เร่งศึกษาข้อตกลง CPTPP โค้งสุดท้าย ไทยเกาะขบวนค้าเสรี

หลังจากนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ มอบนโยบายให้กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ศึกษาความเป็นไปได้ในการเข้าร่วมเจรจา “ความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก” (Comprehensive and Progressive for Trans-Pacific Partnership-CPTPP) หลังจากสมาชิก 11 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย แคนาดา นิวซีแลนด์ ชิลี เปรู เม็กซิโก ญี่ปุ่น บรูไน มาเลเซีย สิงคโปร์ และเวียดนาม ได้ลงนามและเตรียมให้สัตยาบัน เพื่อให้ความตกลง CPTPP มีผลบังคับใช้ต้นปี 2562

ล่าสุดกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ มอบให้บริษัท โบลลิเกอร์ แอนด์ คอมพานี จำกัด ทำหน้าที่ที่ปรึกษาโครงการศึกษาความพร้อม ประโยชน์ ปัญหา อุปสรรค การเข้าร่วม CPTPP และจัดให้มีการประชุมรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วนรวม 5 ครั้ง โดยเริ่มครั้งแรกที่ภาคตะวันออกไปเมื่อเร็ว ๆ นี้

CPTPP ไร้เงาสหรัฐ

ดร.รัชดา เจียสกุล หุ้นส่วนและกรรมการผู้จัดการ บริษัท โบลลิเกอร์ แอนด์ คอมพานี จำกัด ในฐานะที่ปรึกษาโครงการ กล่าวว่า ความตกลง CPTPP มีความยาว 8,000 หน้า ครอบคลุมประเด็นที่เกี่ยวข้อง 30 ประเด็น อาทิ นิยามทั่วไป การเข้าถึงตลาดสินค้า กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า พิธีการศุลกากร มาตรการเยียวยาทางการค้า และมาตรการการสุขอนามัยพืช เป็นต้น แต่ประเด็นที่ภาคประชาสังคมจับตามอง คือ การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ นโยบายการแข่งขันทางการค้า ทรัพย์สินทางปัญญา แรงงานและสิ่งแวดล้อม ซึ่งยังเป็นประเด็นอ่อนไหวมาตั้งแต่ครั้งเจรจา

เอฟทีเอไทย-สหรัฐในอดีต

สำหรับประเด็นสิทธิบัตรยา สิทธิบัตรพืชและสัตว์นั้น หลายฝ่ายกังวลว่าผู้ผลิตยาไทยไม่สามารถใช้ข้อมูลทดลองทางเทคนิคที่มีอยู่มาขึ้นทะเบียนยาสามัญได้ รวมทั้งไทยต้องขยายการคุ้มครองให้ครอบคลุมพืชและสัตว์และเข้าเป็นภาคีอนุสัญญา UPOV กระทบชุมชนท้องถิ่น และกังวลว่าอาจเปิดโอกาสให้เกิดโจรสลัดชีวภาพ ล้วนแล้วแต่เป็นประเด็นที่สหรัฐเคยผลักดันอยู่เดิม

ส่วนประเด็นแรงงาน แม้การเข้าร่วมข้อตกลงจะเป็นโอกาสในการสร้างสวัสดิภาพแรงงานทุกประเภทและชนชาติ แต่ไทยมีจุดอ่อนปัญหา IUU และยังไม่ได้เข้าร่วมภาคีอนุสัญญา ILO ว่าด้วยการทำงานภาคประมง ซึ่งบริบทประมงไทยยังไม่สอดคล้องกับหลักสากล

ส่วนข้อกังวลที่ว่าหากสหรัฐจะกลับเข้า CPTPP อีกครั้งนั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากสหรัฐต้องผ่านการ “เจรจากับประเทศสมาชิกเดิม” และต้อง “ยอมรับเงื่อนไข” ทั้งหมดก่อน ซึ่งทำให้ประเด็นที่สหรัฐพยายามผลักดัน ซึ่งเป็นประเด็นที่ไทยกังวล “ไม่มีผลกลับมาบังคับใช้โดยอัตโนมัติ” ฉะนั้น ไทยควรอาศัยจังหวะนี้ในการเข้าร่วมหรือไม่ ?

อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนี้ต้องอาศัย ระยะเวลาเตรียมความพร้อมควบคู่กับการแก้ไขกฎหมายภายในก่อนตัดสินใจร่วมวง

อีก 12 ปี GDP หด 0.9%

แต่หากไทยตัดสินใจช้า หรือไม่เข้าร่วม จะส่งผลจีดีพีของไทยให้ในอีก 12 ปีข้างหน้า หรือภายในปี 2030 จะลดลง 0.9% ไทยจะเสียความสามารถในการแข่งขัน เนื่องจากไทยจะสูญเสียมูลค่าการส่งออก 2% ในทางกลับกันเวียดนามและมาเลเซียจะมี GDP เพิ่มขึ้น 10% และ 8% โดยที่การส่งออกของเวียดนามและมาเลเซียจะเพิ่มขึ้น 30%

กกร.หนุนรัฐโดดร่วม

นายชูศักดิ์ ชื่นประโยชน์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) กล่าวว่า สภาหอการค้าไทยและบอร์ด กกร.ให้ความสำคัญกับท่าทีรัฐต่อ CPTPP อย่างมาก เพราะจะช่วยยกระดับขีดความสามารถการแข่งขัน แต่ภาครัฐต้องมีมาตรการเพิ่มศักยภาพทุกระดับให้มีความพร้อมก่อน โดยเฉพาะภาคเกษตร SMEs รัฐต้องศึกษาโดยชี้เป้ารายสินค้าที่อ่อนไหว อาทิ ข้าว ยาง มัน ปาล์ม อ้อย ต้องสร้างมูลค่าเพิ่ม

“ผมยังกังวลถ้าไม่เข้าจะแข่งขันใครได้ไหม กรอบนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่อยู่ในเอเปก เพียงแต่สร้างกติกาใหม่บางข้อ ส่วนเกษตรไทยยังไปได้อีกไกล เพราะไทยผลิตจนล้น ในขณะที่ต่างประเทศไม่

เพียงพอเราต้องเพิ่มมูลค่า และรัฐต้องอธิบายให้ภาคประชาสังคมเข้าใจ และสร้างการรับรู้ร่วมกัน ซึ่งรัฐต้องชัดเจนในเรื่องข้อมูล หรือเราต้องพยายามกอบโกยความไม่แน่นอนของอเมริกาในสนามการค้า แพ้ชนะคือมาตรฐานและคุณภาพ”

รัฐหวั่นเพื่อนบ้านตีตื้น

ขณะที่ นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า กรมจะร่วมกับสภาเกษตรกรแห่งชาติในการบันทึกความเข้าใจถึงโอกาสและความเป็นไปได้ การเข้าร่วม CPTPP พร้อมทั้งรวบรวมข้อมูล “อย่างรอบด้าน” ก่อนสรุปเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา

“ประโยชน์ที่เกษตรกรจะได้รับจากการลดภาษี 0% จาก 11 ประเทศ ย่อมทำให้ไทยได้เปรียบคู่แข่งในตลาด ส่วนมุมข้อกังวลที่คู่แข่งจะเข้ามาดัมพ์ราคาสินค้าเกษตร โดยเฉพาะภาคปศุสัตว์นั้น เป็นเรื่องที่ต้องพูดคุยกันเวทีย่อย อยากให้มองทั้ง 2 มุมว่า เกษตรกรต้องปรับตัวยกระดับการผลิต ภาคประชาสังคมต้องยอมรับข้อเท็จจริงหนึ่งว่าต่อให้ภาคเกษตรไม่เข้าร่วม อุตสาหกรรมอื่น ๆ ก็ต้องเผชิญกับการแข่งขันรุนแรง โดยเฉพาะเวียดนามค่อนข้างปรับตัวไปได้เร็ว ซึ่งเป็นสิ่งน่ากลัวมาก”

สภาเกษตรกร ขอทบทวนอีกรอบ

นายปรีชา วงศ์สกุลเกียรติ ผู้อำนวยการสำนักยุทธศาสตร์การเกษตร สภาเกษตรกรแห่งชาติ กล่าวว่า เร็ว ๆ นี้ สภาเกษตรกรฯเตรียมยื่นหนังสือข้อเรียกร้อง 6 ข้อ ต่อ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ต่อท่าทีการเจรจาเข้าร่วม CPTPP ของรัฐบาล เนื่องจากยังมีความกังวลผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับภาคเกษตรโดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อย เพราะแม้ว่าสหรัฐจะประกาศถอนตัวออกจาก TPP แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า ยกเลิกไปโดยสิ้นเชิง หากอนาคตทรัมป์เปลี่ยนนโยบายกลับมาศึกษาหรือทบทวนการเข้าร่วมภาคีใหม่จะรองรับอย่างไร

“แม้ว่าเวทีนี้เปิดรับฟังความคิดเห็นก็จริง แต่ยังต้องจัดให้มีเวทีย่อยเฉพาะเรื่อง ซึ่งทีมที่ปรึกษาต้องทำการศึกษาลงรายละเอียดรายประเด็นให้มากขึ้น โดยเฉพาะบทเรียนการเปิดตลาดนำเข้าหมูสหรัฐของเวียดนาม ซึ่งเป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดว่าข้อตกลงนี้อาจทำลายอุตสาหกรรมหมูทั้งระบบ เพราะอาจมีชิ้นส่วนเครื่องใน กระดูก หรือสินค้า by product ราคาถูกทะลักเข้ามาจนทำให้เกษตรกรกระทบทั้งซัพพลายเชนได้รับผลกระทบ เพราะแม้ว่าสมาชิก CPTPP 9 ประเทศจะไม่มีสหรัฐ แต่ก็มีแคนาดาซึ่งมีอุตสาหกรรมปศุสัตว์โดยเฉพาะสุกรเพื่อการส่งออก ต้นทุนต่ำ คล้ายกับสหรัฐ จึงเกรงว่าปัญหาเรื่องนี้จะไม่ต่างจากกรอบ TPP เดิม”


หรืออย่างกรณีพืชตัดแต่งพันธุกรรม (GMO) เป็นประเด็นอ่อนไหว ยังมีรายละเอียดที่ไม่ชัดเจน ประเด็นอนุญาโตตุลาการยังมีข้อกฎหมายเดิมซ่อนอยู่ เราไม่ได้ค้าน เพียงแต่จะเสนอแนะในสิ่งที่กังวล เพราะนี่คือความเป็นความตายของเกษตรกรทั้งประเทศ อย่างไรก็ตาม หากรัฐบาลมีท่าทีเข้าร่วม CPTPP ทางสภาเกษตรกรฯต้องแสดงพลัง แม้ว่า World Bank ศึกษาแล้วหากไทยไม่เข้าร่วมแล้วจะทำให้มูลค่าการค้าเสียหาย แต่ในการศึกษาวิเคราะห์โบลลิเกอร์ฯยังไม่ได้บอกว่าอะไรบ้างที่เสียหาย จำเป็นต้องมีผลศึกษาชัดเจนกว่านี้