ผู้ส่งออก”ไก่เนื้อ”ไทยโงหัวขึ้น อานิสงส์ศึกUS-จีนฉุดต้ันทุนอาหารสัตว์ลง

ญี่ปุ่น-อียูแห่นำเข้าไก่เนื้อไทย ครึ่งปีแรกส่งออกโต 10% สมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อการส่งออกไทยเล็งปรับเป้าส่งออกปีนี้ใหม่ในเดือน ก.ย.-ต.ค.นี้ ด้านสถานการณ์ราคาไก่ในประเทศที่ขายขาดทุนเริ่มดีขึ้นตามราคาหมู หน้าโรงงานขยับซื้อไก่เนื้อจาก กก.ละ 30-31 เป็น กก.ละ 34-35 บาท

นายคึกฤทธิ์ อารีปกรณ์ ผู้จัดการสมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อการส่งออกไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงแนวโน้มการส่งออกไก่เนื้อของไทยในปีนี้ว่า ทางสมาคมยังคงแนวโน้มปริมาณการส่งออกไก่เนื้อปีนี้ไว้ที่ 820,000 ตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ประมาณ 3% แม้ว่าครึ่งปีแรกที่ผ่านมาไทยจะส่งออกเนื้อไก่ได้เพิ่มขึ้นถึง 10% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีที่ผ่านมา คิดเป็นปริมาณ 414,600 ตัน คาดว่าจะมีการปรับเป้าหมายการส่งออกไก่เนื้อปีนี้ใหม่ในเดือนกันยายนหรือตุลาคมศกนี้

การส่งออกไก่เนื้อของไทยที่เพิ่มขึ้นมากในครึ่งปีแรกนี้ มาจากการส่งออกไปตลาดญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น 6-7% เนื่องจากญี่ปุ่นต้องการเนื้อไก่ที่มีคุณภาพจากไทยมากขึ้น มีการส่งออกไปตลาดสหภาพยุโรป (อียู) เพิ่มขึ้นในครึ่งปีแรกนี้ 13.7% เพิ่มขึ้นมากเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีที่ผ่านมาไทยส่งออกไปตลาดอียูติดลบ และตลาดอื่น ๆ อาทิ เกาหลีใต้ สิงคโปร์ จีน

ไทยส่งออกไก่เนื้อเพิ่มขึ้น 12.5% ทั้งนี้ การส่งออกไปจีนในไตรมาส 2 ส่งออกไปประมาณ 3,000 ตัน ยังส่งออกได้น้อยเพราะมีการส่งออกไปจีนได้ 4 โรงงานจากที่จีนไฟเขียวลอตแรกให้ส่งเข้าไปได้ 7 โรงงาน

“ค่าเงินบาทที่อ่อนตัวลงในช่วงไตรมาส 2 ก็มีส่วนทำให้ราคาไก่เนื้อในประเทศดีขึ้น แต่ขณะนี้ค่าเงินเยนเริ่มอ่อนค่าลงจากช่วงครึ่งปีแรกที่ 107-108 เยนต่อเหรียญสหรัฐ เป็น 109-111 เยนต่อเหรียญสหรัฐ ส่งผลกระทบต่อราคาส่งออกไก่ของไทยเล็กน้อย แต่ภาพโดยรวมราคาส่งออกไก่ไทยค่อนข้างทรงตัวมาตั้งแต่ต้นปี 2561 อาทิ เนื้อน่องไก่ ส่งออกไปตลาดญี่ปุ่นเฉลี่ยตันละ 2,800-2,900 เหรียญสหรัฐ ต่ำกว่าช่วงพีกสุดในปีที่ผ่านมาที่ขึ้นไปถึงตันละ 3,300-3,500 เหรียญสหรัฐ”

นายคึกฤทธิ์กล่าวต่อว่า สำหรับสถานการณ์ไก่เนื้อในประเทศเริ่มดีขึ้นในช่วง 1-2 เดือนนี้ ซึ่งปี 2560 ราคารับซื้อไก่เนื้อมีชีวิตหน้าโรงงานชำแหละอยู่ที่ กก.ละ 36-37 บาท แต่ในเดือนตุลาคม 2560 เป็นต้นมาราคาสุกรมีชีวิตเริ่มตกต่ำลงไปเหลือ กก.ละ 40 กว่าบาท ทำให้ราคาไก่เนื้อที่บริโภคทดแทนกันได้ตกต่ำลงไปด้วยเหลือเพียง กก.ละ 28-29 บาท เฉลี่ยแล้วประมาณ กก.ละ 30-31 บาท ขณะที่มีต้นทุนการผลิต กก.ละ 33-34 บาท เกษตรกรจึงขาดทุนกันมาก แต่ในช่วงนี้ราคาสุกรมีชีวิตปรับตัวสูงขึ้น กก.ละ 60 กว่าบาท


ตามราคาสุกรเวียดนามที่ปรับตัวขึ้น กก.ละ 70 กว่าบาท ทำให้กัมพูชาหันมานำเข้าสุกรจากไทย ราคาสุกรไทยจึงขยับขึ้น และทำให้ราคารับซื้อไก่หน้าโรงชำแหละปรับตัวขึ้นเป็น กก.ละ 34-35 บาท แต่ต้นทุนการผลิตของไทยยังไม่นิ่งเพราะราคากากถั่วเหลืองเมื่อวันที่ 7 สิงหาคมที่ผ่านมาปรับขึ้นมาเป็น กก.ละ 17.10 บาท เทียบกับต้นปีอยู่ที่ กก.ละ 16.30 บาท การเกิดสงครามการค้าสหรัฐอเมริกา-จีน จีนตั้งกำแพงภาษีนำเข้าถั่วเหลืองและกากถั่วเหลืองจากสหรัฐจะทำให้สหรัฐดัมพ์ราคากากถั่วเหลืองต่ำลง ต้องจับตาดูต่อไปว่าจะเกิดขึ้นหรือไม่