บิ๊กส่งออกสบช่อง “จำนำยุ้งฉาง” เวียนขายสต๊อกข้าวฟันส่วนต่าง

วงการข้าวแฉ “บิ๊กผู้ส่งออกข้าวโรงสีภาคกลาง” วางแผนจับเสือมือเปล่า อาศัยช่องโหว่โครงการจำนำยุ้งฉาง เตรียมฮุบสต๊อกข้าวเปลือกหอมมะลิ 2 ล้านตัน ฟันส่วนต่างราคาหอมมะลิ-หอมจังหวัดตันละ 2,000 บาท ครองตลาด-ตัดราคาคู่แข่ง หวั่นงบฯรัฐ 3,000 ล้านบาทไม่ถึงมือชาวนา

แหล่งข่าวจากวงการค้าข้าวเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เมื่อวันที่ 22 สิงหาคมที่ผ่านมา มีการประชุมร่วมกันระหว่างสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย และตัวแทนโรงสีภาคอีสาน เพื่อหารือถึงแนวทางป้องกันปัญหาจากการที่มีผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ในประเทศร่วมมือกับข้าราชการบางหน่วยงาน และสหกรณ์บางแห่งเตรียมใช้ช่องโหว่ของโครงการจำนำยุ้งฉาง ปี 2561/2562 หรือเรียก “โมเดลชะลอการขาย” เพื่อดูดซัพพลายข้าวเปลือกหอมมะลิ จากภาคตะวันออกเฉียงเหนือเข้าไปถือครองไว้รายเดียว และนำข้าวเปลือกหอมจังหวัด (ข้าวหอมมะลิที่ปลูกในภาคกลาง) ซึ่งมีราคาถูกกว่ามาสวมสิทธิ์แทน โดยข้าวทั้ง 2 ชนิดมีส่วนต่างราคาตันละ 2,000 บาทหากดำเนินการสำเร็จจะทำให้ผู้ส่งออกรายนี้มีปริมาณสต๊อกข้าวหอมมะลิ 1 ใน 4 ของผลผลิตของทั้งประเทศ สามารถผูกขาดและกำหนดราคาส่งออก ทุบราคาผู้ส่งออกรายอื่นได้ ซึ่งอาจส่งผลกระทบให้ราคาข้าวเปลือกหอมมะลิในฤดูกาลนี้ปรับตัวลดลง และชาวนาจะได้รับความเสียหาย

โมเดลนี้เกิดจากการอาศัยช่องโหว่ของโครงการจำนำยุ้งฉาง ที่เดิมรัฐบาลดำเนินการมาหลายปีแล้ว กำหนดให้ชาวนานำข้าวเปลือกหอมมะลิมาเข้าร่วมโครงการ และจะได้รับเงินค่าข้าวตันละ 11,800 บาท ค่าปรับปรุงคุณภาพข้าว และค่าขึ้นยุ้งตันละ 1,500 บาท ซึ่งแต่ละปีรัฐกำหนดเป้าหมายปีละ 2 ล้านตัน

จากผลผลิตข้าวหอมมะลิเฉลี่ยปีละ 7-8 ล้านตัน แต่เกษตรกรเข้าร่วมจำนวนน้อยเพราะไม่มียุ้งฉาง ปีที่ผ่านมาจึงมีสหกรณ์แห่งหนึ่งในภาคอีสาน พัฒนารูปแบบโดยเช่าคลังโรงสีฝากเก็บข้าวแทนยุ้งฉางโดยโรงสีจะจ่ายค่ารวบรวมข้าวให้สหกรณ์ตันละ 200 บาท จึงเริ่มมีผู้เข้าร่วมประมาณ 10,000-20,000 ตัน

ล่าสุด ผู้ส่งออกข้าวรายนี้เห็นช่องทางจึงดำเนินการผ่านโครงการบริหารจัดการข้าว ปี 2561/2562 โดยมีสหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้า ธ.ก.ส. (สกต.) ทั่วประเทศเข้าร่วม รับจำนำข้าว

จากเกษตรกรที่ไม่มียุ้งฉาง และส่งมอบเข้าคลังของโรงสีในเครือข่ายของผู้ส่งออกรายนี้เพื่อนำมาปรับปรุง ซึ่งโรงสีจะจ่ายให้ สกต.เป็นค่ารวบรวมข้าวตันละ 200 บาท และ สกต.จะได้เงินค่าขึ้นยุ้งจากรัฐบาลตันละ 1,500 บาท แทนเกษตรกร และจะดึงเงินส่วนนี้เก็บไว้ 1,000 บาท และแบ่งให้เกษตรกรที่ไม่มียุ้งแต่อยากเข้ามาใช้สิทธิ์ตามโครงการ 500 บาท โดย สกต.จะจ่ายค่าเช่าคลังให้โรงสีเป็นเวลา 6 เดือน เดือนละ 200 บาทต่อตัน ซึ่งมีเงื่อนไขว่าโรงสีรับรองจะซื้อข้าวที่เก็บไว้คืนเมื่อ สกต.ต้องการขาย เมื่อนำข้าวเปลือกนั้นมาสีแปรจะแบ่งอัตรากำไรกัน ทั้งนี้ ในโครงการไม่กำหนดเงื่อนไขขอบเขตการซื้อข้าว หมายความว่า สกต.จากภาคกลางสามารถที่จะไปตั้งจุดรับซื้อข้าวเปลือกหอมมะลิในภาคอีสาน แล้วขนส่งมาสีที่ภาคกลางได้

แหล่งข่าวกล่าวว่า ความเสียหายที่จะเกิดขึ้น คือ 1) รัฐบาลจะต้องเสียเงินค่าขึ้นยุ้งฉางตันละ 1,500 บาท จำนวน 2 ล้านตัน รวม 3,000 ล้านบาท แต่ไม่ได้เป็นการช่วยเหลือเกษตรกรโดยแท้จริง เพราะเงินนี้ก็ถูกหักค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ และเกษตรกรได้แค่ตันละ 500 บาท 2) ผู้ส่งออกรายนี้สามารถดึงข้าวจากโรงสีไปใช้ โดยไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกันในการนำข้าวไป ซึ่งแย่กว่าโครงการรับจำนำในอดีตที่จะมีข้อกำหนดว่า โรงสีที่จะเข้าร่วมโครงการต้องวางหลักทรัพย์ค้ำประกัน100% ของมูลค่าข้าว และห้ามขนย้ายข้าวข้ามเขตจากภาคอีสานไปสีที่ภาคกลาง เพราะมีความเสี่ยงที่ข้าวจะถูกสับเปลี่ยนตอนไถ่ถอน ทำให้อาจมีการนำข้าวหอมมะลิที่รับจำนำมาในราคาแพงไปส่งออกและนำข้าวหอมจังหวัดที่ปลูกในภาคกลางเข้ามาสวมสิทธิ์คืนหลวงแทน เมื่อสิ้นสุดโครงการ

ทั้งนี้ ไม่เพียงจะทำให้ผู้ส่งออกรายนี้ได้กำไรจากส่วนต่างตันละ 2,000 บาท คุ้มค่ากับการขนข้าวจากอีสานมาสีที่โรงสี จ.พิจิตร/ชัยนาทเท่านั้น เพราะกำไรต่อที่ 2 คือ ผู้ส่งออกรายนี้ยังสามารถไปขายออร์เดอร์ส่งออกล่วงหน้าโดยตัดราคาคู่แข่งรายอื่นได้ เช่น ถ้าราคาตลาด 950 เหรียญสหรัฐ/ตัน ก็ไปขาย 900 เหรียญสหรัฐ เพราะมีข้าวที่ต้นทุนคงที่อยู่ในสต๊อกแล้ว 3) ผลสุดท้ายผู้ส่งออกรายอื่นเสียหายตายหมด ส่งผลให้จำนวนผู้ประกอบการในตลาดลดลงก็เกิดการผูกขาดทางการค้า 4) ระดับราคาส่งออกในตลาดโลกเป็นเรื่องที่อ่อนไหวมาก เมื่อมีการตัดราคาขายต่ำ ๆ ก็จะเป็นการชี้นำให้ราคาตลาดลดลงไปอีก ซึ่งนั่นจะเป็นจังหวะพอดีที่ต้องไถ่ถอนข้าวจากโครงการยุ้งฉาง ทำให้ผู้ส่งออกราย

ดังกล่าวสามารถซื้อข้าวหอมจังหวัดราคาถูก ๆ ไปส่งคืนหลวง 5) ราคาข้าวทรุดลงทั้งระบบ เกษตรกรบางกลุ่มที่ยังมีข้าวเหลืออยู่ ก็จะได้รับความเสียหาย และ 6) เมื่อถึงเวลาไถ่ถอน สกต.ในฐานะผู้รับฝากเก็บข้าวก็ต้องรับผิดชอบ เมื่อข้าวที่ซื้อมาเป็นข้าวหอมจังหวัดไม่ใช่ข้าวหอมมะลิอย่างที่รับเก็บในตอนแรก ก็จะนำไปสู่การฟ้องร้อง สกต. ประเด็นนี้มีโอกาสเป็นไปได้สูงมาก เพราะจุดโหว่อีกอันคือ ตามระบบนี้ไม่ได้กำหนดให้มี “บริษัทผู้ตรวจสอบคุณภาพข้าว” หรือเซอร์เวเยอร์ เข้าไปตรวจสอบ เหมือนกับโครงการรับจำนำข้าวในอดีต

“วิธีการนี้คล้ายกับที่บริษัทส่งออกข้าวที่โด่งดังในอดีตที่เสี่ยเปี๋ยง บริษัท เพรซิเด้นท์ อะกริ เทรดดิ้ง ได้ทำการฮุบสต๊อกข้าวรัฐบาลมาครองไว้รายเดียว ส่งผลให้ผู้ส่งออกรายอื่นไม่สามารถแข่งขันได้ เป็นการจับเสือมือเปล่า ไม่มีการลงทุน แต่สร้างความเสียหายทั้งระบบ ต่อคำถามที่ว่าผู้ส่งออกรายอื่น-โรงสีรายอื่นต่างรู้ แต่เกรงว่าไม่สามารถยับยั้งได้ เพราะมีอำนาจเบื้องหลังผู้ส่งออก

รายนี้ ทางผู้ประกอบการจึงหารือกันว่าจะมีแนวทางอย่างไรเสนอต่อนายกรัฐมนตรีให้รับทราบ เพื่อให้กำหนดแนวทางป้องกันล่วงหน้า ก่อนที่โครงการนี้จะเริ่มขึ้นในอีก 2 เดือนข้างหน้า โดยการกำหนดเงื่อนไข 1) ให้โรงสีแต่ละพื้นที่เข้าร่วมเท่านั้น ห้ามไม่ให้มีการขนย้ายข้าวข้ามเขต เพื่อป้องกันการสวมสิทธิ์ และเพิ่มการแข่งขัน 2) โรงสีที่จะเข้าร่วมโครงการต้องวางหลักทรัพย์ 100% ของมูลค่าข้าว”