ยานี ศรีมีชัย “ไทย” ลงทุน “ลาว” 4,494 ล้านเหรียญ

เป็นเวลาเกือบ 1 เดือนหลังจากเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันที่เขื่อนดินย่อยซึ่งเป็นส่วนสำคัญของโครงการโรงไฟฟ้าเซเปียน-เซน้ำน้อย เกิดการทรุดตัวจนแตกสร้างความเสียหายอย่างมาก ทำให้หลายฝ่ายจับจ้องถึงแนวทางการส่งเสริมความสัมพันธ์ด้านการค้า-การลงทุนในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว(สปป.ลาว) ว่าจะเป็นไปในทิศทางใด ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัจจุบันอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ สปป.ลาวเติบโตต่อเนื่อง ทั้งยังเดินหน้าพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อผลักดันให้ประเทศก้าวสู่ “การเป็นแบตเตอรี่ของเอเชีย” โดยเปิดกว้างให้กับนักลงทุนต่างชาติอย่างมาก

“ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสสัมภาษณ์ “นางสาวยานี ศรีมีชัย” ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงเวียงจันทน์ สปป.ลาว ถึงโอกาสการลงทุนนโยบายแบตเตอรี่ของเอเชียด้วยความที่ สปป.ลาวยังมีทรัพยากรทางธรรมชาติอยู่เป็นจำนวนมาก ทั้งแหล่งพลังงานไฟฟ้าซึ่งมีอยู่ในหลายพื้นที่ที่จะสามารถผลิตไฟฟ้าได้ เช่น ในจำปาสัก คำม่วน เวียงจันทน์ ขณะที่แร่ธาตุก็ยังมีอีกหลากหลาย เช่น แร่ทองคำ แร่ทองแดง และแร่เหล็ก เป็นต้น ที่ยังสามารถนำออกมาพัฒนา ใช้ในระบบการค้า อุตสาหกรรมได้ ดังนั้น ทางรัฐบาลสปป.ลาวจึงมีนโยบาย Battery of Asia ภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่ 8 (2016-2020) ซึ่งในแผนนี้มีเป้าหมายจะขยายเครือข่ายไฟฟ้าทั่วทั้งประเทศให้ได้ 90%

นอกจากนี้ภายใต้แผนพัฒนาดังกล่าวยังต้องการพัฒนาประเทศให้ดีขึ้น เชื่อมต่อเครือข่ายทุกด้านจากหลาย ๆ ประเทศ จากเป็นประเทศ land locked เป็นประเทศ land link พร้อมกับแผนกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยการผลักดันการสร้างเขื่อนไฟฟ้า พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ส่งเสริมการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษทั้ง 12 แห่งผลักดันการลงทุนภาคกสิกรรม อุตสาหกรรมแปรรูป การศึกษา และโรงพยาบาลด้วย เพื่อให้เป้าหมายเดินหน้าไปได้ สปป.ลาวจึงเปิดกว้างให้นักลงทุนเข้ามาลงทุน

โดยมีกรมส่งเสริมและการลงทุน กระทรวงแผนการและการลงทุน แผนกแผนการ และการลงทุนแขวง ดูแลและอำนวยความสะดวกให้นักลงทุนที่สนใจ พร้อมให้คำปรึกษา ซึ่งไม่เพียงเรื่องการลงทุนเรื่องพลังงาน แต่รวมไปถึงการลงทุนด้านอื่น ๆ เช่น โครงสร้างพื้นฐาน สาธารณูปโภคภาคบริการ

การลงทุนใน สปป.ลาว

ประเทศที่เข้าไปลงทุนใน สปป.ลาว อันดับ 1 หนีไม่พ้นนักลงทุนจากจีน โดยจำนวนโครงการที่เข้าไปลงทุนตั้งแต่ปี 1988-2017 มีมากถึง 837 โครงการ มูลค่า 6,559 ล้านเหรียญสหรัฐ ไม่เพียงการลงทุนเท่านั้น แต่ด้านการท่องเที่ยวของ สปป.ลาวก็เติบโตอย่างมากจากนักท่องเที่ยวชาวจีนอีกด้วย ขณะที่การลงทุนของไทยนั้นอยู่อันดับที่ 2 มีอยู่ 752 โครงการ มูลค่า 4,494 ล้านเหรียญสหรัฐ อันดับที่ 3 เวียดนาม มี 418 โครงการ มูลค่า 3,418 ล้านเหรียญสหรัฐ รองลงมา คือ มาเลเซีย เกาหลีใต้ ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น และเนเธอร์แลนด์

โครงการที่ไทยเข้าไปลงทุนเริ่มตั้งแต่ปี 1990-2011 สัดส่วนของการลงทุนโครงการอุตสาหกรรมและหัตถกรรม คิดเป็น 26% กสิกรรม 18% การบริการ 14% การค้า 13% โรงงานเสื้อผ้า 7% โรงแรม ร้านอาหาร 6% ป่าไม้ 6% ก่อสร้าง 4% พลังงานไฟฟ้า 2% เหมืองแร่ 2% ที่ปรึกษา 2% โทรคมนาคม 0%

การลงทุนโรงไฟฟ้าของไทย

หากดูเฉพาะนักลงทุนไทยเข้าไปลงทุนเขื่อนผลิตไฟฟ้ามีไม่มาก เช่น โครงการเขื่อนน้ำเทินหินบูน เขื่อนน้ำยวง เขื่อนน้ำงึม เขื่อนน้ำลิก เขื่อนไซยะบูลี เขื่อนสาลี่ไบท์ เขื่อนตาดสะเลน เขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อย เป็นต้น หากเทียบจำนวนพื้นที่ที่ผลิตพลังงานได้ และเป้าหมายของรัฐบาล สปป.ลาว ที่ต้องการการลงทุนสร้างเขื่อนไฟฟ้ามีอยู่ 19 แหล่งผลิต ทั้งรูปแบบเขื่อนไฟฟ้า และเขื่อนถ่านหิน

นอกจากนี้มีการลงทุนด้านอื่นที่นักลงทุนสนใจเข้าไปลงทุน เช่น โครงสร้างพื้นฐาน สาธารณูปโภค การคมนาคม ซึ่งขณะนี้พัฒนาขึ้นไปอย่างรวดเร็ว ทั้งรถไฟฟ้าที่จีนเข้าไปลงทุน สนามบินญี่ปุ่นได้ไปสนับสนุนการก่อสร้าง ลงทุนร่วมกับ สปป.ลาว ส่วนนักลงทุนไทยปัจจุบันลงทุนด้านก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-สปป.ลาว เพื่อเชื่อมช่องทางการค้า การคมนาคมขนส่งให้ดีขึ้น ปัจจุบันมีถึง 6 แห่ง ได้แก่ หนองคาย-เวียงจันทน์ มุกดาหาร-สะหวันนะเขต นครพนม-คำม่วน เชียงราย-บ่อแก้ว บึงกาฬ-บอริคำไซ และอุบลราชธานี-สาละวัน

โอกาสและอุปสรรค

จุดแข็งของ สปป.ลาว คือ เรื่องของค่าแรงงานขั้นต่ำ 4,400 บาทต่อเดือน ยังต่ำมากหากเทียบกับประเทศอื่นในอาเซียน ทรัพยากรธรรมชาติยังอุดมสมบูรณ์อยู่มาก รัฐบาลส่งเสริมการลงทุน และยังได้สิทธิพิเศษทางการค้าจากสหรัฐ และ EU แต่ผู้ประกอบการและนักลงทุนยังต้องคำนึงถึง คือ เรื่องกฎระเบียบที่มีการปรับเปลี่ยนบ่อย และไม่ชัดเจน สินค้าถูกปลอมแปลงลอกเลียนแบบจากคู่แข่ง เช่น อะไหล่ ชิ้นส่วน และส่วนประกอบของรถยนต์ รถจักรยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า อาหาร เครื่องดื่ม และเครื่องอุปโภคบริโภคซึ่งอาจสร้างความสับสนให้ผู้บริโภคว่าสินค้าใดเป็นของจริง หรือของปลอม และระบบสาธารณูปโภคยังไม่ทั่วถึงและมีสภาพไม่สมบูรณ์และราคาก็ยังสูง เช่น น้ำประปา หรือแม้กระทั่งเรื่องของระบบสายส่งไฟฟ้าที่ยังไม่พร้อมเท่าไร สภาพพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาทำให้การขนส่งล่าช้า ซึ่งยังต้องปรับปรุงอีกมาก และต้องทำให้ครอบคลุม แรงงานมีจำกัด

แต่อย่างไรก็ดี สำหรับนักลงทุนไทย ผู้ประกอบการไทย หากจะไปแล้ว สิ่งที่ต้องเผชิญ คือ ภาวะการแข่งขันที่สูงจากผู้ประกอบการจีนและเวียดนาม ซึ่งเข้าไปลงทุนอย่างต่อเนื่อง

ประเด็นที่นักลงทุนต้องศึกษา

เงื่อนไขการเข้าไปดำเนินธุรกิจใน สปป.ลาว ปัจจุบันก็มีการปรับปรุงเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันมากขึ้น อาทิ ธุรกิจที่จะเข้าไปดำเนินธุรกิจต้องไม่อยู่ในบัญชีประเภทธุรกิจต้องห้ามทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นนักลงทุนลาว หรือต่างประเทศ ต้องไม่อยู่ในบัญชีประเภทสงวนไว้สำหรับพลเมืองลาว นักลงทุนต่างประเทศถือหุ้นไม่ได้เลย เช่น ขายปลีก-ส่ง ซื้อมาขายไป หรือบัญชีประเภทธุรกิจมีเงื่อนไขสำหรับนักลงทุนต่างประเทศ ซึ่งกำหนดให้ลงทุนได้ แต่มีเงื่อนไข ข้อจำกัดการถือหุ้น หรือทุนจดทะเบียนขั้นต่ำ เช่น ธุรกิจขนส่ง ซึ่งมีข้อกำหนดเรื่องทุนจดทะเบียนขั้นต่ำ และกรณีเป็นกิจการนอกบัญชีทั้งสาม โดยหลักคือต่างประเทศสามารถถือหุ้นได้ 100% และไม่มีข้อกำหนดทุนจดทะเบียนขั้นต่ำ

การค้าไทย-ลาว

ไทย-สปป.ลาววางเป้าหมายเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกันให้เพิ่มขึ้น 2 เท่าภายใน 5 ปี (2559-2564) เป็น 11,743 ล้านเหรียญสหรัฐ จากปี 2559 มีมูลค่ารวม 5,871 ล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับการส่งออกของ สปป.ลาว ไปตลาดโลกในช่วงครึ่งปีแรก 2561 มูลค่า 2,263 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 14.5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยสินค้าส่งออกสำคัญ เช่น ไฟฟ้า ทองแดง แร่ทองแดง สินค้าอุตสาหกรรม สินค้าเกษตร ส่วนการนำเข้า 2,749 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 24.2% สินค้านำเข้า เช่น น้ำมัน รถยนต์และชิ้นส่วนเครื่องกล เครื่องไฟฟ้า และเหล็ก

ส่วนการส่งออกไทยไป สปป.ลาว มีมูลค่า 2,164 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญ เช่น เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ปศุสัตว์ ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง เครื่องสำอาง สบู่ และผลิตภัณฑ์ น้ำมันสำเร็จรูป สินค้าที่ไทยนำเข้าจาก สปป.ลาวมีมูลค่า 1,294 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 28.36% สินค้านำเข้าสำคัญ เช่น สินแร่โลหะ เศษโลหะ เชื้อเพลิง ผัก ผลไม้ ลวดและสายเคเบิล เป็นต้น