่อนไขของเงินเดือนไม่ต่ำกว่า 2 แสนบาท ทาง JCC ได้แจ้งหน่วยงานไทยว่า เป็นเรื่องที่ทำได้ยาก ซึ่งวันนี้นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ก็ได้รับปากว่าทางรัฐบาลอยู่ระหว่างการพิจารณาปรับปรุงเงื่อนไขให้

ทั้งนี้ ในเดือนสิงหาคม-กันยายนเมื่อปีที่แล้ว JCC ได้มีการสรุปความประสงค์มาแล้วว่า อยากให้รัฐบาลไทยทำอะไรบ้าง และในงานได้หยิบยกประเด็นบางส่วนขึ้นมาพูด คือ เงื่อนไขการลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP) ที่อยากให้รัฐบาลไทยมีส่วนรับผิดชอบต้นทุนการลงทุนในโครงการที่มีความเสี่ยงสูง และอีกประเด็นเกี่ยวกับเทคโนโลยีใหม่อย่างหุ่นยนต์ (robot) ที่อยากให้มีการกำหนดเงื่อนไขให้ง่ายขึ้น เพราะการนำเอาเทคโนโลยีใหม่เข้ามาใช้อาจจะต้องมีข้อยกเว้นทางกฎหมาย ด้วยการอนุญาตให้มีการทดสอบบางประการที่อาจขัดต่อกฎหมายได้ ตอนนี้ทางญี่ปุ่นก็รอรัฐบาลไทยพิจารณาใหม่และประกาศเงื่อนไขใหม่ออกมา

Q : 10 อุตฯ เหมาะกับ EEC หรือไม่

ส่วนตัวมองว่าอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-curve) ที่ประเทศไทยวางไว้ในพื้นที่ EEC นั้นมีความเหมาะสม แต่การที่บริษัทญี่ปุ่นจะลงทุนในอุตสาหกรรมระดับสูง หรืออุตสาหกรรม 4.0 ตัวโครงการ EEC เองก็ต้องมีความพร้อมของตนเองด้วย

Q : สิทธิประโยชน์พอหรือไม่

นักลงทุนญี่ปุ่นมองว่าสิทธิประโยชน์ที่รัฐบาลไทยมอบให้ค่อนข้างจะเพียงพอและมีความพึงพอใจ โดยเฉพาะในด้านข้อยกเว้นทางภาษี อย่างไรก็ตามนักลงทุนญี่ปุ่นบางส่วนมองถึงปัญหาภายใน EEC ว่า การประมาณการดีมานด์ในโครงการ EEC อาจจะมากเกินความเป็นจริง และในโครงการที่ต้องมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานยังมีไทม์ไลน์ที่ยังไม่ชัดเจน

ซึ่งในวันนี้นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ก็ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติม ทั้งในโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิอู่ตะเภา) หรือจะเป็นโครงการท่าเรือน้ำลึกที่ระบุว่าจะมีการขายซองร่างขอบเขตของงาน (TOR) ภายในปี 2561 นี้ ก็ถือว่าสร้างความมั่นใจว่าจะมีการเดินหน้า แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นทางญี่ปุ่นจะยังจับตาว่าหลังเปิดขายซองจะดำเนินโครงการอย่างไรต่อไป

สำหรับโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานบนพื้นที่ EEC นั้น บริษัทญี่ปุ่นมีความมั่นใจ แต่ก็อยากจะมั่นใจมากขึ้นด้วยการที่รัฐบาลเปิดเผยรายละเอียดมากขึ้น ซึ่งนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีอุตสาหกรรม ก็ได้พยายามให้ความมั่นใจนักลงทุนญี่ปุ่นเพิ่มมากขึ้น ทางเราเองหากมีโอกาสหารือพูดคุยมากขึ้น จะทำให้ทางญี่ปุ่นมั่นใจเพิ่มมากขึ้นด้วยเช่นกัน

Q : สิ่งสำคัญที่ทำให้ EEC สำเร็จ

ความสำเร็จของโครงการ EEC นั้นมีองค์ประกอบหลายอย่าง แต่สิ่งที่สำคัญคือ “รัฐบาลไทยจะต้องสื่อสารสร้างความมั่นใจให้นักลงทุนจากต่างประเทศ” ทั้งนี้ ถ้าดูจากในอดีตหรือช่วงนับตั้งแต่ 2 ปีที่แล้วก่อนจะมี EEC เมื่อเทียบกับปัจจุบันที่เกิด EEC ขึ้นมาแล้ว นักลงทุนญี่ปุ่นตัดสินใจเลือกที่จะลงทุนในประเทศไทย และถือว่ามีความกระตือรือร้นในการลงทุนเพิ่มมากขึ้น