น้ำตาลล้น! โลกกดราคาเหลือ11-12เซนต์ต่อปอนด์ ขอรัฐส่งเสริมอ้อยสู่พลังงานทดแทน

โรงงานน้ำตาลทราย เร่งจัดการสต็อกน้ำตาลในคลังสินค้า เตรียมพร้อมรับผลผลิตอ้อยหีบฤดูการผลิตปี 2561/62 หลังคาดการณ์ปริมาณผลผลิตน้ำตาลจะสูงใกล้เคียงกับปีก่อน วอนรัฐเร่งส่งเสริมการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มาจากผลพลอยได้จากกระบวนการผลิตให้มากขึ้น พร้อมสนับสนุนอุตสาหกรรมน้ำตาลนำผลผลิตอ้อยต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์ชีวภาพเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ

นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี รองประธานคณะกรรมการบริหารบริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด (TSMC) เปิดเผยว่า ขณะนี้ผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลทรายอยู่ระหว่างบริหารจัดการสต๊อกน้ำตาลทรายที่จัดเก็บในคลังสินค้า จากรอบการหีบผลผลิตอ้อยประจำฤดูการผลิตปี 2560/61 ที่มีปริมาณการผลิตน้ำตาลทรายทั้งสิ้น 14.80 ล้านตัน จากปริมาณอ้อยเข้าหีบทั้งหมด 134.92 ล้านตันอ้อย

โดยในรอบ 6 เดือนแรกของปีนี้ (มกราคม-มิถุนายน 2561) ได้ส่งออกน้ำตาลทรายไปแล้วกว่า 6.5 ล้านตันน้ำตาล ซึ่งสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน และคาดว่าในช่วงที่เหลือของปีนี้โรงงานจะต้องส่งออกน้ำตาลทรายเฉลี่ย 1 ล้านตันน้ำตาลต่อเดือน เพื่อบริหารจัดการด้านต้นทุนให้มีประสิทธิภาพและเป็นการเตรียมรองรับปริมาณการผลิตปี 2561/62 ที่คาดว่าจะสูงใกล้เคียงกับปีก่อน

ทั้งนี้ จากสถานการณ์ปริมาณผลผลิตน้ำตาลทรายของโลกที่ยังคงอยู่ในระดับสูง เป็นผลให้ราคาเฉลี่ยน้ำตาลทรายในตลาดโลกอยู่ในเกณฑ์ต่ำที่ประมาณ 11-12 เซนต์ต่อปอนด์ และเมื่อนำมาคำนวณเป็นราคาอ้อยขั้นต้นของฤดูการผลิตปี 2561/62 คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 700-750 บาทต่อตันอ้อย ซึ่งส่งผลกระทบต่อชาวไร่และภาพรวมอุตสาหกรรมในระยะยาว ดังนั้น เพื่อเป็นการสร้างความเข้มแข็งได้อย่างยั่งยืน ภาครัฐควรส่งเสริมให้ผู้ประกอบการโรงงานสร้างมูลค่าเพิ่มโดยนำผลพลอยได้จากกระบวนผลิตไปสร้างมูลค่าเพิ่มอื่นๆ เช่น การนำกากน้ำตาล/น้ำอ้อยไปผลิตเป็นเอทานอล หรือนำอ้อย/ชานอ้อยไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ชีวภาพที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

นอกจากนี้ ภาครัฐควรมีนโยบายส่งเสริมให้ประชาชนหันมาใช้ผลิตภัณฑ์ที่ช่วยลดการทำลายสิ่งแวดล้อม เช่น ส่งเสริมให้ใช้น้ำมันเชื้อเพลิง E20 หรือ E85 ที่จะช่วยเพิ่มความต้องการใช้เอทานอล เพื่อทดแทนการนำเข้าน้ำมัน หรือลดการใช้ถุงพลาสติกแบบเดิมๆ แล้วหันมาใช้ไบโอพลาสติกที่มีส่วนผสมของวัสดุจากธรรมชาติที่สามารถย่อยสลายได้ เพื่อกระตุ้นให้เกิดความต้องการใช้สินค้าเพิ่มขึ้น ทำให้เอกชนมองเห็นความคุ้มค่าในการลงทุนพัฒนาสินค้าชีวภาพในประเทศไทยเพิ่มขึ้น

“เรามองว่าในระยะยาวการนำผลผลิตอ้อยมาผลิตน้ำตาลทรายเพียงอย่างเดียวนั้นไม่เพียงพอ เพราะปีไหนที่มีปริมาณผลผลิตน้ำตาลทรายจำนวนมาก ก็จะกดดันราคาน้ำตาลในตลาดโลกตกต่ำ ดังนั้น ภาครัฐควรส่งเสริมให้ภาคเอกชนสามารถลงทุนพัฒนาการนำผลพลอยได้จากกระบวนการผลิตไปต่อยอดผลิตภัณฑ์ชีวภาพเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม และยังเป็นการบริหารปริมาณการผลิตน้ำตาลให้เหมาะสมกับภาวะตลาดโลก รวมถึงเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนสามารถนำผลผลิตอ้อยไปสร้างมูลค่าเพิ่มจากการผลิตสินค้าตัวอื่นๆ เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่อุตสาหกรรมได้ดีกว่าการนำไปผลิตเป็นน้ำตาลทรายเพียงอย่างเดียว


นอกจากนี้ การใช้วัตถุดิบจากอ้อยหรือผลผลิตทางการเกษตรอื่นๆ ในประเทศ เพื่อผลิตเป็นพลังงานทดแทน และสร้างมูลค่า ย่อมส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม แทนที่จะต้องพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันฟอสซิล ซึ่งต้องซื้อและสูญเสียเงินตราต่างประเทศ โดยไม่ก่อให้เกิดการนำเงินมาหมุนเวียนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจในประเทศแต่อย่างใด”