ความท้าทาย “CPTPP” กับอนาคตเศรษฐกิจไทย

คอลัมน์ แตกประเด็น

โดย อรมน ทรัพย์ทวีธรรม กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

ท่ามกลางสถานการณ์การค้าโลกในปัจจุบันที่กระแสการค้าเสรีกำลังถูกท้าทายด้วยการใช้มาตรการกีดกันการค้าเพิ่มขึ้น ประเทศต่าง ๆ จึงหันมาให้ความสนใจกับการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือ และความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจระหว่างกัน หนึ่งในความตกลง FTA ที่มีการพูดถึงกันมากในสมัยนี้ คงไม่พ้นความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) หรือที่อาจรู้จักกันในชื่อ TPP-11ซึ่งมีสมาชิกทั้งหมด 11 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย แคนาดา นิวซีแลนด์ ชิลี เปรู เม็กซิโก ญี่ปุ่น บรูไน มาเลเซีย สิงคโปร์ และ เวียดนาม

อย่างไรก็ดี ก่อนจะมาเป็นความตกลง CPTPP อย่างในปัจจุบันนั้น ในพ.ศ. 2546 ชิลี สิงคโปร์ และนิวซีแลนด์ ได้มีการเจรจาเอฟทีเอระหว่างกัน เพื่อหวังเชื่อมโยงภูมิภาคเอเชีย อเมริกาใต้ และแปซิฟิกเข้าด้วยกัน และปี 2548 บรูไนได้เข้าร่วมการเจรจาดังกล่าว จงทำให้เกิด ความตกลง Trans-Pacific Strategic Economic Partnership หรือ P4 ขึ้น และมีประเทศใหม่รวมถึงสหรัฐเข้าร่วมจนมีสมาชิก 12 ประเทศ รวมเรียกว่า Trans-Pacific Partnership หรือ TPP โดยมีสหรัฐเป็นผู้ผลักดันสำคัญในการเจรจายุคใหม่ที่มีมาตรฐานสูงขึ้น

ด้วยความพยายามของ TPP ทั้ง 12 ประเทศ จึงสามารถสรุปผลการเจรจาได้เดือนตุลาคม 2558 และได้ลงนามความตกลงเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2559 แต่หลังจาก นายโดนัล ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้ง ได้ประกาศถอนตัวจาก TPP เมื่อเดือนกรกฎาคม 2560 เมื่อถึงจุดเปลี่ยน สมาชิกที่เหลือ 11 ประเทศ ยังคงต้องการให้ความตกลง TPP มีผลใช้บังคับได้ โดยในระหว่างการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปก ณ เมืองดานัง ประเทศเวียดนาม เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2560 รัฐมนตรีการค้า TPP ที่เหลือ 11 ประเทศ ได้ออกแถลงการณ์ร่วมเห็นชอบหลักการสำคัญของความตกลง TPP และเปลี่ยนชื่อเป็น Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnership หรือ CPTPP ซึ่งยังคงยึดถือหลักการจัดทำ

ความตกลงการค้าเสรีที่มีมาตรฐานสูง ขณะเดียวกันก็คำนึงถึงความยืดหยุ่นของสมาชิกในการกำหนดนโยบายและการออกกฎระเบียบทางการค้าและการลงทุน จนกระทั่งสามารถได้เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2561 ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น และลงนามความตกลงฯเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2561 ณ เมืองซานติอาโก ประเทศชิลี ปัจจุบันสมาชิก CPTPP อยู่ระหว่างดำเนินกระบวนการภายใน โดยต้องมีอย่างน้อย 6 ประเทศให้สัตยาบันรับรองความตกลงฯ ถึงจะมีผลใช้บังคับได้ ซึ่งคาดว่า ความตกลงฯน่าจะเริ่มมีผลใช้บังคับช่วงต้นปี 2562 ที่จะถึงนี้

จากการติดตามที่ผ่านมาพบว่ามีประเทศต่าง ๆ แสดงความสนใจเข้าร่วม CPTPP เป็นจำนวนมาก อาทิ จีนไทเป (ไต้หวัน) อังกฤษ เกาหลีใต้ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และโคลอมเบีย ซึ่งล่าสุดโคลอมเบียได้ส่งหนังสือแจ้งความสนใจที่จะเข้าร่วม CPTPP ให้แก่นิวซีแลนด์แล้ว ในฐานะผู้เก็บรักษาสนธิสัญญา (Treaty Depository Country) แม้ CPTPP จะยังไม่มีผลใช้บังคับก็ตาม ซึ่งถือเป็นการส่งสัญญาณความพร้อมไปยังสมาชิก CPTPP ที่จะเข้าร่วมทันทีที่เปิดรับสมาชิกใหม่ ทั้งนี้ ความตกลง CPTPP ได้ระบุว่า หลังจากความตกลงมีผลใช้บังคับแล้ว ประเทศที่สนใจเข้าร่วมเป็นสมาชิก CPTPP สามารถยื่นความจำนง ขอเข้าร่วมเป็นสมาชิกได้ แต่จะได้เป็นสมาชิกหรือไม่ จะขึ้นอยู่กับเงื่อนไขตามที่จะตกลงกันกับสมาชิก CPTPP และนั่นหมายถึงเร็วสุด คือต้นปี 2562 ภายหลังอย่างน้อย 6 ประเทศ ดำเนินกระบวนการภายในแล้วเสร็จ จึงจะเปิดรับสมาชิกใหม่อย่างเป็นทางการ

สำหรับสาเหตุที่หลายประเทศสนใจเข้าร่วม อาจเพราะเล็งเห็นว่า CPTPP เป็นความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้า ซึ่งจะรองรับรูปแบบการค้าการลงทุนในโลกยุคใหม่ ซึ่งมีเนื้อหาครอบคลุมถึงการเปิดตลาดการค้าสินค้า การค้าบริการ การลงทุน การกำหนดมาตรฐานสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรม และประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการค้า อาทิ พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ทรัพย์สินทางปัญญา การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ นโยบายการแข่งขัน ความโปร่งใสและการต่อต้านการทุจริต แรงงาน และสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

ขณะเดียวกัน หลังจากที่สหรัฐถอนตัว สมาชิกที่เหลือ 11 ประเทศก็ได้ถอดบางประเด็นใน TPP ที่เป็นข้อกังวลของหลายประเทศออกจากความตกลง CPTPP อาทิ การขยายระยะเวลาคุ้มครองสิทธิบัตรอันเกิดจากความล่าช้าอย่างไม่สมเหตุสมผล ซึ่งแต่เดิมใน TPP สมาชิกจะต้องชดเชยระยะเวลาคุ้มครองสิทธิบัตร หากหน่วยงานรับผิดชอบในการพิจารณาจดสิทธิบัตรดำเนินการล่าช้า นอกจากนี้ ยังถอดเรื่องการคุ้มครองข้อมูลทดสอบยา การอนุญาตให้จดสิทธิบัตรยาที่ปรับปรุงเพียงวิธีการและขั้นตอนการใช้ใหม่ในผลิตภัณฑ์เดิม และระยะเวลาการคุ้มครองลิขสิทธิ์ ซึ่งยังคงให้ระยะเวลาคุ้มครองที่ 50 ปี จากเดิมที่ TPP จะขยายไปถึง 70 ปี เป็นต้น

การเข้าร่วม CPTPP ของไทย จึงต้องมีการศึกษาผลกระทบ ประเมินผลดีและผลเสียอย่างรอบคอบ ซึ่งปัจจุบันกระทรวงพาณิชย์ โดยกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศอยู่ระหว่างดำเนินการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ศึกษาความตกลง CPTPP เชิงลึก เพื่อให้มีข้อมูลเพียงพอในการหาคำตอบเรื่องการเข้าร่วม CPTPP ของไทย ตลอดจนจัดรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วนอย่างรอบด้าน เพื่อให้แน่ใจว่าได้รับข้อมูลอย่างครบถ้วน ซึ่งขณะที่สมาชิก CPTPP ยังอยู่ระหว่างดำเนินกระบวนการภายในเพื่อให้สัตยาบันรับรองความตกลง CPTPP และคาดว่าจะพร้อมเปิดรับสมาชิกใหม่ต้นปี 2562 นั้น ยังพอมีเวลาสำหรับไทยในการพิจารณาก้าวขึ้นขบวนรถไฟ CPTPP ด้วยความพร้อมอย่างเหมาะสมและถูกจังหวะ เพื่อไปสู่เป้าหมายของการพัฒนาเศรษฐกิจและวางรากฐานสำหรับอนาคตของประเทศอย่างยั่งยืนต่อไป