“อดุลย์”ไฟเขียว 3 แนวปฏิบัติ แก้ปม”แรงงานประมง”ฉลุย

แก้ปัญหาแรงงานประมง - เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้วรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน แถลงข่าวผลการประชุมร่วมกับสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย ในการแก้ไขปัญหาแรงงานประมงขาดแคลน เพื่อวาง 3 แนวทางปฏิบัติในการแก้ไขปัญหาแรงงานขาดแคลน 53,000 คน

ก.แรงงานตกลงกับ ส.การประมงแห่งประเทศไทย แก้ปัญหาแรงงานประมงขาดแคลน และได้วาง 3 แนวทางปฏิบัติยืดอายุแรงงานประมงตามม.83 พ.ร.ก.ประมง อีก 2 ปีถึงปี”63 พร้อมขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวที่มีเอกสารครบถ้วน และนำเข้าแรงงานเมียนมา จากการเจรจาล่าสุดลอต 36,000 คน

พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงผลการประชุมร่วมกับสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย ในการแก้ไขปัญหาแรงงานประมงขาดแคลนเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า ที่ประชุมได้วางแนวทางปฏิบัติในการแก้ไขปัญหาแรงงานขาดแคลนจำนวน 53,000 คน เป็น 3 แนวทาง คือ

1) อนุญาตให้แรงงานต่างด้าว 11,000 คน ที่ขึ้นทะเบียนตามมาตรา 83 พ.ร.ก.การประมง พ.ศ. 2558 ที่จะครบกำหนดในวันที่ 30 ก.ย.นี้ ออกไปอีก 2 ปี จนถึง 30 กันยายน 2563 โดยจะเปิดศูนย์ขึ้นทะเบียนใน 22 จังหวัดชายทะเล ตั้งแต่วันที่ 20 สิงหาคม 2561-30 กันยายน 2561 เพื่อให้แรงงานต่างด้าวมารายงานตัว

2) ให้แรงงานต่างด้าวที่มีหลักฐานเอกสารครบถ้วน เช่น หนังสือเดินทาง หนังสือเดินทางชั่วคราว มารายงานตัวเพื่อทำงานเป็นแรงงานประมงตามมาตรา 83 พ.ร.ก.การประมง พ.ศ. 2558 ภายในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2561 ทั้งนี้ แรงงานจะต้องมีหลักฐานการเหลือระยะเวลาทำงานตามหนังสือเดินทางเข้ามาในประเทศไทยเกิน 90 วัน และ

3) เป็นการนำเข้าแรงงานตามบันทึกความเข้าใจ (MOU) แบบรัฐต่อรัฐ ซึ่งล่าสุดได้ไปเจรจากับทางนายเต็ง ส่วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเมียนมา ซึ่งทางเมียนมาพร้อมจะดำเนินการส่งแรงงานให้ไทยได้ทันทีในเดือน พฤศจิกายนนี้ ตามจำนวนที่ไทยมีความต้องการแรงงาน 42,000 คน ทั้งนี้ แรงงานกลุ่มนี้มาจากพื้นที่ภาคตะนาวศรี และมะริด ซึ่งเป็นแรงงานที่อยู่ในพื้นที่ที่คุ้นเคยกับทะเล

หลังจากนี้ ผู้ประกอบการเรือประมงไทยจะยื่นรายชื่อความต้องการให้กระทรวงในลอตแรก 36,000 คน เพื่อให้ทางกระทรวงแรงงานดำเนินการจัดส่งไปให้ทางเมียนมาภายในสิ้นเดือน ส.ค.นี้ เพื่อที่รัฐบาลเมียนมาจะได้นำไปพิจารณาและเสนอต่อรัฐสภาพิจารณาอนุมัติต่อไป

“ส่วนแรงงานสัญชาติอื่นที่ทำ MOU ไว้กับไทย เช่น ลาว กัมพูชา และเวียดนาม ทางกระทรวงต้องขอเวลาอีกประมาณ 1 เดือนในการเดินทางไปเจรจา และในช่วงนี้จะให้รองปลัดกระทรวงแรงงานไปเจรจาเพิ่มเติมเกี่ยวกับเงื่อนไขและสิทธิประโยชน์ที่แรงงานต่างด้าวจะได้รับ เท่าที่ดูเบื้องต้นอัตราเงินเดือน 10,000-12,000 บาทต่อคน มีค่าอาหาร ที่พักอาศัย ประกันสุขภาพ เขาพอใจ เหลือเพียงประกันสังคมที่จะเจรจากันต่อไป”

นายมงคล สุขเจริญคณา ประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงการหารือกับนายอดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมงเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ถึงความเดือดร้อนของชาวประมงจาก พ.ร.ก.การประมง พ.ศ. 2558 และกฎระเบียบต่าง ๆ ที่ออกมาเพื่อแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุม (IUU Fishing) ว่า ปัญหาที่ต้องการให้ภาครัฐและกรมประมงแก้ไขจะเกิดจากการควบคุมและเฝ้าระวังตามมาตรา 81 พ.ร.ก.การประมง 2558 ที่กำหนดให้ชาวประมงต้องทำอย่างไรบ้าง หากไม่ทำจะมีความผิดร้ายแรงตามที่กำหนดในมาตรา 114 ซึ่งในภาคปฏิบัติไม่ควรจะถือเป็นความผิดและมีโทษร้ายแรง อาทิ การลืมจดบันทึกการจับปลาในบางวัน ปริมาณปลาที่บันทึกคลาดเคลื่อนเกิน 10% ควรให้คลาดเคลื่อนไม่เกิน 20-30% เพราะสุดท้ายก็ต้องนำมาชั่งน้ำหนักที่ท่าเทียบเรืออยู่แล้ว

การแจ้งเข้าออกกับศูนย์ตรวจสอบเรือเข้า-ออก (PIPO) ภายใน 24 ชั่วโมง แต่ไม่น้อยกว่า 2 ชั่วโมง ล่าสุดเรือเข้าเร็วเกินไป 15 นาที ทำให้ถูกปรับลำละ 5 แสนบาทและถูกกักเรือ ซึ่งโดยสรุปแล้วต้องจ่ายลำละ 1 ล้านบาท 2 ลำ รวม 2 ล้านบาท ถือว่ารุนแรงเกินไป ฯลฯ ปัญหาเหล่านี้กรมประมงและหน่วยงานภาครัฐรับพร้อมจะนำไปพิจารณาแก้ไขต่อไป