ก.อุตสาหกรรม เตรียมผลักดัน “ออยปาล์มซิตี้” เข้าครม.พรุ่งนี้ ดันเมืองยางพาราพื้นที่ภาคใต้ให้เป็นรูปธรรม

นายสมชาย หาญหิรัญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากการหารือกับส่วนราชการ และภาคเอกชนในพื้นที่ภาคใต้ฝั่งอ่าวไทยและฝั่งอันดามัน ก็ได้ข้อสรุปตามข้อเสนอของภาคเอกชนพื้นที่ภาคใต้ 3 ประเด็น เพื่อตอบสนองตามแนวทางการพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรมแปรรูปครบวงจร คือ 1.การจัดตั้งออยปาล์มซิตี้ (Oil palm City) เพื่อเป็นการควบคุมคุณภาพของปาล์ม เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสู่การพัฒนาอุตสาหกรรม 4.0 โดยภาคเอกชนในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้นำเสนอโครงการศูนย์เรียนรู้และส่งเสริม “นวัตกรรมปาล์มน้ำมัน” เพื่อสนับสนุนโครงการ “สุราษฎ์ธานี ออยปาล์มซิตี้” โดยศูนย์ดังกล่าวจะให้บริการด้านปาล์มน้ำมันอย่างครบวงจร เป็นศูนย์รวบรวมข้อมูล (Big Data) องค์ความรู้ งานวิจัย นวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับปาล์มน้ำมัน เป็นศูนย์พยาการณ์อนาคตอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมัน สนับสนุนการเกิดธุรกิจรายใหม่ และเชื่อมโยงกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับปาล์มน้ำมัน ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรม จะดำเนินการร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยในพื้นที่ภาคใต้ และภาคเอกชน ในการพัฒนาโครงการให้เกิดขึ้นโดยเร็วที่สุด

2.เมืองนวัตกรรมและการออกแบบไม้ยางพาราเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม และการจัดการมาตรฐานการจัดการป่าไม้ยั่งยืน และรองรับ Industry 4.0 ยกระดับมาตรฐานไม้ยางพาราให้ได้มาตรฐานการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน (FSC) ส่งเสริมการวิจัยเพื่อเพิ่มมูลค่าอุตสาหกรรมยางพารา ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมมีศูนย์ปฎิรูปอุตสาหรรมเชิงสร้างสรรค์ (ITC) ที่จ.สุราษฎ์ธานี เป็นหน่วยงานกลางเชื่อมโยงหน่วยงานเครือข่ายในการบูรณาการบริการด้านการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อให้เอาเอ็มอีสามารถยกระดับเพิ่มมูลค่าให้แก่ผลิตภัณฑ์ ซึ่งคาดว่าจะสามารถใช้พื้นที่จัดตั้งโครงการจะตั้งอยู่ที่อ.กันตัง จ.ตรัง ขนาดพื้นที่กว่าพันไร่ และ 3.การส่งเสริมและพัฒนางานวิจัย (R&D) ทางด้านสมุนไพร ได้กำหนดพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นจังหวัดที่มีเครือข่ายสมุนไพรที่เข้มแข็ง ซึ่งปัจจุบันนี้มีโรงงานต้นแบบ คือ วิสาหกิจชุมชนขมิ้นชันปลอดสารพิษ (บ้านตาขุน) ซึ่งกลุ่มเครือข่ายสมุนไพรจังหวัดสุราษฎร์มีความต้องการใช้โรงงานต้นแบบแปรรูปสมุนไพรนี้ ผลิตอาหารให้ได้มาตรฐาน อย. และมาตรฐานผลิตภัณฑ์ (GMP) ด้านอาหาร จึงได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมลงพื้นที่ช่วยเหลือและขยายโรงงานต้นแบบในพื้นที่อื่นๆ เพื่อให้สอดคล้องเป้าหมายการเป็นเมืองแห่งสมุนไพรเอเชีย

ทั้งนี้ข้อเสนอของภาคเอกชนในพื้นที่ภาคใต้ทั้ง 3 ประเด็นนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมจะนำเสนอในการประชุมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมกลุ่มจังหวัดภาคใต้ และการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 6/2561 วันที่ 21 สิงหาคม 2561ให้พิจารณาในการดำเนินการต่อไป

ส่วนโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ (Southern Economic Corridor : SEC) สู่การเป็นเมืองนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์บนพื้นฐานเศรษฐกิจเกษตรชีวภาพ เพิ่มมูลค่าสินค้าและการบริการ เพื่อสร้างความเข้มแข็งด้านเศรษฐกิจของภาคใต้สู่การแข่งขันตลาดโลก ซึ่งในพื้นที่ภาคใต้ได้กำหนดทิศทางการพัฒนาเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป (ปาล์มน้ำมัน ยางพารา ไม้ยางพารา) แห่งใหม่ของประเทศ และพัฒนาสินค้าเกษตรหลักของภาค รวมทั้งเชื่อมโยงการพัฒนาและนิคมอุตสาหกรรมยางพารา เมืองไม้ยาง ให้เป็นฐานเศรษฐกิจที่สร้างรายได้อย่างยั่งยืน พัฒนาเขตอุตสาหกรรม นับเป็นโครงการขนาดใหญ่ในพื้นที่ภาคใต้ และข้อเสนอทั้ง 3 ข้อของภาคเอกชน ก็จะอยู่ภายในโครงการนี้ด้วย จึงต้องศึกษาให้รอบด้าน เพื่อให้เกิดเป็นโครงการเช่นเดียวกับระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC)

นอกจากนี้ ในช่วงบ่าย นายสมชาย ได้ลงพื้นที่บริษัท ซีเฟรชอินดัชตรี จำกัด (มหาชน) อ.เมืองชุมพร จ.ชุมพร ผู้ผลิตและจำหน่ายอาหารทะเลแช่แข็ง บริษัท สันติภาพ (ฮั้วเพ้ง 1985) จำกัด อ.เมืองชุมพร จ.ชุมพร ผู้ผลิตผลไม้กระป๋อง ซึ่งทั้ง 2 บริษัทมีความต้องการให้กระทรวงอุตสาหกรรมช่วยเหลือในด้านเทคโนโลยีการแปรรูป จึงได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการช่วยเหลือและให้คำปรึกษากับบริษัทในการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิต


ด้านสหกรณ์นิคมท่าแซะ จำกัด และบริษัทวิจิตรภัณฑ์ ปาล์มออยส์ จำกัด (มหาชน) เป็นโรงงานที่ตรงกับแนวทางการจัดตั้งปาล์มออยซิตี้ ซึ่งการลงพื้นที่ในครั้งนี้ นายสมชายกล่าวว่า จะสรุปปัญหาและความต้องการของภาคเอกชน เพื่อเป็นแนวทางในการจัดตั้งปาล์มออยซิตี้ให้เป็นรูปธรรมในพื้นที่ภาคใต้