กรมปศุสัตว์เตือน”อหิวาต์แอฟริกา”สุกรกำลังระบาดจีน ย้ำด่านกักกันสัตว์เข้ม พร้อมรับมือ

นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า องค์การสุขภาพสัตว์โลก รายงานว่าเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม สาธารณรัฐประชาชนจีนพบการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร ที่เมืองเสิ่นหยาง มณฑลเหลียวหนิง ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนใต้ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือของสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยมีทิศเหนือติดกับมองโกเลียและ ทิศตะวันออกเฉียงใต้ติดกับประเทศเกาหลีเหนือ จากข้อมูลการระบาดครั้งนี้ พบมีสุกรตายเฉียบพลัน 47 ตัวจากสุกรทั้งหมด 8,116 ตัว คิดเป็นอัตราตายร้อยละ 0.58 ในฟาร์มสุกร 1 ฟาร์ม เมื่อส่งตัวอย่างยืนยันทางห้องปฏิบัติการที่ China Animal Health and Epidemiology Center, National Research center for exotic animal diseases พบว่าให้ผลบวกต่อโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร และภายหลังทราบผลทางสาธารณรัฐประชาชนจีนได้ดำเนินการควบคุมโรคตามแผนเตรียมความพร้อมและ แผนเผชิญเหตุฉุกเฉินเมื่อมีการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรร โดยการทำลายและฝังสุกรร่วมฝูงทั้งหมด ทำลาย ซากสัตว์หรือเครื่องใน ควบคุมการเคลื่อนย้าย ค้นหาและเฝ้าระวังโรคในสุกรที่เลี้ยงและสุกรป่าในพื้นที่ ส่วนการสอบสวนหาสาเหตุของโรค ยังไม่สามารถสรุปได้อยู่ระหว่างดำเนินการ

นายสัตวแพทย์สรวิศกล่าวว่า โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรเป็นโรคติดเชื้อไวรัสที่ติดต่อร้ายแรงในสัตว์ตระกูลสุกรซึ่งมีสุกรป่าเป็นแหล่งรังโรคและมีเห็บอ่อนเป็นพาหะนำโรค โรคนี้เป็นโรคประจำถิ่นในอนุภูมิภาคซาฮาราของทวีปแอฟริกา ประเทศซาดิเนียของทวีปยุโรป ต่อมาพบการระบาดของโรคในประเทศจอร์เจีย ประเทศอาเซอร์ไบจัน ประเทศอาร์เมเนีย สหพันธรัฐรัสเซียและล่าสุดที่สาธารณรัฐประชาชนจีน

โดยโรคนี้เป็นโรคสัตว์แปลกถิ่นสำหรับประเทศไทยรวมทั้งประเทศในภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้ ถึงแม้ว่าโรคนี้จะไม่ใช่โรคติดต่อระหว่างสัตว์และคน แต่ก็ถือว่าเป็นโรคที่สามารถส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกรสูง เนื่องจากหากมีการระบาดของโรคนี้ในประเทศแล้วจะกำจัดโรคได้ยาก เพราะในปัจจุบันนี้ยังไม่มีวัคซีนในการป้องกันโรค ในขณะที่เชื้อไวรัสที่ก่อโรค มีความทนทานต่อสิ่งแวดล้อมสูง สุกรที่หายป่วยแล้วจะเป็นพาหะของโรคได้ตลอดชีวิตและยิ่งกว่านั้นโรคนี้เป็นโรคที่มีความความรุนแรงมาก โดยทำให้สุกรที่ติดเชื้อมีการตายเฉียบพลันเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ สุกรที่ป่วยจะแสดงอาการคล้ายคลึงกับโรคอหิวาต์สุกรและพีอาร์อาร์เอส คือ มีไข้สูง เบื่ออาหาร ท้องเสีย และแท้งในแม่สุกร

โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรสามารถติดต่อได้จากการที่สุกรสัมผัสโดยตรงกับสิ่งคัดหลั่งของสุกรป่วย การหายใจเอาเชื้อเข้าไป การกินอาหารที่มีเชื้อปนเปื้อน รวมทั้งโดนเห็บที่มีเชื้อกัด เป็นต้น ทั้งนี้จากผลการสอบสวนโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรในสหพันธ์รัสเซีย พบว่ามีสาเหตุจากการปนเปื้อนเชื้อไวรัสในไส้กรอกและซาลามีซึ่งบริโภคแบบไม่ปรุงสุก ที่คนบริโภคไม่หมดแล้วนำไปเลี้ยงสุกร

อธิบดีกรมปศุสัตว์กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการพบการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรในสาธารณรัฐประชาชนจีน ทำให้ภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้รวมทั้งประเทศไทยมีความเสี่ยงต่อโรคนี้ได้เช่นกัน เนื่องจากมีการเคลื่อนย้ายสัตว์-ซากสัตว์ภายในภูมิภาค รวมถึงมีโอกาสที่เชื้อจะปนเปื้อนกับคนและอาหารที่เป็นผลิตภัณฑ์จากสุกรที่ไม่ผ่านการปรุงสุกเพื่อการบริโภค

อย่างไรก็ตาม โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรเป็นโรคตามพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ (เพิ่มเติม) พ.ศ. 2558 กรมปศุสัตว์ได้สั่งการให้ด่านกักกันสัตว์ระหว่างประเทศเข้มงวดระดับสูงสุดเกี่ยวกับมาตรการควบคุมเคลื่อนย้ายสุกรและซาก รวมทั้งการปนเปื้อนของยานพาหนะตามแนวชายแดนที่มีความเสี่ยง เพื่อเป็นการป้องกันโรคเข้าประเทศ และขอยืนยันว่าขณะนี้ยังไม่มีการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกา ในสุกรในประเทศไทย

นอกจากนี้ กรมปศุสัตว์ได้เตรียมความพร้อมในการเฝ้าระวังโรคระดับสูงสุด เพื่อรับมือกรณีเกิดโรคดังกล่าว โดยให้ห้องปฏิบัติการสามารถตรวจวินิจฉัยโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรได้ รวมทั้งมีการประชุมหารือกับนักวิชาการ มหาวิทยาลัย ผู้แทนเกษตรกร ผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกร เป็นการบูรณาการทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อจัดทำแนวปฏิบัติใช้เป็นแผนเตรียมความพร้อมรับมือฉุกเฉินกรณีเกิดการระบาดของโรคอีกด้วย

อธิบดีกรมปศุสัตว์กล่าวว่า ขอความร่วมมือเกษตรกรให้ยกระดับการเลี้ยงสุกรให้มีระบบการป้องกันโรคที่ดีตามมาตรฐาน GAP และหากเป็นรายย่อยให้ใช้มาตรฐานการป้องกันและการเลี้ยงสัตว์ที่เหมาะสม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การตรวจสอบแหล่งที่มาของสุกรก่อนเข้าฟาร์ม ร่วมกับการจัดการด้านระบบความปลอดภัยทางชีวภาพ ซึ่งจะช่วยป้องกันการนำโรคเข้าสู่ฟาร์มได้ นอกจากนี้ ให้สังเกตอาการสุกรอย่างใกล้ชิด หากพบสุกรแสดงอาการป่วย เช่น มีไข้สูง เบื่ออาหาร ผิวหนังเป็นปื้นแดงและต่อมาเป็นสีเขียวคล้ำ พบภาวะแท้งในแม่สุกรและมีจำนวนสุกรตายผิดปกติให้แจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ในพื้นที่ทันที หรือ call center 063-225-6888 หรือที่แอปพลิเคชัน DLD 4.0 “แจ้งการเกิดโรคระบาด” เพื่อจะได้เร่งดำเนินการช่วยเหลือต่อไป ซึ่งท่านสามารถดาวน์โหลด แอปพลิเคชัน DLD 4.0 ได้

 

ที่มา มติชนออนไลน์