7เดือนส่งออก “กุ้ง-เครื่องใช้ไฟฟ้า” ตลาดสหรัฐเดี้ยง

สงครามการค้าพ่นพิษ “กุ้ง-เครื่องใช้ไฟฟ้า” ระส่ำหนัก “พาณิชย์” สั่งทูตพาณิชย์รายงานสถานการณ์ส่งออกสหรัฐลดลงครั้งแรกในรอบ 21 เดือน เตรียมหารือ คกก.ประชารัฐ D4 หาทางออกร่วมกัน ยืนเป้าส่งออกตลาดสหรัฐปี”61 ยังโต 7%

นางจันทิรา ยิมเรวัต วิวัฒน์รัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า ได้สั่งการให้ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (ทูตพาณิชย์) ประจำตลาดสหรัฐ ติดตามประเมินสาเหตุและผลกระทบจากสถานการณ์การส่งออกสินค้าไทยไปตลาดสหรัฐในเดือนกรกฎาคม 2561 ที่ปรับลดลง 1.9% เป็นครั้งแรกในรอบ 21 เดือน โดยสินค้าที่ส่งออกลดลง เช่น เหล็กลดลง 4.6% แผงโซลาร์เซลล์ลดลง 72% เครื่องซักผ้าลดลง 21.9% กุ้งลดลง 62% เครื่องใช้ไฟฟ้าลดลง 9.1% พร้อมทั้งเร่งหามาตรการช่วยเหลือเพื่อให้ภาพการส่งออกดีขึ้น

โดยหลังจากนี้จะหารือในที่ประชุมคณะสานพลังประชารัฐ D4 ซึ่งมีทั้งหน่วยงานภาครัฐ เอกชนที่เกี่ยวข้องในเร็ว ๆ นี้ เพื่อประเมินและพิจารณาทางแก้ไขปัญหาในตลาดนี้ และทบทวนภาพการส่งออก จากปัจจัยต่าง ๆ อีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม กรมยังคงเป้าหมายการส่งออกสหรัฐในปีนี้ว่าจะขยายตัว 7% เพราะตลาดสหรัฐเป็นตลาดส่งออกหลัก แม้ว่าบางสินค้าจะได้รับผลกระทบแต่ต้องพิจารณาในทุกมิติด้วย ซึ่งทางกรมยังมองว่าสงครามการค้ายังมีผลดี โดยเชื่อว่าสหรัฐ หรือจีนต้องหาตลาดทดแทนสินค้าที่ได้รับผลกระทบ พร้อมกับแหล่งลงทุนใหม่เพื่อให้การค้าขยายตัว แต่อาจต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง และในเดือนกันยายนนี้ จะมีการจัดงานแสดงสินค้าบางกอกเจมส์ ซึ่งได้รับรายงานจากทูตพาณิชย์ว่า ผู้นำเข้าสหรัฐมีความสนใจเข้าร่วมงาน นับเป็นโอกาสขยายตลาดส่งออกได้เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ก็ยังมีการแสดงสินค้าอีกหลากหลายที่จะกระตุ้นให้การส่งออกสหรัฐดีขึ้นได้

นางกนิษฐ เมืองกระจ่าง ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ และโทรคมนาคม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ภาพการส่งออกในกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ อาจจะได้รับผลกระทบจากปัญหาสงครามการค้าบ้าง แต่ยังไม่สามารถประเมินตัวเลขภาพรวม และสินค้าตัวไหนที่ได้รับผลกระทบมากสุด แต่เห็นชัดคงเป็นสินค้าเครื่องซักผ้า แผงโซลาร์เซลล์ที่ถูกมาตรการทางภาษีทำให้ราคาสินค้านำเข้าสูง ส่งผลกระทบมาตั้งแต่ต้นปี 2561

อย่างไรก็ดี ในเดือนกันยายน 2561 นี้ ภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องจะเรียกประชุมหารือเพื่อประเมินสถานการณ์ให้ชัดเจนก่อนที่จะร่วมกันหาทางออกต่อไป แต่ต้องยอมรับว่าภาพการส่งออกอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าในช่วงเดือนมิ.ย.-ส.ค.ของทุกปีจะชะลอตัวอยู่แล้ว เนื่องจากเป็นช่วงชะลอคำสั่งซื้อและการขนส่ง เป็นช่วงมรสุม ภาพคำสั่งซื้อจะดีในช่วงเทศกาล ทางผู้ส่งออกส่วนใหญ่ไม่ได้นิ่งนอนใจกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ต่างก็ได้ปรับกลยุทธ์ในการส่งออกลดต้นทุน หาตลาดอื่น ๆ ไว้รองรับ

ด้านการลงทุนขณะนี้เห็นภาพนักลงทุนเริ่มสนใจย้ายฐานการผลิตมาที่ประเทศไทย โดยเฉพาะนักลงทุนที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า โดยเฉพาะนักลงทุนจีนเริ่มมีความสนใจที่จะย้ายฐานการผลิตมาที่ไทย เห็นได้จากมีการประสานผู้ผลิตไทยเพื่อหาคู่ค้า หรือสอบถามไปยังสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ เพื่อสอบถามสิทธิพิเศษด้านการลงทุน โดยมองว่ากลุ่มที่จะมาง่ายคือ กลุ่มเทคโนโลยีขั้นต้นที่ไม่ซับซ้อน เช่น พัดลม หม้อหุ้งข้าว เครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดเล็ก ซึ่งภายใน 3 เดือนก็สามารถเข้ามาลงทุนได้ แต่หากเป็นเทคโนโลยีขั้นสูงที่มีความซับซ้อนมากก็อาจจะเข้ามาลงทุนในปี 2562 แต่นักลงทุนไม่ได้มองเพียงไทยประเทศเดียวยังมองเวียดนามด้วย

นายผณิศวร ชำนาญเวช นายกกิตติคุณ สมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย กล่าวว่า การส่งออกกุ้งไปสหรัฐที่ลดลงนั้นมีสาเหตุจากราคากุ้งถูกลงจนทำให้ผู้เลี้ยงไม่ลงลูกกุ้ง จึงมีปริมาณวัตถุดิบน้อยไม่เพียงพอต่อการส่งออก

“ตลาดส่งออกกุ้งตอนนี้อำนาจต่อรองราคาอยู่ที่ผู้บริโภคไม่ใช่ผู้ผลิต ผู้ส่งออก เป็นผลมาจากอินเดียเพิ่มการผลิต 6 แสนตัน ผู้ซื้อมีทางเลือกมากขึ้น กุ้งไทยถูกกดราคา ส่งผลให้ผู้เลี้ยงลดลง เหลือเฉพาะผู้ที่ทำตลาดจริงจังเท่านั้น จึงต้องการให้ภาครัฐดูแลผู้เลี้ยงให้เป็นระบบ เพื่อให้เกิดความเข้มแข็ง พร้อมทั้งผลักดันให้ผลิตสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่ม”