ส.อ.ท. เผยดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมแตะ 93.2 กำลังซื้อเกษตรกรดีขึ้น

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยถึงผลการสำรวจความเชื่อมั่นผู้ประกอบการเดือน ก.ค.2561 ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม อยู่ที่ระดับ 93.2 เพิ่มขึ้นจากระดับ 91.7 ในเดือน มิ.ย. สูงสุดในรอบ 62 เดือน เป็นผลมาจากกำลังซื้อของภาคเกษตรดีขึ้น และยังเริ่มเห็นสัญญาณของผู้ประกอบการรายย่อยดี ส่งผลให้มีการกลับมาซื้อสินค้าคงทนอย่างเครื่องจักรการเกษตร รถยนต์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า บวกกับการค้าชายแดนที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ค่าเงินบาทไทยอ่อนค่าลงและค่อนข้างนิ่งซึ่งยังคงอ่อนไม่เท่ากับประเทศเพื่อนบ้าน

คาดการณ์ว่าดัชนีความเชื่อมั่น 3เ ดือนข้างหน้าจะอยู่ที่ระดับ 104.5 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 102.7 ในเดือน มิ.ย. ปัจจัยมาจากคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นเพื่อส่งมอบในช่วงปลายปี ขณะที่เศรษฐกิจทั้งในและนอกประเทศมีสัญญาณดีขึ้น

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่ยังคงส่งผลกระทบต่อการดำเนินกิจการ คือ 1.ผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังกังวลเพิ่มขึ้น 2.ผลกระทบจากราคาน้ำมันที่ยังคงเพิ่มขึ้น 3.ผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนมุมมองของผู้ส่งออก(บาท/ดอลล่าร์) มีความกังวลลดลง 4.ผลกระทบจากการเมืองในประเทศที่ยังกังวลเพิ่มขึ้น 5.ผลกระทบจากอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ยังกังวลเพิ่มขึ้น

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยตัวเลขประมาณการการผลิตรถยนต์ของสมาชิกกลุ่มฯ ในปี พ.ศ.2561 ซึ่งปรับใหม่ในเดือน ก.ค. 2561 โดยแยกเป็นการผลิตเพื่อการส่งออก และการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ ดังนี้

รถยนต์ได้ปรับเป้าการผลิตปี 2561 จากเดิมตั้งไว้ที่ 2,000,000 คัน เป็น 2,080,000 คัน จากปี 2560 ที่ผลิตได้ 1,988,823 คัน ซึ่งจะเพิ่มขึ้น 4.58% ยอดผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ ปรับเป้าจาก 900,000 คัน เป็น 980,000 คัน เท่ากับ 47.12% ของยอดผลิตทั้งหมด เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วที่ผลิตได้ 862,391 คัน หรือเพิ่มขึ้น 13.64%

ขณะที่ยอดผลิตเพื่อส่งออก คงเป้าเดิมไว้ที่ 1,100,000 คัน เท่ากับ 52.88% ของยอดผลิตทั้งหมด ลดลงจากปีที่แล้วที่ผลิตได้ 1,126,432 คัน หรือลดลง 2.35 %

ซึ่งเป้ายอดขายในประเทศเพิ่มขึ้นนั้น เป็นไปตามเศรษฐกิจที่เติบโตขึ้นจากการลงทุนของภาครัฐ การช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย การท่องเที่ยวที่เติบโตขึ้น ดัชนีรายได้เกษตรกรดีขึ้น รวมทั้งการลงทุนภาคเอกชนเพิ่มขึ้น การแนะนำรถยนต์รุ่นใหม่ที่มีต่อเนื่อง และความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรมดีขึ้น

ส่วนการส่งออกคงเป้าเดิม เพราะยังกังวลสงครามการค้าที่อาจขยายตัวขึ้น ค่าเงินสกุลต่างๆ ผันผวนซึ่งอาจฉุดการค้าโลกและเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงได้ ราคาน้ำมันดิบผันผวนและกระแสเงินไหลออกจากประเทศเกิดใหม่ จากการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด